MANGANESE
แมงกานีสเป็นธาตุธรรมชาติชนิดหนึ่งแต่ไม่พบอยู่เป็นอิสระ มักพบเป็นแร่ร่วมกับเหล็ก แพทย์มักจะ
รู้จักกันดีว่าเป็นส่วนประกอบของด่างทับทิมหรือ potassium permanganate (KMnO4) ที่ใช้ในห้องทดลอง
แมงกานีสเป็นสารที่จำเป็นต่อการพัฒนา การแปรสภาพและระบบต้านการเติมออกซิเจน แต่ร่างกาย
คนเราใช้แมงกานีสในปริมาณที่น้อยมาก ถ้ามากเกินไปทำให้เกิดกลุ่มอาการที่เรียก แมงกานิสม์ (manganism)
แมงกานีสจำเป็นสำหรับผลิตเหล็กและเหล็กกล้า มีการถลุงแร่นี้ในประเทศอินเดีย ออสเตรเลีย จีน
แอฟริกาใต้และบราซิล
เมื่อ ค.ศ. 1963 นายแพทย์โนเชีย วาเดีย (Noshir Wadia, FRCP, ค.ศ. 1925-2017) ประสาทแพทย์
ชาวอินเดียที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลก เขียนไว้ในหนังสือประสาทวิทยาเขตร้อนเล่มแรกซึ่งเป็น Proceedings ของ
การประชุมนานาชาติครั้งที่หนึ่ง ณ กรุงบัวโนสไอเรส (Buenos Aires) ประเทศอาร์เจนตินา (29 พฤศจิกายน-
2 ธันวาคม ค.ศ. 1961) เกี่ยวกับพิษของแมงกานีสในคนงานเหมืองแร่อินเดียซึ่งพบเป็นครั้งแรกในประเทศนั้น
เมื่อ ค.ศ. 1956 อินเดียมีเหมืองแร่แมงกานีสกว่า 600 เหมือง ใช้คนงานรวมกว่า 64,000 คน เหมืองส่วนใหญ่
ใช้วิธีขุดมีเพียง 2-3 เหมืองที่ใช้เครื่องเจาะที่ทำให้มีฝุ่นมาก ทำให้คนงานมีไข้ หลอดลมอักเสบ เอกซเรย์ปอดพบ
ภาวะฝุ่นจับปอด (pneumoconiosis) นอกจากนี้ยังพบเหงือก เพดานแข็งและลิ้นไก่มีสีดำคล้ำ คนงานที่ได้รับพิษ
จากแมงกานีสมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ปวดเอว มีตะคริวกล้ามเนื้อ ต่อมาเริ่มเดินลำบาก ล้มง่าย
เดินช้า พูดไม่ชัด มีลักษณะคล้ายผู้ป่วยพาร์กินสัน แต่มีลักษณะที่เด่นก็คือ อาการหัวเราะไม่หยุด ควบคุมไม่ได้
ไม่ว่าจะเริ่มหัวเราะเองหรือทำตามผู้อื่น (Pathological laughter)
ผู้รายงานโรคสารพิษแมงกานีสเป็นคนแรกเป็นชาวฝรั่งเศสชื่อ กูเป (Couper) รายงานไว้เมื่อ ค.ศ. 1873
ต่อมาจาคสค์ (Jaksch) จากออสเตรีย เอ็ดซอลล์ (Edsall) และคณะจากสหรัฐอเมริกา เจ อาร์ ชาร์ลส์
(J.R. Charles) จากอังกฤษ และโรดิเออ (Rodier) จากโมร็อกโก รายงานผู้ป่วยถึง 150 รายในปี ค.ศ. 1955
ริชาร์ด ซิดนีย์ อัลลิสัน (Richard Sydney Allison, FRCP, ค.ศ. 1899-1978) ศาสตราจารย์ทาง
ประสาทวิทยาจากเมืองเบลฟาสต์ (Belfast) รัฐไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) เขียนบทความลงตีพิมพ์ใน
วารสารการแพทย์อัลสเตอร์ (Ulster Medical Journal) หลังกลับจากเป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะ ณ โรงพยาบาล
สถาบันประสาทวิทยา พญาไท เมื่อ ค.ศ. 1965 อ้างถึงการระบาดของกลุ่มอาการพาร์กินโซนิสม์ในพนักงานโรงงาน
ถ่านไฟฉายในกรุงเทพฯ ผู้ป่วยทั้ง 45 รายเป็นหญิงทั้งหมด ศาสตราจารย์นายแพทย์สมบัติ สุคนธพันธ์
(พ.ศ. 2469-2532) เป็นผู้ศึกษาและยังได้มีการชันสูตรศพผู้ป่วย 2 ราย อัลลิสันได้มีโอกาสตรวจผู้ป่วย 3 ราย
พบผู้ป่วยหน้าตาเฉย ผิวหน้ามัน มีมือสั่นขณะอยู่นิ่ง เคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อตึงเวลาตรวจ มีลักษณะอาการ
สมองน้อยและสมองเสื่อม ผู้ป่วยทั้ง 3 ราย ดูจะอ้วน มีอารมณ์แปรปรวน หน้า หัวเราะค้าง คล้ายผู้ป่วยที่เป็น
โรควิลสัน (Wilson’s disease) ตรวจไม่พบตากระตุก (nystagmus) ไม่พบอาการพูดไม่เป็นความ (dysarthria)
และไม่พบสัญญาณเซลล์ประสาทสั่งการส่วนบน (upper motor neuron) เสีย นอกจากนี้อัลลิสันยังอ้างถึง
การเปลี่ยนแปลงในสมองน้อยคล้ายที่ ลูโด ฟอน โบเกิร์ต (Ludo van Bogaert, ค.ศ. 1897-1989) พบในลิง
สัตว์ทดลองที่ถูกพ่นด้วยพิษสารแมงกานีสซึ่งพบการเปลี่ยนแปลงเฉพาะที่ระบบประสาทโดยเซลล์เพอร์กินยิ
(Purkinje) เสื่อมและส่วนสมองที่มีเม็ดเล็ก ๆ (granular area) สลายเป็นบางส่วน ไม่พบการเปลี่ยนแปลงในตับ
และไต
ค.ศ. 1963 อิสเมล มีนา (Ismael Mena, ค.ศ. 1928-2015) ที่ประเทศชิลี และจอร์ช คอทเซียส
(George Cotzias, ค.ศ. 1918-1977) นักวิทยาศาสตร์อเมริกันเชื้อสายกรีก ศึกษาคนทำเหมืองแมงกานีสชาวชิลี
ที่มีอาการแมงกานิสม์ (manganism) เป็นเวลา 7 ปี ซึ่งมีส่วนสำคัญในการนำยาแอลโดปา (L-dopa) ไปใช้รักษา
ผู้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน แต่ลักษณะอาการของผู้ป่วยพาร์กินสันและผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารแมงกานีสที่ไม่มี
ประวัติสูดสารพิษนั้นต่างกัน ลักษณะอาการเดินต่างกัน อาการหัวเราะไม่หยุดก็ไม่พบในผู้ป่วยพาร์กินสัน
ถึงแม้การปลดปล่อยโดปามีน (dopamine release) จะลดลงในระบบ substantia nigra และ striatum ในผู้ป่วย
ที่มีอาการจากพิษแมงกานีสแต่เซลล์ประสาทที่สร้างโดปามีน (dopaminergic neurons) ใน substantia nigra ยังคง
มีอยู่เกือบเหมือนเดิม
การได้รับแมงกานีสจากฝุ่นควันเชื่อมโลหะทำให้เกิดอาการพาร์กินโสนิสม์ขึ้นกับขนาดของพิษที่ได้รับ
(dose-related) ทั้งนี้เป็นรายงานการศึกษาผู้มีอาชีพดังกล่าวถึง 886 ราย เป็นเวลา 10 ปี อายุระหว่าง 18 ถึง 86 ปี
(เฉลี่ย 46 ปี) อาการที่พบมากที่สุด ได้แก่ แขนเคลื่อนไหวช้า (bradykinesia) แขนขาแข็งทื่อ (rigidity)
พูดคำคละละเลือน (slurred speech) และสีหน้าเฉยไม่แสดงความรู้สึก
ถ้าผู้ที่ได้รับพิษมากหรือบ่อย อาการเลวลงเร็วขึ้น
แนะนำเอกสาร
1) Avila DS, Puntel RL, Aschner M. (2013). Manganese in Health and Disease. In: A Sigel, H Sigel,
RKO Sigel. Interrelations between Metal Ions and Human Diseases. Metal Ions in Life Sciences 13.
Springer pp. 199-227.
2) Wadia NH. (1963). Manganese in toxication in Indian miners. In: Ludo Van Bogaert,
J.P. Käfer, GF Poch. Proceedings of the First International Symposium on Tropical Neurology.
November 29-December 2, 1961. Lopez Libreros Editores SRL. Buenos Aires, Argentina.
Pp. 271-277.
3) Allison RS. (1965). On nervous disease in Thailand. Ulster Med J. 34 : 74-92.
4) Vejjajiva A. (1973). Neurology in Thailand. In: JD Spillane. Tropical Neurology.
London, Oxford University Press. Pp. 335-352.
5) Mena I, Court J, Fuenzalida S, et al. (1970). Modification of chronic manganese poisoning.
Treatment with L-dopa or 5-OH tryptophane. New Engl J Med. 282 : 5-10.
6) Miranda M, Bustamante ML, Mena F, Lees A. (2015). Original footage of the Chilean miners
with manganism published in Neurology in 1967. Neurology. 85 : 2166-2169.
7) Ratner MH, Fitzgerald E. (2017). Understanding of the role of manganese in Parkinsonism and
Parkinson disease. Neurology. 88 : 338-339.
8) Racette BA, Nielsen SS, Criswell SR, et al. (2017). Dose-dependent progression of parkinsonism
in manganese-exposed welders. Neurology. 88 : 344-351.