Migraine

Migraine

        ภาษาอังกฤษคำนี้ควรอ่านเป็นไทยว่า  มีเกรน  แต่ราชบัณฑิตสภาไทยใช้ไมเกรนมานานแล้วจึงต้องใช้
เช่นนั้น ที่จริงคำนี้มีที่มาจากภาษาฝรั่งเศสซึ่งดั้งเดิมมาจากภาษากรีก   hemicrania หมายถึง ครึ่งศีรษะ

        ร้อยละ 10 ของประชากรผู้ใหญ่ในโลกเป็นไมเกรน โรคนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ในเด็กถึงคนชรา แต่เดิมมัก
เชื่อกันว่าแก่แล้วโรคจะหายไปเอง ผู้เขียนยืนยันว่าอายุกว่า 80 ปียังมีอาการได้ แต่จะห่างไปมากและปวดไม่รุนแรง
เหมือนตอนหนุ่มหรือวัยกลางคน !  เนื่องจากอายุรแพทย์และประสาทแพทย์มักจะไม่คำนึงถึงโรคนี้ในเด็ก
ผู้เขียนจึงแนะนำตำราที่รวมงานวิจัยในเด็กไทยของศาสตราจารย์แพทย์หญิง  สุรางค์ เจียมจรรยา และ
ศาสตราจารย์นายแพทย์อนันต์นิตย์ วิสุทธิพันธ์ จากรามาธิบดีไว้ด้วย  อาจารย์ทั้งสองท่านพบในเด็กตั้งแต่
อายุไม่กี่เดือน อุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุจากร้อยละไม่ถึง 2 ที่อายุ 7 ปี และที่อายุ 15 ปี เพิ่มเป็นร้อยละ 5.3
พบในเด็กหญิงมากกว่าเด็กชายถึง 3 เท่า  ในผู้ใหญ่โรคนี้ก็พบในหญิงมากกว่าชาย ปัจจัยทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้อง
ก็มาจากแม่มากกว่าพ่อ  มีไมเกรนชนิดที่มีอัมพาตครึ่งซีกตัว (hemiplegic migraine) ชนิดหนึ่งที่มียีนกลายพันธุ์
ทำให้ช่องไอออน (ion channel) ผิดปกติสืบทอดแบบพันธุกรรมลักษณะเด่นแต่พบได้น้อยมาก ในเด็กอาการ
คลื่นไส้อาเจียนเป็นครั้งคราวซึ่งอาจเป็นนานเป็นวัน 4-5 วัน และอาการบ้านหมุนก็พบได้  นอกจากนี้ในหนุ่มสาว
ที่มีอาการเวียนศีรษะ เห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด เดินเซจากไมเกรนและเป็นลมหมดสติก็พบได้แต่ไม่บ่อยที่เดิม
เอดวิน บิคเกอร์สตาฟฟ์ (Edwin Bickerstaff, ค.ศ. 1920-2007) ประสาทแพทย์ชาวอังกฤษจากเบอร์มิงแฮม
(Birmingham) เป็นคนแรกที่รายงานไว้ใช้ชื่อ Basilar artery migraine ปัจจุบันใช้คำ basilar-type migraine แทน

        ในประเทศไทยที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์กัมมันต์ พันธุมจินดา ร่วมกับ
ศาสตราจารย์นายแพทย์จิตร สิทธิอมร ในปี ค.ศ. 1989 ได้รายงานการศึกษาความชุกและลักษณะอาการทาง
เวชกรรมของผู้ป่วยไมเกรนในชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานคร  และในปี ค.ศ. 2000 ทำการศึกษาร่วมกับ
ศาสตราจารย์นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล เรื่องความชุกของโรคปวดศีรษะปฐมภูมิในภาคกลางของประเทศ
พบโรคไมเกรนเกือบร้อยละ 30 โดยเป็นในหญิงมากกว่าชาย 3-4 เท่า และลดลงในกลุ่มที่อายุมากขึ้น

        สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเกิดขึ้นมีมากแต่สำคัญเพราะถ้าทราบจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมาก
จะได้ไม่ต้องใช้ยา  ผู้เขียนเคยเขียนเรื่องการโหม่งลูกฟุตบอลแล้วปวดศีรษะ (Footballer’s migraine) มาแล้ว 
การอดนอน การทำงานเหนื่อยเกินไปทั้งร่างกายและสมอง ตากแดด อากาศร้อนเกินไป มีแสงแว็บๆ เข้าตาทำให้
ปวดไมเกรนทราบกันดี แต่เรื่อง “แพ้” อาหารหรือเครื่องดื่มแล้วปวดมักจะไม่ค่อยทราบกัน ยกเว้น ดื่มเหล้าองุ่น
(ไวน์) แดง  อาหารเช่นก๋วยเตี๋ยวแขกซึ่งใส่ถั่วลิสงและเต้าหู้ที่ทำมาจากถั่วเหลือง และขนมทั้งไทยและฝรั่งที่มีถั่ว
เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง  บุตรสาวผู้เขียนผู้เป็นไมเกรนเช่นบิดาสังเกตและศึกษามานานบอกว่า ขนมไทย
เช่น ถั่วกวน ลูกชุบ ไข่หงส์ ถั่วอาเมินด์ (Almond) พิสแทชิโอ (pistachio) และวอลนัต (walnut) ถ้ารับประทาน
เมื่อไรปวดศีรษะเมื่อนั้น ! ในขณะที่ผู้เขียนไม่เป็น ถั่ว “แระ” พอทานได้แต่ต้องไม่มาก เรื่องนี้ไม่ใช่ภูมิแพ้ 
เพราะฉะนั้นผู้ป่วยไมเกรนพึงต้องหมั่นสังเกตเอง

        สัญญาณบอกเหตุ (aura) ที่มาก่อนปวดศีรษะ เช่น เห็นแสงระยิบระยับ อารมณ์หงุดหงิดมักเป็น
ที่ทราบกันดี อาการกลัวแสง (photophobia) หรืออาการกลัวเสียง (phonophobia) ถ้ามีมักจะมากับอาการปวดศีรษะ 
ในบางรายมีสัญญาณบอกเหตุโดยไม่ปวดศีรษะมักจะเป็นที่ทราบกันน้อยกว่า  ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์มีภาวะ
เกิดเสียการสื่อความ (motor aphasia) ขึ้นขณะจะเสร็จการตรวจผู้ป่วยที่คลินิก รู้ตัวว่าจะปวดศีรษะไมเกรนแต่
เพื่อให้แน่ใจรีบไปหาศาสตราจารย์นายแพทย์ทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์ (พ.ศ. 2472-2551) เป็นอยู่ประมาณ
ครึ่งชั่วโมงก็เริ่มปวดศีรษะ อาจารย์ก็ทำให้สบายใจโดยไม่ต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม เหตุเกิดขึ้น 55 ปีกว่ามาแล้ว !

        ผู้เขียนจะไม่พูดถึงวิธีการรักษาอย่างละเอียด ได้แนะนำเอกสารที่ควรหาอ่านไว้บ้างแล้วแต่จะให้เกร็ด
ที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวบ้าง

        ถ้านาน ๆ ปวดศีรษะครั้งและถ้าใช้ยาแก้ปวด เช่น แอสไพรินหรือพาราเซตามอลควบกับ domperidone
กันคลื่นไส้ หายก็ไม่ต้องใช้ยา triptan  ไม่แนะนำให้ใช้ ergotamine โดยเฉพาะถ้าผสมกับแคฟเฟอีน สูตรผสม
ดังกล่าวไม่ควรมีใช้อีกแล้วในบ้านเรา การที่ผู้ผลิตใช้แคฟเฟอีนด้วยก็เพื่อจะให้ผู้กินติด ทำไมไม่ใช้ ergotamine
หรือ dihydroergotamine อย่างเดียว  ถ้ายังปวดเสมอ ๆ และปฏิบัติตนตามที่แนะนำแล้วจึงพิจารณาใช้ยาป้องกัน
เป็นประจำตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ  ผู้เขียนเลี่ยงการใช้ยา ami- หรือ nor-triptyline ในผู้ป่วยสูงอายุ
มักจะเลือกใช้วิตามินบี 2 หรือ riboflavin ขนาดวันละ 200-400 มิลลิกรัม (หรือ coenzyme Q10 ถ้าหาได้)
วันละ 300 มิลลิกรัม  ผู้เขียนไม่มีประสบการณ์ในเรื่องฝังเข็ม เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีรายงานการศึกษาจากประเทศ
อิสราเอลถึงประสิทธิภาพการรักษาด้วยการกระตุ้นผิวหนังต้นแขนด้วยไฟฟ้า  ในผู้ป่วยปวดไมเกรนเฉียบพลัน
พบว่าได้ผลดี (Class III evidence)  ล่าสุดในผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่เป็นไมเกรนการศึกษาที่เชื่อถือได้พบว่า
การให้ยา amitriptyline และ topiramate เมื่อเทียบกับยาหลอก (placebo) เป็นเวลา 24 สัปดาห์ได้ผล
ไม่แตกต่างกัน !

        โรคไมเกรนและสโตรค (stroke) เกี่ยวข้องกันโดยเมื่อเร็ว ๆ นี้หลักฐานจากการศึกษาผู้ป่วยไมเกรน
กว่าหนึ่งหมื่นราย พบว่ามีโอกาสเป็นสโตรคเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งเท่าครึ่งถึงสามเท่าครึ่งโดยเฉพาะในผู้ที่มีสัญญาณ
บอกเหตุก่อนปวดศีรษะและในพวกอายุช่วงกลางคนไปแล้วที่มีสัญญาณทางลานสายตา  สโตรคจากสมองขาดเลือด
เกิดจากสิ่งหลุดไปจากหัวใจ (cardio embolic)

        แปลกแต่จริงที่อิตาลีเพิ่งมีการศึกษาผู้ป่วยสโตรคที่อายุน้อยจากผนังหลอดเลือดแดงสมอง
ถูกเลือดเซาะ (cerebral artery dissection, CEAD) มีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยเป็นไมเกรนโดยเฉพาะพวกที่ไม่มี
สัญญาณบอกเหตุก่อนปวดศีรษะ

        เมื่อเร็ว ๆ นี้การศึกษาแบบอภิมาน (meta-analysis) พบความเสี่ยงเกิดไมเกรนเพิ่มขึ้นในคนอ้วนและ
คนน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ !  

        สิ่งสุดท้ายที่ผู้เขียนอยากเห็นก็คือ โรงพยาบาลที่มีคลินิกรักษาผู้ป่วยขณะมีอาการปวดศีรษะไมเกรน
ใจกลางกรุงเทพมหานคร – แบบคล้ายที่เกิดขึ้นในมหานครลอนดอนเมื่อ 40 ปีมาแล้ว ประสาทแพทย์ที่ริเริ่มเรื่องนี้
เป็นแพทย์สตรีชื่อ มาเซีย วิลคินสัน (Marcia Wilkinson, FRCP, ค.ศ. 1923-2013) ที่ริเริ่มที่โรงพยาบาล
เอลิซาเบธ แกร์เรตต์ แอนเดอร์สัน (Elizabeth Gareth Anderson Hospital) ผู้ป่วยมักมีอาการขณะทำงานสามารถ
ไปถึงโรงพยาบาลและเข้ารักษาได้ภายใน 3 ชั่วโมง !  ปีแรกมีผู้ป่วยถึง 2,000 คน  นอกจากช่วยเรื่องการรักษา
ได้ผลอย่างมากยังเป็นที่เรียนรู้ของแพทย์และพยาบาลอีกด้วย  โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลกลางหรือ 
โรงพยาบาลสถาบันประสาทวิทยาที่มีประสาทแพทย์ผู้สนใจเรื่องไมเกรนดูจะเหมาะสมดีเพราะอยู่ใน
ใจกลางมหานคร !


แนะนำเอกสาร
1)  Lance JW, Goadsby PJ.  (2005).  Mechanism and Management of  Headache.  Seventh Edition. 
     Elsevier.  USA.  Pp. 41-162. 

2)  Robbins MS, Lipton RB.  (2010).  The epidemiology of primary headache disorders.  Semin Neurol. 
     30 : 107-119. 
    
3)  อนันต์นิตย์ วิสุทธิพันธ์  สุรางค์ เจียมจรรยา  (พ.ศ. 2556)  อาการปวดศีรษะในเด็ก 
     ใน ตำราประสาทวิทยาคลินิก เล่มที่ 2  สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย  รุ่งโรจน์ พิทยศิริ 
     ธีรธร พูลเกษ  กนกวรรณ บุญญพิสิฏฐ์  สมบัติ มุ่งทวีพงษา บรรณาธิการ  หน้า 1050-1064

4)  Visudthibhan A, Siripornpanich V, Khongkhatithum C, et al.  (2007).  Migraine in Thai children:
     prevalence in junior high school students.  J Child Neurol.  22 : 1117-1120.
 
5)  Selby G, Lance JW.  (1960).  Observations on 500 cases of migraine and allied vascular headache. 
     J Neurol Neurosurg Psychiatry.  23 : 23-32.

6)  Bickerstaff ER.  (1961).  Basilar artery migraine.  Lancet.  1 : 15-17. 

7)  กัมมันต์ พันธุมจินดา  จิตร สิทธิอมร  (1989).  Prevalence and clinical features of migraine: 
     a community survey in Bangkok, Thailand.  Headache.  29 : 594-597. 

8)  กัมมันต์ พันธุมจินดา  ภิรมย์ กมลรัตนกุล  (2000).  Prevalence of primary headache in central region
     of Thailand:  a cross-sectional survey.  Bull Neurol Soc Thai.  16 (suppl 1) : 12-13. 

9)  เพชรรัตน์ ดุสิตานนท์  (พ.ศ. 2556)  โรคปวดศีรษะปฐมภูมิที่พบบ่อย  ใน ตำราประสาทวิทยาคลินิก เล่มที่ 2 
     สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย  รุ่งโรจน์ พิทยศิริ  ธีรธร พูลเกษ  กนกวรรณ บุญญพิสิฏฐ์ 
     สมบัติ มุ่งทวีพงษา บรรณาธิการ  หน้า 1089-1102

10) Matthews WB.  (1972).  Footballer’s migraine.  BMJ.  2 : 326-327.

11) อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2557)  F-Footballer’s migraine  ใน เกร็ดความรู้อายุรศาสตร์ A-Z เล่ม 3 
      บริษัท ซิล์คโรดพับบลิเชอร์เอเยนซี จำกัด  กรุงเทพฯ  หน้า 34-35

12) Loh L, Nathan PW, Schott GD, Zilkha KJ.  (1984).  Acupuncture versus medical treatment for
      migraine and muscle tension headache.  J Neurol Neurosurg  Psychiatry.  47 : 333-337.

13) Schoenen J, Jacquy J, Lenaerts M.  (1998).  Effectiveness of high dose riboflavin in migraine
      prophylaxis – a randomized controlled trial.  Neurology.  50 : 466-470.

14) Sandor PS, Clemente LD, et al.  ( 2005).  Efficacy of Coenzyme Q10 in migraine prophylaxis. 
      A randomized controlled trial.  Neurology.  64 : 713-715.

15) อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2559)  Q10  ใน เกร็ดความรู้อายุรศาสตร์ A-Z เล่ม 5    
      บริษัท ซิล์คโรดพับบลิเชอร์เอเยนซี จำกัด  กรุงเทพฯ  หน้า 95-99

16) Yarnitsky D, Volokh L, Ironi A, et al.  (2017).  Nonpainful remote electrical stimulation alleviates
      episodic migraine pain.  Neurology.  88 : 1250-1255.

17) Powers SW, Coffey CS, Chamberlin LA, et al for the CHAMP investigators.  (2017). 
      Trial of amitriptyline, topiramate and placebo for pediatric migraine.  N Engl J Med.  376 : 115-124.

18) Sposato LA, Lee Peterlin B.  (2016).  Cardioembolism as the unsuspected missing link between
      migraine and ischemic stroke.  Neurology.  87 : 2504-2505.

19) Michelle Androulakis X, Kodumuri N, Giamberardino LD, et al.  (2016).  Ischemic stroke subtypes
      and migraine with visual aura in the ARIC study.  Neurology.  87 : 2527-2532.

20) De Giuli V, Gassi M, Lodigiani C, et al for the Italian Project on stroke in Young Adults Investigators.
      (2017).  Association between migraine and cervical artery dissection:  The Italian Project on Stroke in
      Young Adults.  JAMA Neurol.  Epub 2017, Mar 6.

21) Gelaye  B, Sacco S, Brown WJ, et al.  (2017).  Body composition status and the risk of migraine.  
      A meta-analysis.  Neurology.  88 : 1795-1804.

22) Obituary: Marcia Wilkinson, DM, FRCP.  (2013).  BMJ.  346 : f1349.

 


   


 

 

[ back ]