สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

        ในสังคมไทยดังที่ทราบกันดี ยศตำแหน่งไม่ใช่มีแต่ทหารและข้าราชการเท่านั้นแต่รวมถึงพระสงฆ์ด้วย 
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นราชทินนามของสมเด็จพระราชาคณะรูปหนึ่ง เป็นที่รู้จักมานานตั้งแต่ใน
พระราชพงศาวดารเหนือ  สมเด็จเขาแร้งเป็นพระอรหันต์ผู้ห้ามทัพพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชกรุงเชียงแสนไม่ให้
ยกไปตีเมืองศรีสัชนาลัย

        ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน มีสมเด็จพระราชาคณะใช้ราชทินนามนี้แล้วรวม 18 รูป 
ผู้เขียนโชคดีที่ได้มีโอกาสรู้จัก “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” 2 ท่าน คือ ลำดับที่ 12 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
(เจริญ สุขบท ญาณวโร พ.ศ. 2415-2494) แห่งวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ลำดับที่ 18 หรือองค์ปัจจุบัน (ประยุทธ์ อ.ปยุตฺโต พ.ศ. 2481-) แห่งวัดญาณเวศกวัน อำเภอพุทธมณฑล
จังหวัดนครปฐม

        สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ สุขบท ญาณวโร) เป็นชาวชลบุรี เป็นศิษย์ของท่านเจ้าคุณชลโธปมคุณมุนี
ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี 
เจ้าคุณสมเด็จฯ เล่าเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เล็ก เมื่ออุปสมบทตอนอายุ 20 ปีก็ได้ท่านเจ้าคุณชลโธฯ เป็นอุปัชฌาย์ 
อีก 4 ปีต่อมาได้มาอยู่ที่วัดเทพศิรินทร์ฯ และเมื่ออายุเพียง 26 ปีได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส  สมเด็จฯ เป็นผู้ที่เรียนเก่งมาก เชี่ยวชาญเรื่องภาษาบาลี  เป็นพระที่พ่อ แม่ ตลอดจนญาติพี่น้องของผู้เขียนเคารพนับถือมาก ท่านเป็นผู้ตั้งชื่อให้ผู้เขียน พี่และน้องชายทั้ง 5 คนด้วย  ท่านเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ที่เป็นธรรมยุตองค์หลังสุด 
องค์ต่อมาจนองค์ปัจจุบันเป็นพระมหานิกาย

        สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นปราชญ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดท่านหนึ่งในพุทธศตวรรษนี้
ผู้เขียนได้รับการบอกเล่าจากสุลักษณ์ ศิวรักษ์ (พ.ศ. 2476-) เพื่อนน้องชาย (วิทยา เวชชาชีวะ พ.ศ. 2479-)
ถึงกิตติศัพท์ของท่านเมื่อกลับจากไปศึกษาที่ต่างประเทศตั้งแต่สมเด็จฯ จำวัดอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์ฯ ในกรุงเทพฯ 
ท่านมีเมตตาเคยรับนิมนต์ผู้เขียนไปเทศน์ให้ที่บ้านเพียงองค์เดียวในวันเกิดปีหนึ่งหลายปีมาแล้ว  ผู้เขียนต้อง
สารภาพว่าถึงแม้จะเป็นพุทธมามกะตั้งแต่เกิด  แต่มีพระสงฆ์ไม่กี่รูปที่ผู้เขียนเลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริง
ประเภทเรียกหลวงพ่อ หลวงตาก็ดูจะไม่มี  ยกเว้นพระสายวิปัสสนา เช่น หลวงปู่มั่น (พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต 
พ.ศ. 2413-2492) เดิมจากอุบลราชธานี  หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน หรือ พระธรรมวิสุทธิมงคล          
(พ.ศ. 2456-2554) วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี  หลวงพ่อชา สุภทฺโท (พระโพธิญาณเถร  พ.ศ. 2461-2535) 
อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี และภิกษุชาวอังกฤษ เช่น ชยสาโร (พ.ศ. 2501-) เป็นต้น  ที่นึกออกปัจจุบัน
นอกจากสมเด็จทั้งสองที่กล่าวก็มีสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ คชวัตร สุวฑฺฒโน  พ.ศ. 2456-2556)
สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่แล้วแห่งวัดบวรนิเวศวรวิหาร  ท่านพุทธทาสภิกขุที่ไชยา และสมเด็จพระธีรญาณมุนีแห่ง
วัดเทพศิรินทราวาส  พระองค์ท่านแรกผู้เขียนโชคดีได้รู้จักขณะเป็นคณบดี ท่านมีพระเมตตาเป็นอย่างยิ่งรับนิมนต์
ไปพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนิน
ไปทรงเป็นประธานเมื่อ พ.ศ. 2535 และเป็นประธานสร้างพระพุทธรูปพระศาสดาหาเงินให้อีกด้วย  เมื่อผู้เขียน
ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (9 ธันวาคม 2538 – 8 ธันวาคม 2542)  ท่านก็ทรงเมตตา
อนุโมทนาขอบใจที่จัดทำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศาสนศึกษา) ที่วิทยาลัยศาสนศึกษา น้ำทอง คุณวิศาล
เป็นการให้เกียรติและส่งเสริมพระพุทธศาสนาเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ที่พระภิกษุทั้งธรรมยุติกนิกายและ
มหานิกาย สามเณร ชีและคฤหัสถ์ เรียนร่วมกัน อีกทั้งได้ศึกษาชีววิทยาและวิทยาการจัดการจากอาจารย์แพทย์
นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ  พระเมตตาของพระองค์สมเด็จพระสังฆราชฯ  ยังแผ่ไปถึงข้าราชการ
และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์และ ประทานพรให้คู่บ่าวสาว
โดยได้คุณสนิท ไชยวงศ์คต อดีตผู้อำนวยการกองบริการการศึกษาและผู้อำนวยการกองกลางในขณะนั้น
(1 ตุลาคม 2542 – 30 กันยายน 2545) เป็นผู้ประสานงาน  ส่วนท่านพระพุทธทาสภิกขุหรือพระธรรมโกศาจารย์
(เงื่อม พานิช อินฺทปญฺโญ พ.ศ. 2449-2536) ผู้เขียนเคยได้รับเชิญจากคณะศิษย์ของท่านโดยคุณยาใจ
เลขวณิชธรรมวิทักษ์ ให้ไปถวายการตรวจที่วัดสวนโมกขลาราม อ.ไชยา สุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ. 2524  ทั้งสององค์
ที่กล่าวเป็นปราชญ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เช่นกัน  ผู้เขียนแนะนำพระนิพนธ์และนิพนธ์เรื่องสั้นที่เหมาะสมยิ่งสำหรับ
นักศึกษาแพทย์และแพทย์รุ่นน้องที่อาจจะมีเวลาไม่มากไว้อ่านด้วย

        สุดท้าย ขอแนะนำสมเด็จพระธีรญาณมุนี (พ.ศ. 2490-) แห่งวัดเทพศิรินทราวาส คือ สมเด็จฯ
ที่อายุน้อยกว่าผู้เขียนหนึ่งรอบนักษัตร (12 ปี) ที่ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นความหวังของคนไทยรุ่นใหม่ ผู้เขียนโชคดีได้รู้จัก
ท่านตั้งแต่ท่านบรรพชาใหม่ ๆ และยังได้ฟังธรรมจากท่านทุกปีจนปัจจุบัน !


แนะนำเอกสาร
1)  วิทยา เวชชาชีวะ (พ.ศ. 2559)  บัวบาน ปลัดกระทรวงต่างประเทศในช่วงเวลา 30 ปี จากยุคกรมท่าจนถึงปัจจุบัน   
     สำนักพิมพ์บริษัท แปลนสาร จำกัด  499 หน้า

2)  สมุดภาพวัดเทพศิรินทราวาส (พ.ศ. 2552)  วิชัย จรรยาทิพย์สกุล และคณะ จัดทำ  พิมพ์ที่บริษัท พลัสเพรส จำกัด
    
3)  สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19  (พ.ศ. 2552)  ชีวิตลิขิตได้  จัดพิมพ์เผยแพร่เป็น
     ธรรมบรรณาการ โดย ศาสตราจารย์ไชยยศ เหมะรัชตะ และคณะ  ผลิตโดย บริษัท ผลึกไท จำกัด เขตทวีวัฒนา 
     กรุงเทพฯ 10170  55 หน้า

4)  สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19  (พ.ศ. 2552)  ชีวิตนี้น้อยนัก  ผลิตโดย ธรรมสภาและ
     สถาบันบันลือธรรม เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170  14 หน้า
 
5)  พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)  (พ.ศ. 2541)  พุทธธรรม เล่มที่ 1-5 มูลนิธิพุทธธรรม 
     โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  1145 หน้า

6)  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)  (พ.ศ. 2559)  รักษาใจยามป่วยไข้ รักษาใจยามรักษาคนไข้   
     ที่ระลึกถึงในการพระราชทานเพลิงศพนายแพทย์หม่อมราชวงศ์พัชรีสาณ ชุมพล พิมพ์ครั้งที่ 11 
     โรงพิมพ์พระพุทธศาสนาของธรรมสภา  62 หน้า


7)  สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)  (พ.ศ. 2559)  ทำอย่างไร จะพูดได้เต็มปากว่า “เรารักในหลวง”
     สำนักพิมพ์ผลิธัมม์ ในเครือบริษัท สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด  กรุงเทพฯ  16 หน้า 

8)  สัมภาษณ์ นายวิทยา เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2559)  รางวัล 185 ปี พระองค์วรรณฯ ประจำปี 2559
     ใน “ปากไก่”  วารสารของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  หน้า 41

9)  พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)  อานาปานสติ  การหายใจที่ดับทุกข์ได้  คู่มือปฏิบัติสมบูรณ์แบบ
     172 หน้า  จัดพิมพ์ พ.ศ. 2552 ศูนย์หนังสือพระพุทธศาสนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170

10) พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธธาส อินทปัญโญ)  (พ.ศ. 2501)  คู่มือมนุษย์ ที่ระลึกในการพระราชทาน
      เพลิงศพนายแพทย์หม่อมราชวงศ์พัชรีสาณ ชุมพล  ศูนย์หนังสือพระพุทธศาสนา ธรรมสภา เขตทวีวัฒนา 
      กรุงเทพฯ 10170  142 หน้า 

11) ชยสาโร ภิกขุ  (พ.ศ. 2554)  ทำไมและหนี้ศักดิ์สิทธิ์ ฉบับพิเศษ แจกเป็นที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ
      นายแพทย์กุณฑล สุนทรเวช  24 เมษายน 2554  บริษัท คิวพริ้นท์แมเนจเม้น จำกัด  173 หน้า

12) ชยสาโร ภิกขุ  (พ.ศ. 2559)  เท่าทัน  กรุงเทพฯ  บริษัท โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ จำกัด  264 หน้า

13) อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2558)  P-Patriach (พระมหาเถระ)  ใน เกร็ดความรู้อายุรศาสตร์ A-Z เล่ม 4 
      กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์  หน้า 62-64
   

 

[ back ]