James Parkinson
โรคทางอายุรกรรมที่มีชื่อแพทย์เป็น “เจ้าของ” ที่แพทย์ นักศึกษาแพทย์และแม้กระทั่งคนทั่วไปรู้จักดี
เท่าที่นึกได้มีอยู่ 2 โรค คือ โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) และโรคฮอดจ์กิน (Hodgkins’s disease)
โรคหลังถึงขนาดมีโรคชื่อเนื้องอกต่อมน้ำเหลือง “ไม่ใช่ฮอดจ์กิน” (non-Hodgkin lymphoma) !
ในที่นี้จะขอพูดถึง “เจ้าของ” โรคประสาทที่ “ฮิต” มาก คือ นายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน
(James Parkinson, ค.ศ. 1755-1824)
แต่ก็แปลก ! ถ้าใครตีพิมพ์รูปหรืออ้างว่าเคยเห็นภาพพาร์กินสัน ใครคนนั้นหลอก ! เพราะไม่มีหลักฐานว่า
เจมส์เคยมีภาพตนเองเก็บไว้ ชื่อโรคที่ใช้เรียกบทความเรื่อง “อัมพาตสั่น” (The Shaking Palsy) ที่เขาเขียนและ
ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1817-7 ปีก่อนที่เขาถึงแก่กรรม ฌอง มาร์แตง ชาโก (Jean Martin Charcot, ค.ศ. 1825-1893) ประสาทแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวฝรั่งเศสต่างหากที่เป็นผู้ตั้งชื่อให้เมื่อ ค.ศ. 1876
ยิ่งไปกว่านั้นแพทย์เราอาจจะไม่ทราบว่านายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน ผู้นี้เป็นนักโบราณวิทยา
เชี่ยวชาญเรื่องศึกษาและสะสมซากสัตว์และพืชที่สูญพันธุ์แล้ว (paleontologist) ตัวยง เขาค้นพบซากสัตว์ (fossil)
ซึ่งเป็นแอมโมไนท์ (ammonite) ชนิดหนึ่งมีชื่อว่า Parkinsonia parkinsoni ดังปรากฏในหนังสือวิชาการทาง
ศาสตร์นี้เพียงหนึ่งปีก่อนเขาถึงแก่กรรม
เจมส์ พาร์กินสัน เป็นแพทย์ทำเวชกรรมทั่วไป (General Practitioner หรือ GP) ในตระกูลรุ่นที่ 2
บิดาชื่อนายแพทย์จอห์น (John) พาร์กินสัน ทำเวชปฏิบัติอยู่ที่บ้านเลขที่ 1 จตุรัสฮอกซ์ตัน (Hoxton Sqaure)
ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ตำบลชอร์ดิทช์ (Shoreditch) เมืองแฮคนีย์ (Hackney) ของมหานครลอนดอน ที่เรียกสุดทาง
ตะวันออกหรือ East End ซึ่งเป็นย่านคนจนตรงข้ามกับสุดทางตะวันตก (West End) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีเพราะ
เป็นย่านการค้าและบันเทิงของคนมีอันจะกิน ลูกชายของเจมส์ชื่อ จอห์น วิลเลียม (John William) เป็นแพทย์
ของตระกูลรุ่นที่ 3 ก็ทำเวชปฏิบัติร่วมกับบิดา และเป็นผู้ดูแลเขาเมื่อเป็นลมอัมพาตซีกขวา พูดสื่อความไม่ได้
(aphasia) และถึงแก่กรรมอีกไม่กี่วันต่อมาใกล้วันคริสต์มาสเมื่อ ค.ศ. 1824
เจมส์ พาร์กินสัน สนใจการเมืองมาก เป็นนักทำกิจกรรม (activist) ถึงขนาดเขียนใบปลิวสนับสนุน
การปฏิวัติในฝรั่งเศสและโจมตีกษัตริย์จอร์จที่ 3 (King George III) อังกฤษในเวลานั้นอยู่เริ่มยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
เมื่อการเมืองยุ่งเหยิงมากเจมส์ก็หันไปเขียนตำราแพทย์ เช่น โรคเกาต์ (Gout) สนใจดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคจิต
และปี ค.ศ. 1812 เมื่ออายุได้ 57 ก็ช่วยลูกชายเขียนโรคไส้ติ่งอักเสบแตกเป็นสาเหตุการตาย
มีเรื่องเล่ากันว่า พาร์กินสันเริ่มสนใจเรื่องโรคอัมพาตสั่นจากมองเห็นผู้ป่วยเดินเกาะผู้ช่วยในสวนสาธารณะ
จากนั่งอยู่ในบ้านและคลินิกขณะว่างจากการทำเวชปฏิบัติเวลาบ่ายในฤดูร้อน ! เมื่อเขาเขียน The Shaking Palsy
มีผู้ป่วย 3 รายและอีก 3 รายเป็นคนที่เขาเห็นในถนนรวมทั้งรายแรกใกล้บ้านที่กล่าวมาแล้ว ถึงแม้เจมส์ พาร์กินสัน
จะคาดคะเนผิดคิดว่าอัมพาตสั่นที่มือและแขนเกิดจากประสาทไขสันหลังที่คอ แต่ความช่างสังเกตและความเป็น
อัจฉริยะของแพทย์ผู้นี้ก็ได้จุดประกายให้แพทย์ทั่วโลกสนใจค้นคว้าเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันไม่หยุดยั้ง และ
วันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ก็จะเป็นวันพาร์กินสันโลกครบ 200 ปีที่เจมส์ พาร์กินสัน บันทึกเกี่ยวกับ
โรคนี้ไว้ !
ล่าสุด มีบทความทางประสาทวิทยาจากประเทศบราซิล พูดถึงชาโก (ค.ศ. 1825-1893) เวีย มิทเชล
(Weir Mitchell, ค.ศ. 1829-1914) ประสาทแพทย์ชาวอเมริกันเป็นผู้บุกเบิกศาสตร์นี้คนหนึ่ง และแอนดรู ลีส์
(Andrew Lees, ค.ศ. 1947-) ผู้เชี่ยวชาญโรคพาร์กินสันระดับโลกมีผลงานวิจัยตีพิมพ์กว่า 600 เรื่อง และมีเรื่อง
พาร์กินสันที่ถูกอ้างถึงมากที่สุดด้วย
สุดท้าย ประสาทแพทย์ไทยผู้สนใจถ้าไปเที่ยวลอนดอนและพอมีเวลาว่างจะแวะไปชมบ้านเลขที่ 1
จตุรัสฮอกซ์ตันก็ได้ แต่จะเห็นตึกใหม่สูงใหญ่มีโรงแรม ร้านค้าและภัตตาคารที่มีแกงเขียวหวานไก่ตำรับไทยบริการ
มหานครลอนดอนในย่านนั้นในช่วง 200 ปีเปลี่ยนแปลงมาก จนไม่เหลือบ้านเก่า ๆ หรือแม้แต่หลุมฝังศพของ
แพทย์ผู้มีชื่อโรคที่เป็นอมตะ !
แนะนำเอกสาร
1) อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พ.ศ. 2555) Paralysis Agitans ใน เกร็ดความรู้อายุรศาสตร์ A-Z เล่ม 1
กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ หน้า 53-55
2) Draaisma D. (2006). A tormenting rounds of tremors: Parkinson’s disease. In: Disturbances of
the mind. Cambridge University Press, UK. pp. 40-64.
3) Andrew J. Lees. (2007). The Parkinsonian Sphynx. The 8th Athasit Vejjajiva Lecture.
Faculty of Medicine, Ramathibodi Hospital, Mahidol University.
4) Teive HAG, Germiniani FMB, Kowacs PA, et al. (2016). Charcot, Mitchell and Lees: neurology
free thinkers and their experiences of psychoactive drugs. Arq Neuropsiquiatr. 74 : 1035-1038.
5) Wikipedia. 1 Hoxton Square: retrieved February, 2017.