Cervical Spondylosis

Cervical Spondylosis

        กระดูกสันหลังคอเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก บางคนเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุไม่ถึง 30 ปี อายุมากขึ้น
พบได้บ่อยขึ้น กล่าวกันว่าพบได้ถึงร้อยละ 80 ในผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป

        ในสหรัฐอเมริกา ศัลยแพทย์กระดูกและประสาทศัลยแพทย์ให้ความสนใจโรคนี้มาเกือบ 100 ปีแล้ว 
ที่สหราชอาณาจักร ประสาทแพทย์และพยาธิแพทย์เริ่มสนใจศึกษาโรคนี้ในแง่มุมต่าง ๆ หลังปี ค.ศ. 1950 
ดี เอช เออวีน (D.H. Irvine) แพทย์ทั่วไป (General Practitioner หรือ GP) ที่เมืองแอชิงตัน (Ashington)
ห่างจากนครนิวคาสเซิล (Newcastle-upon-Tyne) 15 ไมล์ ร่วมกับประสาทแพทย์และนักสถิติที่มหาวิทยาลัย
ศึกษาผู้ป่วยในชุมชนซึ่งเป็นกรรมกรอุตสาหกรรมถ่านหินและครอบครัวเกือบ 500 คน ในคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปี
พบกระดูกสันหลังคอเสื่อมในผู้ชายที่ทำงานหนักมากกว่าอาชีพอื่นแต่เมื่ออายุ 70 ปีไปแล้วเกือบทุกคนมีโรคนี้

        เมื่อผู้เขียนกลับมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ครั้งที่สอง (ค.ศ. 1965) ได้ร่วมกับรองศาสตราจารย์แพทย์หญิง
กัลยา เจียรประดิษฐ์ (แพทย์จุฬาฯ รุ่น 5) รังสีแพทย์และอาจารย์ประสาทศัลยแพทย์ศึกษาเอกซเรย์กระดูกต้นคอ
ของผู้ป่วยที่ไม่มีอาการที่ต้นคอหรือระบบประสาทแต่มารับการเอกซเรย์ปอดหรือมาตรวจกระเพาะอาหารด้วย
การกลืนแบเรียม (barium) รวมทั้งสิ้น 400 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุเกิน 40 ปีพบกระดูกสันหลังคอเสื่อมถึง
ร้อยละ 40

        หมอนรองกระดูกสันหลังคอเสื่อมมักเกิดขึ้นที่ระดับกลาง (C 5-6, C 6-7) อาการเริ่มแรกที่มักจะ
ไม่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ อาการตึงต้นคอที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “ตกหมอน” ตื่นนอนตอนเช้า และอาการ
“สะบักจม” หรือมีความรู้สึกชา ๆ ซ่า ๆ กลางหลังระหว่างสะบักสองข้าง อาการทั้งสองที่กล่าวเกิดจากการระคาย
เส้นประสาท sinu-vertebral หรือประสาทลุชกา (nerves of Luschka) ที่เป็นเส้นประสาทฝอยของเยื่อหุ้มประสาท
ไขสันหลังและเยื่อบุหมอนรองกระดูกที่เริ่มเสื่อม  นายแพทย์ราล์ฟ โคลวาร์ด (Ralph Cloward, ค.ศ. 1908-2000)
ชาวอเมริกันซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาทางศัลยกรรมในเรื่องนี้ เคยทำการทดลองในผู้ป่วยโดยฉีดน้ำเกลือ
ปริมาณเพียงเล็กน้อยเข้ากระดูกสันหลังคอที่ระดับต่าง ๆ จาก C 4 ถึง C 7 แล้วทำให้เกิดอาการชา ๆ ซ่า ๆ ใน
ผู้ป่วยได้ ซึ่งปัจจุบันการทดลองดังกล่าวคงกระทำไม่ได้

        อาการต่อมาที่พบก็คือ การระคายรากประสาทจากการกดทับที่กระดูกสันหลังคอ (radiculopathy)
ระหว่างกระดูกคอที่ 5-6 และ 6-7 หรือในบางราย 4-5 ทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปที่แขนข้างหนึ่งข้างใดตาม
dermatone C 6 หรือ 7 แต่ที่ไม่ค่อยรู้กันก็คือ อาการที่ไปเกิดที่กล้ามเนื้อหรือ myotome เช่น เจ็บที่กล้ามเนื้อ
หน้าอกโดยเฉพาะซีกซ้ายใต้ราวนม (left inframammary pain) ที่บางคนคิดว่าเป็นจากหัวใจ และเกิดอาการปวด
ที่ข้อไหล่และ “ไหล่ติด” (frozen shoulder) หรือ sclerotome ก็ได้

        อาการเนื่องจากการระคายประสาทฝอยและรากประสาทที่กล่าวควรได้รับการตรวจและบำบัดจาก
ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัดเสมอ เพราะปัจจุบันวิธีการตรวจพิเศษและการรักษามี
ความก้าวหน้าไปมาก !
 
        โรคประสาทไขสันหลังเหตุกระดูกคอเสื่อม (Cervical spondylotic myelopathy, CSM) เป็นเรื่องสำคัญ
ที่สุดและมีผู้ศึกษากันมาตลอด สาเหตุที่ทำไมคนบางคนมี CSM ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีกระดูกคอเสื่อมแต่
ไม่มีโรคประสาทไขสันหลัง (myelopathy) ก็เพราะว่าคนที่มี CSM เกิดมามีช่องไขสันหลัง (spinal canal) แคบ 
Payne และ Spillane ที่สหราชอาณาจักรเมื่อปี ค.ศ. 1957 พบจากการศึกษาเอกซเรย์ด้านข้างของกระดูกคอ
ในขณะที่คนกระดูกสันหลังคอเสื่อมแต่ไม่มีโรคประสาทไขสันหลังเส้นผ่าศูนย์กลางวัดจากหน้าไปหลังได้ค่า
16.2 มิลลิเมตร เทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่มีประสาทไขสันหลังเสื่อม 14.6 มิลลิเมตร ซึ่งต่อมาการศึกษาโดย
ไสมอน นิวริค (Simon Nurick, ค.ศ. 1933-2009) เพื่อนนักเรียนแพทย์รุ่นเดียวกับผู้เขียนที่กายส์ (Guy’s)    
และมาจาก Oxford ยืนยันเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นใครที่เกิดมามีช่องไขสันหลังส่วนคอแคบเพียงหนึ่งเซนติเมตรครึ่ง
(1.5 cm.) ก็โชคร้าย !  ไสมอนยังได้ศึกษาละเอียดเพิ่มเติมอีกและถือเป็นข้อมูลที่อ้างอิงต่อมาจนปัจจุบัน 
โดยทั่ว ๆ ไปร้อยละ 25 ของผู้ป่วย CSM อาการคงที่ ที่เหลือร้อยละ 75 อาการเลวลงตามอายุ  การผ่าตัดก็คือ
ต้องการจะป้องกันอาการเลวลง นอกจากเลือกประสาทศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญแล้วยังต้องพิจารณาเลือกวิธีผ่าตัดด้วย
กล่าวคือจะผ่าตัดเข้าทางด้านหน้า (anterior approach) หรือด้านหลัง (posterior approach หรือ decompression)
ถ้ามีหมอนกระดูกสันหลังยื่น (disc prolapse) โดยเฉพาะคนที่มีกระดูกต้นคอหลังโกง (kyphotic neck) การผ่าตัด
จากทางด้านหน้าให้ผลดีกว่า  ยิ่งปัจจุบันไม่ต้องใช้กระดูกปลูกถ่าย (bone graft) จากสันกระดูกปีกสะโพก
(iliac crest) แต่ใช้วัสดุเทียมทำให้ลดระยะเวลาผ่าตัดและลดการเจ็บปวด ยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันยังมีวิธีป้องกัน
ปัญหาหมอนรองกระดูกข้างเคียงเสื่อมที่อาจจะต้องผ่าตัดอีกภายใน 10 ปีโดยใช้หมอนกระดูกทำด้วยวัสดุเทียม
ฝังเข้าแทน  มีรายงานการศึกษาพบว่าการผ่าตัดจากด้านหลัง ผู้ป่วยร้อยละ 56 อาการดีขึ้น ร้อยละ 25 อาการคงเดิม
และร้อยละ 19 อาการเลวลงเล็กน้อย ในขณะที่ผู้ป่วยร้อยละ 75 ดีขึ้นหลังรับการผ่าตัดจากทางด้านหน้า

        อาการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ถึงแม้จะพบได้ไม่บ่อยแต่ควรทราบที่มีสาเหตุจากโรคกระดูกสันหลังคอ
เสื่อมคือ อาการก้านสมองขาดเลือด (brain stem vascular or vertebrobasilar insufficiency) โดยเฉพาะเวลาผู้ป่วย
หันหน้าไปทางซ้ายหรือขวา  ถ้าให้การวินิจฉัยทางเวชกรรมและยืนยันได้จากการตรวจด้วย MRI ก็รักษาหายขาดได้
 
        เมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานวิธีประเมินโครงสร้างและหน้าที่ของไมอีลิน (myelin) ในผู้ป่วยโรคไขสันหลัง
เหตุกระดูกคอเสื่อมหรือ CSM โดยการถ่ายภาพ myelin water (MWI) ควบกับ somatosensory evoked potentials
(SSEPs) ช่วยพบหลักฐานปริมาณไมอีลินลดลงได้ดีกว่าใช้ MRI ธรรมดา ซึ่งจะช่วยประสาทแพทย์และประสาท
ศัลยแพทย์ในการตัดสินใจผ่าตัดผู้ป่วย
 

แนะนำเอกสาร
1)  Stookey B.  (1928).  Compression of the spinal cord due to ventral extradural cervical chondromas. 
     Archs Neuro, Psychiat.  20 : 275-291.  

2)  Irvine DH, Foster JB, Newell DJ, et al.  (1965).  Prevalence of cervical spondylosis in a general
     practice.  Lancet.  1 : 1089-1092. 

3)  Chienpradit K, Vejjajiva A, Suwanwela C, Hongsprabhas C.  (1969).  Cervical spondylosis in
     Thailand.  Presented at the Annual Meeting of the Medical Association of Thailand, Songkla.

4)  Cloward RB.  (1960).  The clinical significance of the sinu-vertebral nerve of the cervical spine
     in relation to the cervical disk syndrome.  J Neurol Neurosurg Psychiat.  23 : 321-326. 

5)  Payne EE, Spillane JD.  (1957).  The cervical spine.  Brain.  80 : 571-596.

6)  Nurick S.  (1972).  The pathogenesis of the spinal cord disorder associated with cervical spondylosis.
     Brain.  95 : 87-100.

7)  Nurick S.  (1972).  The natural history and the results of surgical treatment of the spinal cord disorder
     associated with cervical spondylosis.  Brain.  95 : 101-108.

8)  Nurick S.  (1975).  The cervical spine and paraplegia.  In: Modern Trends in Neurology 6. 
     Ed. Denis Williams.  Butterworths, London.  Pp. 167-182.

9)  Neurology.  A Queen Square Textbook.  (2009).  Eds. C Clarke, R Howard, M Rossor, S Shorvon. 
     Wiley-Blackwell, UK.  Degenerative disease of the spine.  Pp. 614-615.  

10) Matsumoto M, Fujimura Y, Suzuki N, et al.  (1998).  MRI of cervical intervertebral discs in
      asymptomatic subjects.  J Bone Joint Surg Br.  80 : 19-24.

11) Dennis DJ, Shedid D, Shehadeh M, et al.  (2014).  Cervical spondylosis: a rare and curable cause
      of vertebrobasilar insufficiency.  Eur Spine J.  23 (Suppl 2) : 206-213.

12) Liu H, MacMillian EL, Jutzeler CR, et al.  (2017).  Assessing structure and function of myelin
      in cervical spondylotic myelopathy.  Evidence of demyelination.  Neurology.  89 : 602-610.  

 

 

[ back ]