GEN X
เจนเอ็กซ์ (X) เป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่เกิดหลังปี ค.ศ. 1960 จนถึงปี ค.ศ. 1977 หรือบางครั้งถึง
ค.ศ. 1980 ปัจจุบัน (ค.ศ. 2016) บุคคลเหล่านี้ก็จะมีอายุ 36-56 ปี
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945) อัตราเกิดของทารกสูงมาก สูงกว่า 2 คนต่อแม่ 100 คน
หรือมากกว่าร้อยละหนึ่งของจำนวนประชากร เด็กยุคนั้นที่เรียกกันว่า Baby Boomers หรือ “ทารกเฟื่องฟู”
ขณะนี้ก็จะมีอายุเกือบ 60-70 ปีแล้ว
ในประเทศซีกโลกตะวันตกโดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา บุคคลเหล่านั้นเป็นกลุ่มที่มีสิทธิพิเศษ
หลายอย่างจากรัฐบาลในเรื่องที่อยู่อาศัย การศึกษา ฯลฯ ได้รับการเอาอกเอาใจจนบางคนมีความรู้สึกว่าเป็นยุค
ของฉัน (“Me” generation)
เจนเอ็กซ์ (X) จึงมาต่อจากยุคทารกเฟื่องฟู (Post-boomers)
วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมากหลังสงครามโลกจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เช่น การคมนาคม
ทางอากาศ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ และแน่นอนอานิสงส์แผ่มาสู่วงการแพทย์และสาธารณสุขโดยเฉพาะ
ในประเทศที่เจริญแล้วและกำลังพัฒนาซึ่งรวมทั้งประเทศไทย การคุมกำเนิดประชากรที่ได้ผลโดยเฉพาะ
ในประเทศไทยนับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ขององค์กรและบุคคลทุกระดับที่มีส่วนรับผิดชอบที่ต้องได้รับ
การยกย่อง สรรเสริญ
ผู้เขียนโชคดีบังเอิญเพิ่งได้ฟังการบรรยายของศาสตราจารย์ ดร. สมชาย วงศ์วิเศษ ราชบัณฑิต
วิศวกรเครื่องกลแนวหน้าของไทย คนหนุ่มเจนเอ็กซ์อนาคตไกล จึงขอนำมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านเรื่อง การปฏิวัติ
อุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ของมนุษย์ในโลกนี้ซึ่งมีมาแล้ว 3 ครั้ง จากยุคเครื่องจักรไอน้ำ
(Steam Engine) ซึ่งเป็นครั้งที่ 1 ช่วงปลาย ค.ศ. 1700-ช่วงต้น ค.ศ. 1800 ตามด้วยยุคของเหล็กกล้า
(Age of Steel) ประมาณปี ค.ศ. 1850-1950 แล้วนำไปสู่การปฏิวัติระบบด้านดิจิทัลหรือเชิงเลข
(digital from analogue systems) ระหว่างปี ค.ศ. 1950-2015 จนปัจจุบันเราเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ครั้งที่ 4 หรืออินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) เทคโนโลยีก้าวหน้ามากมายมาตลอด ล่าสุดที่ประชุม
สมัชชาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้คัดกรองเทคโนโลยีอุบัติใหม่ 10 เรื่องซึ่งเป็นเทคโนโลยี
อุบัติใหม่ที่มีความสำคัญดังนี้
1) รถที่ใช้พลังไฟฟ้าจากไฮโดรเจนไอ-อ็อนกับออกซิเจน (Fuel cell vehicles)
2) หุ่นยนต์ (Robotics) ที่ใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุด
3) พลาสติกที่ทนต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recyclable thermoset plastics)
4) เทคนิคพันธุวิศวกรรมที่ตรงเหตุ (Precision genetic engineering techniques)
5) การพิมพ์ 3 มิติ (Additive Manufacturing หรือ AM)
6) ปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังเกิดและเป็นที่ประจักษ์ (Emergent Artificial Intelligence)
7) กระบวนการทำวัตถุสามมิติโดยการจำลองรูปร่างจากแหล่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
(Distributed Manufacturing)
8) ยานไร้คนขับ (“sense and avoid” drones)
9) การใช้คอมพิวเตอร์ทั้งระบบดิจิทัล แอนะล็อก และทั้ง 2 ระบบประสานกันแทนสมอง
(Neuromorphic Technology)
และ 10) ตัวแจ้งสนเทศพันธุกรรมเชิงเลขโดยมีรหัสส่วนตัว (Digital Genome)
วิถีชีวิตและสังคมในยุคนี้ก็มีสิ่งไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นโดยเฉพาะในประเทศที่เรียกกันว่าเจริญแล้ว เช่น
รายได้ของประชาชาติระหว่างคนมีกับคนจนห่างกันมากขึ้น อัตราการหย่าร้างมีมากขึ้นส่วนหนึ่งเพราะทั้งพ่อและแม่
ออกไปทำงานนอกบ้าน ปัญหาเด็กไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควร ปัญหาเด็กวัยรุ่น ปัญหายาเสพติดก็เป็น
ผลส่วนหนึ่งจากปัญหาทางสังคมในคนยุคนี้ต่อไปถึงยุคถัดไปหรือเจนวาย
ดนตรีร็อค (Rock music) ก็เกิดเป็นที่นิยมในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรตั้งแต่สมัยนั้นเรื่อยมา
โดยใช้กีต้าร์ไฟฟ้า (electric guitar) และกลองเป็นเครื่องดนตรีหลัก ซึ่งก็เปลี่ยนถ่ายเป็นบางส่วนเป็นพังค์ร็อค
(Punk rock) ในต้นยุคเจนวายเช่นกัน สิ่งเหล่านี้เพื่อนจิตแพทย์จะอยู่ในฐานะที่ดีและเหมาะกว่าผู้เขียนในการให้
สมมติฐานของวิวัฒนาการของความนิยมทางดนตรีของคนหนุ่มสาวในยุคที่เปลี่ยนผ่าน ส่วนนักศึกษาแพทย์และ
แพทย์ทั่วไปที่ชอบอ่านและอยากรู้เรื่องเจนเอ็กซ์ ได้แนะนำนวนิยายของนักเขียนชาวแคนาดา ดักกลาส คูปแลนด์
(Douglas Coupland) และหนังสือถึงทฤษฎีของนักประชากรศาสตร์ วิลเลียม สเตราส์ (William Strauss) และ
นีล เฮาว์ (Neil Howe) ไว้ให้
แนะนำเอกสาร
1) สมชาย วงศ์วิเศษ (2016) การปฏิวัติอุตสาหกรรมและสุดยอดเทคโนโลยีปี 2015 ประชุมสำนักวิทยาศาสตร์
ราชบัณฑิตยสภา 3 สิงหาคม 2559
2) Coupland D. (1991). Generation X: Tales for an Accelerated Culture. New York,
St. Martin’s Press. 183 p.
3) Strauss W, Howe N. (1993). 13th Gen: Abort, Retry, Ignore, Fail? New York, Vintage Books.
Paperback 240 p.