GEN Y

GEN Y

        คือ ชายและหญิงที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1970-1997 ปัจจุบันมีอายุ 20 ถึง 40 ปี เกิดใกล้เปลี่ยน
สหัสวรรษ ภาษาอังกฤษเรียก “The Millennials” หรือ “สหัสวรรษิกชน” ตามที่วิลเลียม สเตราส์
(William Strauss, ค.ศ. 1947-2007) นักเขียน นักประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และนีล เฮาว์ (Neil Howe,
ค.ศ. 1951-) นักประชากรศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์สหรัฐฯ จากแคลิฟอร์เนีย ได้ร่วมกันเสนอไว้

        บังเอิญผู้เขียนเพิ่งได้อ่านบทความของอาจารย์มนสิการ กาญจนะจิตรา ในจดหมายข่าวของ
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก จึงขอเริ่มด้วย
การนำบทความนี้มาถ่ายทอดต่อก่อนอื่น

        อาจารย์มนสิการเริ่มด้วยว่าวงการธุรกิจทราบกันดีว่า พนักงานรุ่นเจนวาย (อาจารย์หมายถึงพนักงาน
ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2525-2548) คือการให้ความสำคัญกับการมีสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว
โดยเฉพาะการจัดสรรเวลาที่มีอยู่ เนื่องจากในปัจจุบันหญิงทำงานนอกบ้านไม่ต่างกับชาย  การจะต้องรักษา
สมดุลชีวิตการทำงานและการให้เวลาเพียงพอแก่ลูกเป็นสิ่งที่ท้าทายหญิงในยุคนี้  คนไทยในปัจจุบันมีลูกน้อยลง
หากรัฐต้องการส่งเสริมการมีบุตรมาตรการที่ทำให้คนเป็นพ่อแม่จัดเวลาได้ดีขึ้น เช่น การส่งเสริมการทำงาน
บางเวลา (พาร์ทไทม์-Part time) ยืดหยุ่นเวลาทำงาน พัฒนาศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก มาตรการลดหย่อนภาษีมากขึ้น 
ปัญหาก็คือแล้วคนเจนวายจะตัดสินใจมีลูกมากขึ้นหรือ?  เจนวายอาจให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น ๆ ในชีวิต เช่น
การท่องเที่ยว การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีทั้งสิ้นต่อสถาบันครอบครัวและต่อประเทศ
 
        ส่วนอีกบทความโดยคุณพาริตตา วังเกียรติ ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post (Spectrum) ที่ผู้เขียนอ้างถึง
ผู้เขียนพูดถึงสหัสวรรษิกชน (Millennials) หรือหญิงชายยุคเจนวายกำลังอยู่ในความขัดแย้งระหว่างการเป็นตัวเอง
ในยุคบริโภคนิยมและสื่อสังคม (social media) กับความคาดหวังของพ่อแม่ที่ยึดถือธรรมเนียมและวิถีชีวิตแบบเดิม 
ปัญหาที่สถาบันศึกษากับอาจารย์หัวอนุรักษ์นิยมและวิธีการถ่ายทอดความรู้แบบเก่ายิ่งร้ายกว่าปัญหาในบ้าน ! 
ผู้เขียนได้ข้อคิดเห็นที่น่าอ่านจากทั้งอาจารย์และนักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีและจากนักศึกษารุ่นเจนวาย
ซึ่งแพทย์ นักศึกษาแพทย์และผู้สนใจควรหาอ่านเองจะดีกว่าที่ผู้เขียนจะนำมาถ่ายทอด !

        ผู้เขียนได้ดูรายชื่อบุคคลที่ทรงพลังที่สุด 100 คนจาก Time Magazine ได้ลองวิเคราะห์ดูพบว่า
ร้อยละ 35 เป็นบุคคลที่อยู่ในยุคเจนวาย !  แน่นอนที่ผู้อ่านรู้จักดีมากก็ได้แก่ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก (31 ปี)
และแพทย์หญิงพริสซิลลา ชาน (31 ปี) กุมารแพทย์ศรีภรรยา  ประธานาธิบดี คิมจองอุน (Kim Jong Un) (33 ปี)
แห่งสาธารณรัฐประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ซึ่งมีอายุเพียง  7 ปีเมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าคารวะปู่ของท่าน
(คิมอิลซุง-Kim Il Sung หรือ Great Leader) และบิดาของท่าน (คิมจองอิล-Kim Jong Il หรือ Dear Leader)
เมื่อร่วมในคณะ (ในฐานะรองประธานฯ) วุฒิสภาไทยไปเยือนเมืองเปียงยางเมื่อ พ.ศ. 2533 โดยมี ฯพณฯ บุญชนะ
อัตถากร รองประธานวุฒิสภาเป็นหัวหน้าคณะ

        นอกจากนี้ก็มีปริยานคา โชปรา (Priyanka Chopra, 33 ปี) ดาราสตรีโด่งดังจาก Bollywood 
จอร์แดน สปีท (Jordan Spieth, 22 ปี) นักกอล์ฟสหรัฐฯ ผู้โด่งดังและมีอนาคตไกล  ซาเนีย มีร์ซา (Sania Mirza,
29 ปี) นักเทนนิสสตรีอินเดีย ผู้เล่นคู่ใจของมาร์ตินา ฮิงกิส (Martina Hingis) ผู้โด่งดัง ทั้งสองคนชนะแกรนด์แสลม
(Grand Slam) มาแล้ว 3 ครั้ง เป็นขวัญใจและแรงบันดาลใจให้ชาวอินเดียรุ่นใหม่ในประเทศที่มีประชากรเกือบ
หนึ่งพันล้านคน !

        ในรายชื่อบุคคล 100 คนที่ไม่ใช่ที่อยู่ยุคเจนวายแน่นอนบุคคลตั้งแต่สันตะปาปาฟรานซิส
(Pope Francis,79 ปี)  ประธานาธิบดี บาแรค โอบามา (Barack Obama, 54 ปี)  อองซานซูจี(Aung San SuuKyi,
71 ปี)  ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton, 68 ปี) และโดนัลด์ ทรัมป์(Donald Trump, 69 ปี) คู่แข่ง 
สีจินผิง (Xi Jinping, 62 ปี) มังกรยักษ์จากจีนซึ่งใคร ๆ ก็รู้จัก  ถึงตอนนี้ดีที่สุดจากผู้เขียนก็คือ หยุดและให้ผู้สนใจ
หาอ่านจาก Time เอง !

 
แนะนำเอกสาร
1)  Strauss W, Howe N.  (1991).  Generations: The History of America’s Future, 1584-2069.     
     HarperPerennial.  p. 335.

2)  มนสิการ กาญจนะจิตรา  (พ.ศ. 2559)  การมีสมดุลชีวิตกับการสร้างครอบครัวของเจนวาย
     ประชากรและการพัฒนา  36 (5) : 9

3)  Wangkiat Paritta  (2016)  Mind the generation gap.  Bangkok Post Spectrum.  Vol. 9  No. 29. 
     Sunday, July 17.  pp. 6-9.

4)  Time Magazine.  (2016).  The 100 most influential people.  May 2-9.  Double Issue.

5)  อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2557)  Z-Zuckerberg ใน เกร็ดความรู้อายุรศาสตร์ A-Z เล่ม 3
     กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์  หน้า 86-88

6)  อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2558)  P-Patriach (พระมหาเถระ) ใน เกร็ดความรู้อายุรศาสตร์ A-Z เล่ม 4 
     กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์  หน้า 62-64


 

 

[ back ]