B (ชุดที่ 1) - BABINSKI

        เป็นชื่อที่แพทย์โดยเฉพาะประสาทแพทย์รู้จักดี  โจเซฟ บาบินสกี้ (Joseph Babinski) (ค.ศ. 1857-1932) เป็นศิษย์คนดังคนหนึ่งของ ฌอง-มาร์แตง ชาร์โก (Jean-Martin Charcot) ศาสตราจารย์ทางประสาทวิทยาคนแรกของฝรั่งเศสจากโรงพยาบาลซาลเปตริแอร์ (Salpetriere) ที่กรุงปารีส  บิดาและมารดาของบาบินสกี้อพยพมาจากประเทศโปแลนด์  โจเซฟมี
พี่ชายคนเดียวชื่อ 
อังรี (Henri) ซึ่งแก่กว่าโจเซฟสองปี เป็นวิศวกรเหมืองแร่แต่กลับมีชื่อเสียงมากทางด้านทำอาหาร  
อังรีสนิทสนมกับโจเซฟมากและชื่นชม ติดตามผลงานด้านการแพทย์ของโจเซฟตลอด

        บาบินสกี้เป็นชื่อเรียกสัญญาณโรคที่อมตะคือ สัญญาณหัวแม่เท้ากระดกขึ้นจากรอยโรคที่
pyramidal tract หรือ upper motor neuron   ในปี ค.ศ. 1896 บาบินสกี้ได้รายงานข้อสังเกตของเขา ต่อที่ประชุมสมาคมชีววิทยาแห่งปารีสว่า ในผู้ป่วยด้วยอัมพาตครึ่งซีกถ้าเอาอะไรไปจิ้มส้นเท้าข้างที่ปกติ เท้าผู้ป่วยข้างนั้นจะถอยหนีพร้อมทั้งนิ้วเท้าข้างนั้นจะงอลง
แต่ถ้าไปทำที่เท้าข้างที่เป็นอัมพาตนิ้วหัวแม่เท้า
จะกระดกขึ้น   2 ปีต่อมาบาบินสกี้ใช้การลูบส้นเท้าด้านนอกแทนการจิ้มด้วยของแหลมเพราะให้ผลดีกว่า   นายแพทย์ฟาน กิย์น (van Gijn) ประสาทแพทย์มีชื่อเสียงชาวเนเธอร์แลนด์ได้แปลข้อเขียนของบาบินสกี้เป็นภาษาอังกฤษไว้ในหนังสือเฉพาะเรื่อง (monograph) และเน้นว่าสัญญาณหัวแม่เท้ากระดกขึ้นเห็นชัดดี
ที่สุดถ้ากระตุ้นด้วยการลูบส้นเท้าด้านนอก  นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการพบสัญญาณดังกล่าวในทารกแรกเกิดทุกคนจนอายุได้ 6 ถึง 7 เดือนนิ้วหัวแม่เท้าจึงงอลงเมื่อตอบสนองการกระตุ้นดังกล่าว

        จากนครซิดนีย์ ออสเตรเลีย ศาสตราจารย์เจมส์ ลานซ์ (James Lance) ได้บันทึกว่าพบสัญญาณบาบินสกี้ในลูกของตนขณะที่นอนละเมอตอนกลางคืนแต่เมื่อเป็นปกติก็ไม่มีสัญญาณนี้  ลานซ์ยังได้กล่าวถึงว่าบาบินสกี้พบสัญญาณหัวแม่เท้ากระดกขึ้นในผู้ป่วยที่มีอาการชักกระตุกซีกเดียว (Jacksonian fit)  โดยพบในขาข้างที่ชักในขณะที่ขาข้างไม่ชักกระตุกตรวจไม่พบ และในผู้ป่วยอีกรายที่ได้ยาพิษสตริคนีน (strychnine) ตรวจพบสัญญาณหัวแม่เท้ากระดกขึ้นทั้งสองข้าง

        หลังจากบาบินสกี้ค้นพบสัญญาณโรคที่กล่าวมา ต่อมามีประสาทแพทย์รายงานการตรวจโดยกระตุ้นตำแหน่งอื่นที่ขา เช่น แชดดอค (Chaddock) ใช้กระตุ้นโดยการขูดหลังตาตุ่มนอกของเท้าไxข้างหน้า  และกอร์ดอน (Gordon) ใช้วิธีบีบ
กล้ามเนื้อน่อง นิ้วหัวแม่เท้างอขึ้นเมื่อมีรอยโรคที่ pyramidal tract

        เมื่อผู้เขียนกลับมาทำงานที่เมืองไทยพบว่า ในผู้ป่วยไทยที่ (มีหนัง) ส้นเท้าหนามากจากไม่ใส่รองเท้าซึ่งเมื่อ 40 ปีก่อนพบได้มาก การลูบหรือขูดส้นเท้าไม่ได้ผลตอบสนอง เลยลองใช้เข็มจิ้มที่หัวแม่เท้าบริเวณเหนือเล็บขึ้นมาก็พบว่า  
ถ้าผู้ป่วยนั้นมีรอยโรคที่ upper motor neuron หัวแม่เท้าจะงอขึ้น  ที่สุดท้าย
จึงอาจกล่าวสั้นๆ ว่าสัญญาณหัวแม่เท้างอขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการปลดปล่อยการควบคุมของ flexor reflexes ในขาจากเซลล์ที่อยู่เหนือประสาทไขสันหลังในผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่ cortico-spinal tract  หรืออาจจะรวมเรียกเป็น cortico-reticulo-spinal tract ก็ได้

 
แนะนำเอกสาร
1.  van Gijn J.  The Babinski sign - a century.  Utrecht: Universiteit Utrecht, 1996.

2.  Lance JW.  The Babinski sign.  J Neurol Neurosurg Psychiatry  2002; 73: 360-62.

3.  Teive HAG, Munhoz RP, Cruzole de Souza L.  Where was Joseph Babinski born?  Arq Neuropsiquiatr   
     2011; 69(2-B): 401-3. 

 

[ back ]