กัลยาณมิตร

กัลยาณมิตร

        เพื่อนที่ดีงาม ปรารถนาดีต่อกัน มีเมตตาหรือไมตรี ปัจจุบันอาจหาได้ไม่ง่ายนัก เกือบทุกคนตั้งแต่
เป็นเด็กนักเรียนเล็กจนโตจะมีเพื่อนสนิททุกคน แต่เมื่อเรียนจบก็มักจะไม่ได้พบกันนอกจากไปประกอบวิชาชีพ
เดียวกันหรือต้องติดต่อในเรื่องการงานกันเสมอ เพื่อนร่วมวิชาชีพโดยธรรมเนียมไทยถ้าอายุห่างกันกว่า 5-6 ปี
ก็มักจะนับถือเป็นพี่เป็นน้องหรือเป็นอาจารย์ มักจะไม่กล้านับเป็น “เพื่อน” เป็น “กัลยาณมิตร” เหมือน
ธรรมเนียมตะวันตก

        ในที่นี้ผู้เขียนขออนุญาตนำเรื่องส่วนตัวเกี่ยวกับกัลยาณมิตรทั้งไทยและเทศของตนเองทั้งรุ่นพี่และ
รุ่นน้องมาเล่าสู่กัน ทั้ง 5 คนมีคุณลักษณะครบ 7 ประการ ตามที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ อ. ปยุตฺโต) 
แห่งวัดญาณเวศกวัน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม นิยามไว้

        กัลยาณมิตรที่ขอกล่าวถึงคนแรกคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี ซึ่งผู้เขียนรู้จัก
ตั้งแต่กลับจากอังกฤษมาทำงานอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ รู้สึกทึ่งและศรัทธาในความสามารถ บุคลิก 
ความมีไมตรีต่อทุกคนของเขา ติดตามอ่านบทความและหนังสือที่เขาเขียน ฟังเขาพูดถ้ามีโอกาส นอกจากเนื้อหา
สาระแล้วประเวศเขียนภาษาไทยง่าย ๆ ชัดตรงประเด็น ในที่นี้จึงขอถือวิสาสะนำเอาเรื่องเกี่ยวกับประเวศจาก
หนังสือเมื่อผู้เขียนอายุครบ 60 ปี และข้อเขียนของเขาในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ จอมพลถนอม 
กิตติขจร (พ.ศ. 2454-2547) นายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของไทย ผู้อ่านคงจะทราบและเพลิดเพลินกว่า
ถ้าผู้เขียนนำมาเล่า !



                                    ศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถสิทธิ์  เวชชาชีวะ
                                                ครูแพทย์และนักวิชาการ

        ผมรู้จักกับศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถสิทธิ์มานานมาก ตั้งแต่เขาเป็นอาจารย์ทางประสาทวิทยา 
อยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังไม่แต่งงาน  ในช่วง พ.ศ. 2512-2514 เคยร่วมทำ
โครงการด้วยกัน 2 เรื่อง  เรื่องหนึ่งคือการยกทีมเข้าไปเป็นกรรมการบริหารแพทยสมาคม เรื่องนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก
ผมเอาบทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ บรรณาธิการจดหมายเหตุทางแพทย์         
ของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย  นายแพทย์สมชัยได้ตีพิมพ์บทความดังกล่าว เนื่องจากบทความนั้นวิพากษ์
วิจารณ์แพทย์ จึงมีแพทย์อาวุโสหลายท่านโกรธบรรณาธิการ และมีข่าวว่าจะปลดบรรณาธิการออกจากตำแหน่ง 
พวกเราจึงวางแผนยกทีมเข้าไปเป็นกรรมการบริหารแพทยสมาคมเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปลดบรรณาธิการ
เพราะเหตุดังกล่าว การวางแผนนี้ทำกันที่บ้านนายแพทย์อรรถสิทธิ์ที่ซอยสวัสดี

        อีกเรื่องหนึ่งคือโครงการปฏิรูปโรงเรียนแพทย์ โดยทำกันสามคน คือ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ 
นายแพทย์เพรา นิวาตวงศ์ อาจารย์ศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนั้น และผม 
โดยทั้งสามปรึกษาหารือกันในเรื่องความอ่อนแอทางวิชาการของโรงเรียนแพทย์ และอยากเห็นการปรับระบบ
อาจารย์เป็นการมีอาจารย์เต็มเวลาให้ได้เงินเดือนสูง และอาจารย์ที่ทำเวชปฏิบัติส่วนตัว แต่มาสอนเป็นบางเวลา 
ที่เรียกว่าระบบ full time - part time

        เราได้ทำเรื่องเสนอ ครม. ไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2514 หมออรรถสิทธิ์และหมอเพราเป็นผู้ที่รู้จัก
นักการเมืองอย่างกว้างขวาง สามารถลอบบี้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนสำคัญ ๆ ทำให้ ครม. เห็นชอบด้วย
กับโครงการดังกล่าวได้ แต่โครงการนี้ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้เพราะแรงต้านของระบบสูง แม้แต่
ศาสตราจารย์ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในสมัยนั้นจะต้องการ
นำหลักการที่ ครม. เห็นชอบด้วยไปสู่การปฏิบัติ ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ เพราะแรงต้านทานของระบบ 
เหตุการณ์นั้นทำให้ผมเรียนรู้ว่าแม้ ครม. ก็ไม่ค่อยมีอำนาจที่จะก่อให้เกิดนวัตกรรมได้ นวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญ 
และเป็นกฎของธรรมชาติ เพราะสิ่งต่าง ๆ เป็นอนิจจังคือ เปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง  ถ้าระบบใดระบบหนึ่งไม่สามารถ
มีนวัตกรรมท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ก็จะเกิดวิกฤติและเสื่อมสลาย สังคมใดที่มีนวัตกรรมไม่ได้
จะวิ่งเข้าสู่วิกฤติการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ

        จากการร่วมโครงการนี้ทำให้อรรถสิทธิ์ เพรา และผมมีความสนิทสนมกัน ที่ว่าสนิทสนมนี้ไม่ได้
หมายความว่าจะไปเป็นแก๊ง หรือร่วมหัวจมท้ายอะไรกัน แต่ละคนไม่เหมือนกัน และเป็นตัวของตัวเอง แต่มี
ความเคารพกันและให้คุณค่าแก่มิตรภาพ ความแตกต่างหลากหลาย และมิตรภาพช่วยให้เกิดความยั่งยืน

        ถึงผมจะเป็นเพื่อนกับอรรถสิทธิ์ แต่ก็ไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของเขา แบบเชียร์กัน
ตะพึดตะพือ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาคมจะต้องพิจารณาเอาเอง ผมไม่อยู่ในฐานะที่จะไปให้คำรับรองได้ว่า
สิ่งที่เขาทำจะต้องถูกต้องดีงามไปหมด แต่ในฐานะที่รู้จักกันดีพอผมคิดว่าอรรถสิทธิ์มีความสุจริต (integrity) 
เป็นครูแพทย์ที่ดี และแม้อาจกล่าวได้ว่าเขามีความเป็นนักการเมือง แต่เขาไม่เคยทิ้งฐานทางวิชาการ เขาเป็น
นักวิชาการ และเห็นคุณค่าของวิชาการ วิชาการมีความสำคัญยิ่ง ปัญหาของสังคมไทย  ถ้าไล่เรียงกันไปถึงที่สุดแล้ว
คือ ความอ่อนแอทางวิชาการ

        ความสุจริต  ความเป็นครู  ความเป็นนักวิชาการ เป็นสิ่งที่มีค่าสูงยิ่ง

        อรรถสิทธิ์เคยเล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับลูกชายตั้งแต่ยังเล็กว่าใฝ่ฝันที่จะเป็นนักการเมือง  ผมเชื่อว่า 
คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่หลายคนคิดว่าเป็นนักการเมืองที่มีอนาคตอันยาวไกลนั้นคงจะต้องได้อะไรไปจากพ่อ
มากทีเดียว

        ในโอกาสที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะมีอายุครบ 5 รอบนักษัตรในปีนี้  
ผมขออวยพรให้อายุมั่นขวัญยืน และสามารถทำประโยชน์แก่อนุชนคนรุ่นหลัง และสังคมเป็นส่วนรวมไปได้อีกนาน
ที่สุด ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทยเช่นนี้




                                             รู้จักจอมพล ถนอม ผ่านกัลยาณมิตร

        ผมไม่รู้จักท่านจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นการส่วนตัว เมื่อท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 
ครั้งหนึ่งมีงานในวัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผมร่วมโต๊ะเสวย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี
อยู่ด้วย แต่ก็ไม่มีเหตุอันใดที่ท่านจะรู้จักผมเป็นการส่วนตัว  วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ ผมกับ  
คุณหมอจันทพงษ์ได้รับพระราชทานน้ำสังข์ในงานมงคลสมรส ณ วังไกลกังวล ในโอกาสเดียวกันนั้น 
ลูกสาวท่านนายกรัฐมนตรี คือ คุณทรงสุดา กิตติขจร กับ ดร. สุวิทย์ ยอดมณี ก็ได้รับพระราชทานน้ำสังข์ด้วย 
ผมจึงถือว่า ดร. สุวิทย์กับคุณหญิงทรงสุดา เป็น “เพื่อนร่วมรุ่น” และทักทายกันเสมอเมื่อพบปะในงานต่างๆ 

        ก่อนหน้านั้น ที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่ผมสังกัดอยู่ เกิดมีเรื่อง
ที่อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งอ้างเส้นท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร จะให้บรรจุแฟนของท่านเป็นอาจารย์ ทั้ง ๆ ที่อาจารย์
อายุรศาสตร์โหวต ๒๖ ต่อ ๐ ว่าไม่สมควรรับ พวกเราหลายคนบุกไปที่สำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อแจ้งกับ 
ม.ล. นวลผ่อง เสนาณรงค์ เลขานุการของท่านผู้หญิงจงกลว่าเราจะขอพบท่านผู้หญิง เมื่อ ม.ล. นวลผ่อง 
ทราบเรื่องราวก็บอกพวกเราว่าเรื่องอย่างนี้ท่านผู้หญิงไม่เล่นด้วยหรอก  พอเรากลับมาศิริราชไม่นานก็มีโทรศัพท์
มาตามอาจารย์หมอจิตต์  ตู้จินดา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ ว่าท่านผู้หญิงจงกลอยากพบ อาจารย์หมอจิตต์
ยิ้มแย้มกลับมาจากการพบท่านผู้หญิงจงกล ซึ่งแจ้งกับท่านว่าท่านไม่สนับสนุนให้ทำอย่างนี้  

        เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๑๔ พวกเรา ๓ คน คือ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  นายแพทย์เพรา 
นิวาตวงศ์ และผม ได้ทำหนังสือถึงจอมพล ถนอม นายกรัฐมนตรี เสนอเรื่องการปฏิรูปโรงเรียนแพทย์ โดยทำเรื่อง
ผ่านพลเอก แสวง เสนาณรงค์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยงานของจอมพล ถนอมอย่างใกล้ชิด งานนั้นทำให้ผมไปรู้จักกับพลเอก 
แสวง เสนาณรงค์ และท่านผู้หญิงนวลผ่อง เสนาณรงค์ ทั้งสองท่านเป็นคนที่เจริญ กล่าวคือมีความรู้สูง 
มีความซื่อสัตย์สุจริตมั่นคง และเห็นแก่ประเทศชาติยิ่งนัก  ทั้งสองท่านมีความเคารพในตัวจอมพล ถนอมและ
ท่านผู้หญิงจงกลมาก ในทางกลับกันท่านจอมพล ถนอมกับท่านผู้หญิงจงกลก็รักใคร่ไว้วางใจพลเอก แสวงและ
ท่านผู้หญิงนวลผ่องมาก ผมได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับคุณงามความดีของจอมพล ถนอม จากสองสามีภรรยาคู่นี้มาก  
หมออรรถสิทธิ์และหมอเพราซึ่งรู้จักจอมพล ถนอมเป็นการส่วนตัว  ก็มีความเห็นเกี่ยวกับจอมพล ถนอม
เช่นเดียวกับพลเอก แสวงและท่านผู้หญิงนวลผ่อง

        คราวหนึ่งจอมพล ถนอมจะมาเป็นประธานเปิดการประชุมเกี่ยวกับการแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี 
หมอเพราวานให้ผมร่างคำกล่าวเปิดประชุมให้นายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่เป็นเหตุที่ท่านจะรู้จักผมเป็นการส่วนตัว

        โครงการปฏิรูปโรงเรียนแพทย์นั้นผมเป็นคนยกร่าง ส่วนหมออรรถสิทธิ์และหมอเพรา ซึ่งรู้จัก
นักการเมืองและนายทหารมากเป็นผู้ทำการตลาด  ท่านผู้หญิงจงกลถึงกับอ่านโครงการปฏิรูปโรงเรียนแพทย์ให้
จอมพล ถนอมฟังขณะรับประทานอาหาร และพูดเสริมว่าเขาเขียนไว้ดีนะ !   เมื่อเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.  
ครม. ได้มีมติเห็นชอบด้วย อาจารย์โรงเรียนแพทย์จำนวนมากคัดค้านและต่อต้านการปฏิรูปโรงเรียนแพทย์  
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ จอมพล ถนอม ทำการปฏิวัติ และตั้งกองบัญชาการ คณะปฏิวัติขึ้นทำงานแทนรัฐบาล 
คณาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ร่วมลงนามประมาณ ๘๐ ท่าน ทำหนังสือถึงหัวหน้า
คณะปฏิวัติให้ล้มเลิกโครงการปฏิรูปโรงเรียนแพทย์  แต่คณะปฏิวัติก็ไม่รับฟังยังสนับสนุนการปฏิรูป
โรงเรียนแพทย์อยู่  กระนั้นก็ตามต่อมาโครงการนี้ต้องยุติลง และเป็นบทเรียนกับเราว่าการริเริ่มเปลี่ยนแปลงอะไร
ในสังคมไทยเป็นของยาก แม้ ครม. และ คณะปฏิวัติเห็นด้วยก็ยังทำไม่ได้

        เรื่องหนึ่งที่พลเอก แสวง เสนาณรงค์ เล่าให้ฟังก็คือท่านเสนอต่อจอมพล ถนอมว่า ถ้าไม่ปฏิรูปที่ดิน
จะแก้ปัญหาของคนยากจนไม่ได้ จอมพล ถนอมก็เห็นด้วย แล้วก็ลงมือจะปฏิรูปกัน ตอนนั้นก็มีการเล่าลือกันว่า
ในสำนักนายกรัฐมนตรีของจอมพล ถนอมมีคอมมูนิสต์อยู่ ๒ คน !  การจะแก้โครงสร้างเพื่อคนจนเป็นเรื่อง
ที่ยากมาก

        น่าเสียดายที่คนดี ๆ อย่างพลเอก แสวง เสนาณรงค์ อายุไม่ยืน ท่านมาถึงแก่กรรมกับผมด้วยโรคหัวใจ
ที่โรงพยาบาลศิริราช  การที่เพื่อนผม ๒ คน คือ หมออรรถสิทธิ์ กับหมอเพรา และพลเอก แสวง กับท่านผู้หญิง
นวลผ่อง เสนาณรงค์ ผู้ซึ่งผมเคารพรัก มีความเห็นในทางที่ดีต่อ จอมพล ถนอม ทำให้ผมคิดว่าท่านจะต้องมี
ความดีอยู่ในตัว จึงเป็นที่เคารพรักของคณะทหารจำนวนมาก รวมทั้งของกัลยาณมิตรของผมดังกล่าวข้างต้น 
ทั้ง ๆ ที่ผมไม่รู้จักท่านเป็นการส่วนตัวเลย เพียงแต่เฉียดไปเฉียดมาดังเล่าข้างต้น

        เมื่อปลายเดือนมกราคม ๒๕๔๙ ในงานพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม 
ผมพบ “เพื่อนร่วมรุ่น” คือ ดร. สุวิทย์ – คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี ผมเล่าให้ทั้งสองฟังว่าผมเพิ่งฝันเห็น
จอมพล ถนอมเมื่อ ๒ คืนมานี้เอง ฝันว่าท่านเดินตรวจงานก่อสร้างอุโมงค์แห่งหนึ่ง และบ่นว่ายังไม่เรียบร้อย 
คุณหญิงทรงสุดาได้ยินก็ว่า ขนลุกเลย  “คุณพ่อชอบตรวจงานก่อสร้าง” แล้วเลยชวนให้ผมเขียนเกี่ยวกับบิดาของเธอ 
นี้จึงเป็นที่มาของบทเล่าสั้น ๆ เกี่ยวกับ “รู้จักจอมพล ถนอม ผ่านกัลยาณมิตร” ที่กำลังจบลงแล้วนี้

        เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น  เราทุกคนไม่ว่าจะสวมหัวโขนทางสังคมการเมืองอย่างใด  
โดยความจริงถึงที่สุดแล้วล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน  ถ้าเราเข้าถึงความจริงอันเป็นหนึ่งเดียวกันได้จะเกิดความรัก
อันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติทั้งหมด
                                 
                                                                                นายแพทย์ประเวศ  วะสี




        ประเวศ เพรา และผู้เขียน นาน ๆ จึงจะได้พบกันและรับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน 
นับได้ 4-5 ครั้งใน 50 ปี ครั้งล่าสุดก็ 8-9 ปีมาแล้ว จำได้ว่าเคยแนะนำให้เพื่อนชาวอังกฤษ (ที่จะกล่าวถึง) รู้จัก 
เขาคุยกับประเวศแล้วยังเอ่ยว่า “เขาเป็นเสมือนนักบุญ (He is a saintly man) !” เท่าที่จำได้ผู้เขียนดูจะมีเรื่อง
รบกวนประเวศแทบทั้งนั้น เช่น เมื่อเราเริ่มโครงการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ก็เชิญประเวศไปพูด ณ ที่ประชุมสโมสร
โรตารีดุสิต เพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมงความที่ประเวศเล่าเรื่องล้ำลึกได้ดี เราก็ได้รับเงินบริจาคทันทีหกหมื่นบาท 
เป็นทุนตั้งต้นให้ประกิต (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ  นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ พ.ศ. 2487-) ทำงานได้ !

        ผู้เขียนขอแนะนำบทความที่ประเวศกรุณาเขียนให้หนังสืองานศพแม่ผู้เขียนเมื่อ 25 ปีก่อน 
แต่ยังทันสมัยอยู่ และเมื่อปีที่ผ่านมาประเวศก็กรุณารับเชิญพี่น้องลูกหลานของตระกูลไปปาฐกถา 120 ปีชาตกาล 
ลุงผู้เขียน และหนังสือ “การตื่นรู้ อนาคตของมนุษยชาติที่กำลังผุดบังเกิด” ที่ประเวศให้เป็น ส.ค.ส. 2560 
ซึ่งถ้าผู้ใดยังไม่ได้อ่าน ขอแนะนำหาไว้อ่านแล้วจะวางไม่ลง !

        ถ้าถามผู้เขียนว่าเคยแนะนำประเวศในเรื่องไหนบ้าง ก็ขอตอบว่าเคยบ้างแต่น้อยครั้ง ที่พอจำได้แน่ก็คือ 
เรื่องเมื่อ พ.ศ. 2519 เมื่อราชการไทยแก้ไขให้มีการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการใหม่สำหรับอาจารย์ใน
มหาวิทยาลัยแต่ยังคงให้ตำแหน่งผูกพันกับเงินเดือนและให้อาจารย์เป็นผู้ขอตำแหน่งเอง ประเวศจะไม่ขอทั้งที่
ผลงานเหลือเฟือ ผมก็เห็นด้วยว่าไม่ควรเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อคิดดูว่าเงินเดือนเป็นของคู่สมรสร่วมกันและ
เมื่อเกษียณแล้วอาจจะไม่ยุติธรรมไปถึงลูกด้วย จึงติงเขาไปประเวศจึงยอม  ในเรื่องนี้เมื่อผู้เขียนขึ้นดำรงตำแหน่ง
หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ เลยมอบให้เป็นหน้าที่ของเลขานุการดูแลอาจารย์ในภาคฯ เมื่อถึงกำหนดที่ขอตำแหน่ง
ศาสตราจารย์ได้ก็ให้หัวหน้าภาควิชาฯ เป็นผู้ขอให้เอง ทำให้อาจารย์ในภาคฯ เช่น อาจารย์นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ 
(พ.ศ. 2481-) ยินยอมรับและผลงานก็ผ่านอย่างง่ายดายเช่นกัน

        เมื่อพูดถึงเพรา นิวาตวงศ์ (พ.ศ. 2479-) มาแล้วก็เลยขอเขียนเพิ่มเติมเพราะแพทย์รุ่นหลัง ๆ อาจจะ
ไม่รู้จัก  เพราเป็นศัลยแพทย์ อายุอ่อนกว่าและจบมัธยมบริบูรณ์ที่อัสสัมชัญหลังผู้เขียนหนึ่งปี  เรารู้จักกันตั้งแต่
เรียนที่นั่น แต่มารู้จักกันดีมากเมื่อผู้เขียนกลับจากนอกและไปเริ่มทำงานที่จุฬาฯ  เพราเป็นแพทย์ประจำบ้าน
ศัลยศาสตร์หนึ่งในสามคนทั้งโรงพยาบาล เราจึงสนิทสนมกัน ความที่เพราเป็นโสดและไม่ทำส่วนตัว นอนที่หอพักฯ
จึงมีโอกาสได้ผ่าตัดตลอด 24 ชั่วโมง ได้ประสบการณ์มากเมื่อได้ทุนไปศึกษาต่อที่ลอนดอนจึงสามารถสอบ FRCS 
(Fellow of the Royal College of Surgeons) ได้ภายในไม่ถึงหนึ่งปี  โชคดีได้ทำงานกับศาสตราจารย์ไบรอัน บรูคส์
(Bryan Brooks, FRCS) และเซอร์ รอดนีย์ สมิธ (Sir Rodney Smith, FRCS) ศัลยแพทย์ที่มีชื่อเสียงมากอยู่ 
3-4 ปี ที่โรงเรียนแพทย์เซนต์จอร์จ ในลอนดอน จึงมีประสบการณ์ด้านผ่าตัด สอนนักศึกษาแพทย์ และ
แพทย์ประจำบ้านมากเพราะเซอร์ รอดนีย์ รักและไว้ใจมาก  เพราเป็นคนตรง พูดจาโผงผางแต่สนิท และศรัทธา
ประเวศมากไม่แพ้ผู้เขียน

        ศาสตราจารย์นายแพทย์ธาดา ยิบอินซอย (พ.ศ. 2477-2554) อายุแก่กว่าผู้เขียนหนึ่งปี จบแพทย์
จากคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff) ประเทศเวลส์ (Wales) และสอบได้ MRCP (London) ก่อนผู้เขียน 3 เดือน นับเป็น
คนไทยคนแรกที่สอบได้ “membership” จากลอนดอน  เรารู้จักกันที่ประชุมสมาคมนักเรียนไทยในอังกฤษ 
(สามัคคีสมาคมฯ) ธาดาเริ่มทำงานที่ศิริราชก่อนไปทำวิจัยและทำงานที่สหรัฐอเมริกาหลายปีจนมีชื่อเสียง 
และเป็นศาสตราจารย์ที่นั่นก่อนกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ธาดากับผมติดต่อกันอยู่เสมอ ๆ 
แลกเปลี่ยนความรู้กัน บางครั้งเมื่อท้อแท้กับระบบงานก็ให้กำลังใจกันและกัน เคยเชิญธาดาให้ปาฐกถากัลยาณกิติ์
ที่รามาฯ ก่อนไม่สบายมากและจากไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว (มกราคม 2554) ก็ส่งอีเมลล์ถึงผู้เขียนตามข้อความข้างล่างนี้



Professor Athasit Vejjajiva

From: <ytada@medicine.psu.ac.th>
To: "AthasitVejjajiva"<raavj@mucc.mahidol.ac.th>
Sent: 25 มีนาคม 2548 7:42
Subject: your 4th book

Thank you.  I have always been amazed by your comprehensive grasp of general medicine 
despite being so channeled into neurology and administration.  (obviously I am incapable of juggling 
so many).  You also did a good job of  helping us realize publications from our own community.
Keep on at it 



        ธาดาคือปูชนียแพทย์ที่มีคุณูปการต่อประเทศเป็นอย่างมาก เสียดายที่จากไปก่อนวัยอันควร 
เลยขอประชาสัมพันธ์หนังสือ “คือแพทย์ผู้ให้ด้วยหัวใจ ธาดา ยิบอินซอย” โครงการสำหรับนักเรียนในชนบทของ
มูลนิธิหมอชาวบ้านมา ณ ที่นี้ด้วย

        กัลยาณมิตรของผู้เขียนไม่ใช่แพทย์ก็มี คุณบรรยงค์ ล่ำซำ (พ.ศ. 2476-) เป็นอาทิ เรารู้จักกันตั้งแต่
เป็นนักศึกษาที่อังกฤษและได้รับเลือกให้เป็นกรรมการสามัคคีสมาคมฯ (สมาคมนักเรียนไทยในอังกฤษ) 
ผมเข้ารับตำแหน่งบรรณารักษ์  ส่วนคุณบรรยงค์รับตำแหน่งนั้นอยู่ก่อนและกำลังเปลี่ยนไปรับงานในตำแหน่ง
เกฬา (กีฬา) กรรมการเมื่อได้รับเลือกอีก ช่วงเวลานั้นห้องสมุดสมาคมกำลังย้ายจากสถานทูตที่ 23 Ashburn 
Place ไปอยู่ที่สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนที่ 28 Princes’ Gate ซึ่งไม่ไกลกันนัก ยังจำได้ว่าคุณบรรยงค์อุตส่าห์
พาผมเดินจากที่เก่าไปที่ใหม่และแนะนำงานให้  คุณบรรยงค์เป็นอัสสัมชนิกและเป็นรุ่นเดียวกับพี่ชายของผู้เขียน 
คุณบรรยงค์สนิทกับธาดามาก เมื่อภาระการงานน้อยลงจนที่สุดเมื่อเกษียณเราพบปะกันเป็นประจำ เรายังนึกถึง
ธาดาเสมอ ๆ

        นายแพทย์เจอราลด์ สเติร์น (Gerald Stern, FRCP) แก่กว่าผู้เขียน 6 ปี เรารู้จักกันเมื่อผมไปทำงานที่
นิวคาสเซิลกับศาสตราจารย์นายแพทย์เฮนรี มิลเลอร์, FRCP (ค.ศ. 1913-1976) เมื่อ ค.ศ. 1963 ขณะที่
เจอราลด์เป็น First Assistant  เจอราลด์จบแพทย์และรับการฝึกอบรมครบกับ ลอร์ด เบรน (Lord Russell Brain)
ประสาทแพทย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น  เจอราลด์เป็น ทั้งแพทย์ ครูและเพื่อนที่ดีมาก ไปทำงาน
ที่นิวคาลเซิลไม่ถึง 2 ปี ก็ได้ตำแหน่งประสาทแพทย์ที่ปรึกษา (Consultant Neurologist) ที่ University College, 
London และเจริญก้าวหน้าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าของโลกในเรื่อง โรคพาร์กินสัน เป็น “ลูกพี่” ของ 
Andrew Lees, FRCP (ค.ศ. 1947-) ศาสตราจารย์ทางประสาทวิทยาที่โด่งดัง ทั้งสองเป็น “ครู” ของนายแพทย์
ไพโรจน์ บุญคงชื่น นายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน (พ.ศ. 2560-2562)  เจอราลด์ ภรรยา
และลูกๆ ทั้งสามคน รู้จักกับผม ภรรยาและลูกดีมากมาตั้งแต่ลูก ๆ ยังเล็ก  เมื่อไม่นานมานี้เขาก็แวะมาเที่ยว
เมืองไทยอีกและเขียนบันทึกสั้น ๆ ตามหลังดังนี้



----------------- Forwarded message -------------
From:  Gerald Stern
Date:  Monday, July 1, 2013
Subject:  Re: Greetings from Mumbai.
To:  jane@silkroadagency.com

Dear Vejj,
I am so pleased that I broke my return journey in Bangkok and had the great
pleasure of  seeing you.  I must tell you of my admiration of the courage,
determination and cheerfulness you clearly show in coping with your disability. 
After decades of comforting disabled patients, to still have the ability to 
demonstrate these wonderful human qualities yourself is miraculous.
Thank you for your kind generosity in hosting such a splendid lunch with your 
friends and colleagues. It is clear that they share my admiration for your courage.
Please keep in touch. Old friends like you and Noshir are increasingly valuable.
With admiration and respect,
All good wishes,
Gerald



        ลอร์ด วอลตัน หรือศาสตราจารย์นายแพทย์จอห์น นิโคลาส วอลตัน (Lord Walton of Detchant, 
FRCP, ค.ศ. 1923-2016) เป็นกัลยาณมิตรชาวต่างประเทศของผู้เขียน คงเกือบจะไม่มีประสาทแพทย์คนไหน
ที่ไม่รู้จักผลงานของจอห์น เขาเพิ่งได้รับการยกย่องจากบรรณาธิการวารสารประสาทวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา 
ซึ่งเป็นประสาทแพทย์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงมากยกย่องจอห์นว่าเป็น “บิดา” แห่งเปสะวิทยาเวชกรรม 
(Father of Clinical Myology) !  ผู้เขียนลังเลที่จะเรียกจอห์นว่า “เพื่อน” แต่เขานับผมเช่นนั้น เราสนิทกันมาก 
ที่ไม่ลืมก็คือ ทั้งจอห์นและเจอราลด์ก็เคยไปเยี่ยมแม่ของผู้เขียนที่บ้านสีลม  ที่จริงถ้านับทั้ง 2 คนนี้แล้วอาจารย์
แพทย์ไทยอีก 2-3 คนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับเจอราลด์ที่ผู้เขียนเคารพรักและเป็นเสมือนกัลยาณมิตร
เหมือนเจอราลด์และจอห์นก็คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์ (พ.ศ. 2471-2549) 
อาจารย์นายแพทย์ปราสาท ปราสาททองโอสถ (พ.ศ. 2475-)  ศาสตราจารย์นายแพทย์ขจร ประนิช 
(พ.ศ. 2471-2541)  แพทย์จุฬารุ่น 2  และคุณบุญชู โรจนเสถียร (พ.ศ. 2464-2550) อดีตรองนายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยอาจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งสองท่านเป็น
ผู้ริเริ่มโครงการ “เงินผัน” สู่ชนบทที่เลื่องลือ  สองท่านหลังให้ความเป็นกันเองกับผู้เขียนซึ่งต่างวัยมาก 
ทั้งสองเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ฉลาดและมีไมตรี คุยด้วยไม่เบื่อ  นอกจากที่กล่าวนามมาแล้วก็มีศาสตราจารย์
นายแพทย์ดนัย บุนนาค (พ.ศ. 2473-2558) แห่งคณะเขตร้อนฯ มหิดล  พี่ไข่จบจากคาร์ดิฟฟ์ เวลส์ เป็น
เพื่อนสนิทกับธาดา เรา 3 คนจึงสนิทสนมกันมาก  ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ (พ.ศ. 2476-) 
ภรรยาและลูก ๆ ก็สนิทกับครอบครัวผู้เขียนมากเพราะบุตรชายเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็กจนปัจจุบัน และ
ศาสตราจารย์นายแพทย์อนันต์ เตชะเวช ซึ่งเรียนหนังสือด้วยกันที่อัสสัมชัญตั้งแต่เด็ก เป็นอาจารย์แพทย์ด้วยกัน
จนปัจจุบันบ้านก็อยู่ในซอยเดียวกัน !


        เพื่อนแพทย์ต่างประเทศที่สนิทสนมกันเป็นรุ่นน้องผู้เขียน 3 ปี ที่ต่อมาเป็นประสาทศัลยแพทย์ที่มี
ชื่อเสียงมากในโลกคือ เซอร์ แกรแฮม ทีสเดล (Sir Graham Teasdale, ค.ศ. 1940-) เจ้าตำรับกลาสโกว์โคมาสเกล 
(Glasgow Coma Scale)  แกรแฮมเคยมาบรรยายที่รามาธิบดี 10 กว่าปีมาแล้ว และเขียนข้อความข้างล่างนี้ไว้ให้ 



                                                Professor Athasit Vejjajiva

My memories of our time together in Newcastle remain fresh and I have cherished our warm friendship 
over the years.  Can it really be 30 years since we were together at the beginning of the 'golden age' 
of Neurology in Newcastle Upon Tyne?  Since then Newcastle’s name has been linked throughout 
the world with research into muscle disease, reflecting the outstanding contributions and tireless endeavours of the then 'Doctor', now Lord Walton.  However our chief mentor at that time was 
his senior colleague, Henry Miller – at that time renowned as a brilliant diagnostician, as a promoter of scientific evaluation of treatments for multiple sclerosis, and as a public speaker and raconteur.  His style was reflected in his middle initial 'G' 'for Gorgeous'.  Henry’s reputation had attracted around him a galaxy of rising international stars of neurology – amongst whom you certainly shone brightly.

Having decided that I should learn something about Neurology – of which we gained surprisingly little 
exposure as undergraduates – I had the unenviable task of following in your footsteps as a junior member 
of the clinical team.  Fortunately you, and many others, were ever ready to excuse my ignorance and 
shepherd my early actions so that nothing went too far amiss.  However, beyond this, you engaged me in 
a collaboration that was both enjoyable and influential in my later career.  At that time, there was interest 
in the measurement of the concentration of various enzymes in the blood as a method of diagnosis of muscle disease and detection of carriers of dystrophy.  The question that you saw was the extent to which exercise might affect such results and you had noted that I would disappear from the ward on Saturday afternoons, to reappear a day, or even 2 later, bearing various bumps and bruises.  
On discovering this was the result of activities on the rugby field, you stimulated me to take samples of blood from my team mates before and after a game.  The results led to our joint publication in the British Medical Journal and to further research into the effects in rowers – a form of exercise that was certainly more vigorous and less destructive.  This collaboration had a number of consequences.  It showed me 
the importance of addressing important, practical questions – Henry used to say that the best research ideas came after a question was raised on ward rounds – and how a simple, experiment, based upon 
a perceptive idea, could yield interesting and influential results.  It contributed to the development and fascination I gained for diseases of the nervous system and to my eventual decision to follow a career 
in Neurology – albeit of the surgical kind.  Perhaps an even more important immediate practical lesson 
was the value in CV publications when applying for the subsequent posts that led me from Newcastle 
to London, Birmingham and eventually Glasgow!

In the last 30 years I have followed your career with admiration.  I have also valued and enjoyed 
my continuing friendship with yourself and Sodsai and can only regret I cannot match your record as 
a meticulous regular correspondent.

I give you my warmest congratulations and very best wishes on this happy occasion.



        แพทย์ไทยรุ่นน้องและศิษย์ที่สนิทกันเสมือนกัลยาณมิตรก็มีหลายคน

        ผู้หญิงด้วยกันก็มีกัลยาณมิตร และที่จริงโดยสภาวะในสังคมปัจจุบันกัลยาณมิตรนั้นนอกจากต่างวัยแล้ว
ต่างเพศเช่นเดียวกับเพศที่สามก็ควรจะรวมอยู่ด้วยน่าจะได้ เป็นมิตรภาพแบบเพลโต (Plato, B.C. 428-348) !



แนะนำเอกสาร
1)  พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พ.ศ. 2531  พิมพ์ครั้งที่ 4  
     บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด  กรุงเทพฯ หน้า 11 และ หน้า 195-196

2)  นิภาภรณ์ อจละนันท์  (พ.ศ. 2538)  ครบ 5 รอบ ศาสตราจารย์นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  
     ศาสตราจารย์นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครูแพทย์และนักวิชาการ โดย ศาสตราจารย์
     นายแพทย์ประเวศ วะสี  โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด  กรุงเทพฯ  หน้า 158-159

3)  ประเวส วะสี  (พ.ศ. 2549)  “รู้จักจอมพลถนอมผ่านกัลยาณมิตร” ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ 
     จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศถนอม กิตติขจร ปจ., สร., มปช., มวม., อปร. 2, ภปร 1 
     ณ เมรุหน้าพับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศรินทราวาส  บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
     กรุงเทพฯ  หน้า 96-97 

4)  ประเวศ วะสี  (พ.ศ. 2533)  กระแสใหญ่ในสังคมไทยกับความมั่นคงของประเทศ ใน 
     อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นางสุเพี้ยน เวชชาชีวะ เป็นกรณีพิเศษ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส  
     วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2533  บริษัท วัฒนกิจการพิมพ์ จำกัด  กรุงเทพฯ
     หน้า 55-76

5)  ประเวศ วะสี  (พ.ศ. 2559)  ปาฐกถาเกียรติยศ “บนเส้นทางสร้างสุขภาพเพื่อคนไทยทั้งมวล”   
     ในโอกาสครบรอบ 120 ปี แห่งชาตกาลของพระบำราศนราดูร (บำราศ เวชชาชีวะ)       
     ณ สถาบันบำราศนราดูร นนทบุรี  วันที่ 27 พฤษภาคม 2559  

6)  วิทยา เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2559)  บำราศนราดูร นามนี้มาแต่ใด  พิมพ์ที่ โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ จำกัด  
     กรุงเทพฯ  259 หน้า

7)  ประเวศ วะสี  (พ.ศ. 2559)  การตื่นรู้ อนาคตของมนุษยชาติที่กำลังผุดบังเกิด  พิมพ์ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด 
     ภาพพิมพ์  กรุงเทพฯ  102 หน้า

8)  หนังสือครบรอบ 48 ปี แพทยสภา ปูชนียแพทย์  (พ.ศ. 2559)  ศาสตราจารย์นายแพทย์ธาดา ยิบอินซอย  
     บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)  กรุงเทพฯ  หน้า 154-155

9)  “คือแพทย์ผู้ให้ด้วยหัวใจ ธาดา ยิบอินซอย”  (พ.ศ. 2560) โครงการมูลนิธิหมอชาวบ้านสำหรับนักเรียน
     ในชนบท  หมอชาวบ้าน 454 ปีที่ 38  หน้า 90

10) Essays for Andrew.  (2008).  A festschrift for Andrew John Lees.  Privately published by 
      The Virginia Keiley Benefaction.  Printed and bound by Remous Ltd., Sherborne, Dorset, UK.  
      255 pp.

11) Walton J.  (1993).  Lord Walton of Detchant.  The Spice of Life.  From Northumbria to World 
      Neurology.  Royal Society of Medicine Services.  William Heinemann Ltd., London.  663 pp.     

12) Griggs RC, Hilton-Jones D.  (2016).  In Memoriam: Lord Walton of Detchant MD (1922-2016).  
      Neurology.  87: 1196-1197.

13) Teasdale GM.  (2005).  Assessment of Head Injuries: 30 years of the Glasgow Scales.  
      6th Athasit Vejjajiva Lecture.  Faculty of Medicine, Ramathibodi Hospital, Mahidol University, 
      Bangkok, Thailand.



 

[ back ]