Agelessness
คือ ภาวะหนุ่มสาวนิรันดร์ !
คนสนใจอยากมีอายุยืนกันมานานแล้ว ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้สูงอายุมากขึ้น ปัญหาไม่อยากแก่
อยากมีชีวิตอยู่ไปนาน ๆ เป็นที่สนใจกันมาก ที่จริงยาอายุวัฒนะก็เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่เกือบ 500 ปี
ก่อนคริสตกาล !
ความเจริญในเรื่องเทคโนโลยีระดับโมเลกุลเป็นที่สนใจไม่แต่เพียงเฉพาะนักวิทยาศาสตร์และแพทย์
แต่รวมไปถึงมหาเศรษฐีระดับโลกที่ไม่อยากตาย คิดหาวิธีให้ชีวิตคนเป็นอมตะ ไม่แก่ มีสุขภาพดี เป็นมนุษย์
สายพันธุ์หนุ่มสาวนิรันดร์
เมื่อไม่ถึง 50 ปีมานี้ เอลิซาเบท เฮเลน แบลคเบิร์น (Elizabeth Helen Blackburn, ค.ศ. 1948-)
นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียนโดยกำเนิด ที่เบอร์คลีย์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ทำวิจัยร่วมกับเครอล
ดับบลิว ไกรเดอร์ (Carol W. Greider, ค.ศ. 1961-) นักพันธุกรรมศาสตร์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย
จอห์นส์ฮอปกินส์ และแจค ดับบลิว โซสแตค (Jack W. Szostak, ค.ศ. 1952-) นักพันธุกรรมศาสตร์ชาวอังกฤษ
แต่ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ค้นพบเอนซัยม์
ทีโลมีเรส (telomerase) ซึ่งมีหน้าที่เติมทีโลเมียร์ (telomere) ที่อยู่ที่ปลายหรือเรียกว่าหมวกโครโมโซมไม่ให้พร่อง
ทั้ง 3 คนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ในปี ค.ศ. 2009 ต่อมา จีรอน (Geron)
บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพแยกยีนสำหรับ อาร์เอ็นเอ (RNA) และโปรตีนที่ทีโลเมียร์ของคนได้สำเร็จ จึงทราบว่า
การที่ทีโลเมียร์สั้นลงเกิดเมื่อเซลล์แก่และการกระตุ้นเสริมสารนี้ทำให้เซลล์ไม่ตาย
ปัจจุบันเราทราบกันดีว่า การออกกำลังกายเป็นยาวิเศษ ลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และ
สามารถชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อมอัลซ์ไฮเมอร์ได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีรายงานวิจัยบ่งชี้ว่าการออกกำลังชะลอ
การสั้นลงของทีโลเมียร์นั่นก็คือ ยืดอายุขัย มีผู้ค้นพบสารเรียก nuclear respiratory factor 1 (NRF1) ที่กำกับ
การผลิตสารที่ควบคุมการสั้นลงของทีโลเมียร์โดยการออกกำลังไปช่วยเพิ่ม NRF1
เมื่อ พ.ศ. 2557 กลุ่มนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเวลส์ (Wales) ที่กรุงคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff) พบว่า การใช้
ยาเมตฟอร์มิน (Metformin) ในผู้ป่วยเบาหวานแบบที่ 2 ทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวานโดยเฉลี่ย
ร้อยละ 15 ! โดยเชื่อว่าเมตฟอร์มินไปรบกวนกระบวนการ Glycation ซึ่งทำให้น้ำตาลไปรวมกับโปรตีนและโมเลกุล
ที่สำคัญระงับการทำงานที่ก่อชราภาพ เมตฟอร์มินราคาถูกมากเพียงวันละไม่ถึง 5 บาทเทียบกับยาอย่าง
Rapamycin ที่ใช้ป้องกันการขับไตที่ถ่ายปลูก หรือยา Everolimus ซึ่งทั้งสองกำลังมีผู้ทดลองใช้ชะลอการแก่
เรสเวอราทรอล (Resveratrol) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในองุ่นแดง และเริ่มเป็นที่นิยมใช้เป็น
ยาอายุวัฒนะในต่างประเทศ อนุมูลอิสระเป็นตัวการสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดการชราภาพ ร่างกายมีกลไกกำจัด
อนุมูลอิสระไม่เพียงพอ ผักและผลไม้สดไทยมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่มากจึงเหมาะแก่ การบริโภคเป็นประจำ
การทำวัยเยาว์ (Rejuvenation) เช่น การตัดแต่งเรียบเรียงหน่วยพันธุกรรมเด็กปฏิสนธินอกกาย
(In Vitro Fertilization หรือ IVF embryo) โดยปรับสายหน่วยพันธุกรรมดีเอ็นเอ (germ line DNA) อาจสร้าง
สายพันธุ์ใหม่ที่คงวัยตามต้องการ
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านไปมีการกล่าวถึงเทคโนโลยีตัดแต่งหน่วยพันธุกรรมมนุษย์ (CRISPR/Cas 9
technology) กันมาก CRISPR (อ่านว่า คริสเปอร์ส) เป็นอักษรย่อ (acronym) ของ cluster regularly interspaced
short palindromic repeats ซึ่งหมายถึง ท่อนดีเอ็นเอของ เซลล์ไร้นิวเคลียสที่ลำดับคู่เบสมาซ้อนกันซ้ำ ๆ เป็น
กระจุกระหว่างช่องว่างอย่างสม่ำเสมอ ส่วน Cas 9 protein หรือกรรไกรโมเลกุล (molecular scissors)
เป็นเอนไซม์นิวคลิเอสที่ทำหน้าที่เล็มดีเอ็นเอส่วนที่ไม่ต้องการ
เซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องชะลอความแก่ของเซลล์
และอวัยวะต่าง ๆ ของมนุษย์ มีผู้ศึกษาและปฏิบัติใช้กันมาก ล่าสุด โรเจอร์ ปีเดอร์เซน (Roger Pedersen)
ศาสตราจารย์ทางเวชศาสตร์สร้างใหม่ (Regenerative Medicine) ได้กล่าวถึงผลงานของชินยา ยามานากะ
(Shinya Yamanaka, ค.ศ. 1962-) นักวิจัยผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อ ค.ศ. 2012 จากมหาวิทยาลัยเกียวโต
ที่ใช้เนื้อเยื่อจากผิวหนังผู้ใหญ่แล้วปรับเปลี่ยนใหม่ (reprogrammed) ให้กลายเป็นเซลล์ที่มีพหุศักยะ (pluripotent)
เหมือนเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้ผลิตตับอ่อนจากผิวหนังหรืออวัยวะอื่น
เมื่อ 25 เมษายน 2558 ศาสตราจารย์พอล บี รอทแมน (Paul B. Rothman) นายกสภาอายุรแพทย์
อเมริกันได้แสดงปาฐกถาเกี่ยวกับความเป็นมาของงานวิจัยที่มาโยงกับการมีอายุยืนของมนุษย์ ต้องมีสุขภาพดี
กัมมันตะ และมีรูปลักษณ์เยาว์วัยตามสภาพเดิมคือ เป็นมนุษย์หนุ่มสาวอมตะ !
โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นในงานวิจัยของผู้มีชื่อเสียงที่กล่าวมานี้มาก เป็นเรื่องที่เป็นพลัง
ให้วิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้ก้าวหน้าไปเรื่อยซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ น่าสรรเสริญ และควรศึกษาต่อไป
โดยอนุชนรุ่นหลัง แต่ผู้เขียนยังเชื่อในพุทธปรัชญา เกิดแก่เจ็บตายเป็นอนิจจัง !
แนะนำเอกสาร
1) อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมชัย บวรกิตติ (พ.ศ. 2559) ภาวะหนุ่มสาวนิรันดร์ ใน หนังสือเฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบ สำนักวิทยาศาสตร์
ราชบัณฑิตยสภา โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน้า 1-18
2) Nobel Prize in Physiology or Medicine 2009. Nobel Foundation. Retrieved 2016-12-01.
3) มานพ พิทักษ์ภากร สมชัย บวรกิตติ (พ.ศ. 2558) หมวกโฆรโมโสม ธรรมศาสตร์เวชสาร 15 : 143-147
4) มานพ พิทักษ์ภากร สมชัย บวรกิตติ วิรัช ศรีพัฒนาสกุล (พ.ศ. 2558) เหตุหญิงอายุยืนกว่าชาย
ธรรมศาสตร์เวชสาร 15 : 148-152
5) มานพ พิทักษ์ภากร สมชัย บวรกิตติ วิรัช ศรีพัฒนาสกุล (พ.ศ. 2558) เอนซัยม์ทีโลมีเรส
ธรรมศาสตร์เวชสาร 15 : 333-340
6) Liu JJ, Prescott J, Giovannucci E, et al. (2013). Plasma vitamin D biomarkers and leukocyte
telomere length. Amer J Epidemiol. 177 : 1411-1417.
7) Tarnopolsky M. (2014). Regular exercise may slow aging process in humans. American Medical
Society for Sports Medicine (AMSSM) Press Release. April 06.
8) Decottignies A. (2016). How exercise keeps your DNA young. Science Advances. July 27th.
9) สายชล เกตุษา (พ.ศ. 2559) สารต้านอนุมูลอิสระในผักและผลไม้ ใน หนังสือเฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบ สำนักวิทยาศาสตร์
ราชบัณฑิตยสภา โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน้า 77-91
10) Pedersen R. (2016). Are stem cells the future of medicine? WorldHealth.net. September 28th.
11) Takahashi K, Yamanaka S. (2006). Induction of pluripotent stem cells from mouse embryonic and
adult fibroblast cultures by defined factors. Cell. 126 : 663-676.
12) Rothman PB. (2015). Medicine in 2055. J Clin Invest. 125 : 3316-3320.