Q10
Q10 หรือ CoQ10 (Co-enzyme Q10) ยูบิควิโนน (ubiquinone) เป็นชื่อเรียกสารตัวเดียวกันที่
คนไทยทั่วไปรู้จักชื่อเพราะเห็นโฆษณาในโทรทัศน์ทุกวัน โดยมากมักจะเกี่ยวกับครีมหรือน้ำมันทาหน้าทาตัว !
เฟรเดอริค เครน (Frederick Crane, ค.ศ. 1925-) นักเคมีชาวอเมริกันเป็นผู้ค้นพบสารนี้
เมื่อ ค.ศ. 1957 4 ปีให้หลังปีเตอร์ ดี มิทแชล (Peter D. Mitchell FRS, ค.ศ. 1920-1992) นักเคมีอังกฤษ
เป็นผู้คิดและเสนอสมมติฐานว่าสารตัวนี้ให้พลังงานคนในระดับเซลล์จนพิสูจน์ได้ จึงได้รับรางวัลโนเบล
(Nobel Prize) สาขาเคมีเมื่อ ค.ศ. 1978
ในปาฐกถาโนเบล มิทแชลได้พูดถึงแนวคิดเดวิด คีลลิน (David Keilin FRS, ค.ศ. 1887-1963)
นักกีฏวิทยารัสเซียที่แปลงสัญชาติเป็นอังกฤษ เกี่ยวกับสิ่งต่อเนื่องกันทางระบบหายใจ (Respiratory chain)
และผลสำคัญที่ตามมาทีละเล็กละน้อยในด้านเคมี (chemiosmotic consequences) ซึ่งเขารับต่อและเชื่อมาตลอด
ว่าวันหนึ่งทุกคนจะยอมรับเป็นทฤษฎีและบัดนี้โลกยอมรับแล้วในระดับสรีรวิทยาถึงแม้จะยังไม่ใช่ระดับชีวเคมี
มิทแชลยังพูดติดตลกอีกด้วยโดยอ้างถึงแมกซ์ พลังค์ (Max Planck FRS, ค.ศ. 1858-1947) นักฟิสิกส์เยอรมัน
ผู้ยิ่งใหญ่ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เรื่อง ทฤษฎีควอนตัม (Quantum Theory) เมื่อปี ค.ศ. 1918
เคยให้ข้อสังเกตไว้เมื่อปี ค.ศ. 1928 และ 1933 ว่าความคิดใดที่ใหม่ถอดด้าม มักไม่เป็นที่ยอมรับของ
คู่แข่งของเราเว้นเสียแต่เขาเหล่านั้นจะตายไป ! มิทแชลบอกต่อว่าเขาดีใจที่คู่แข่งของเขายังไม่แก่แต่ก็ยอมรับ
ผลงานของเขาได้ ! โดยสรุปมิทแชลค้นพบกลไกการสังเคราะห์อดิโนซีนไทรฟอสเฟต (adenosine triphosphate
หรือ ATP)
Q10 เป็นสารที่ละลายในไขมันคล้ายวิตามินพบได้ในสัตว์หลายชนิดและในคนโดยเฉพาะ
ในไมโตคอนเดรีย (mitochondria) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่มีบทบาทในการให้พลังงานในรูปของ ATP
ซึ่งในคนเป็นร้อยละ 95 ของพลังงานทั้งหมด ภาวะขาด Q10 อาจเกิดจากการสังเคราะห์ได้น้อยลงหรือร่างกาย
ใช้มากเกิน นอกจากนี้ระดับของสารนี้น้อยลงอาจเกิดจากความบกพร่องทางพันธุกรรม เช่น การกลายพันธุ์
(mutation) ของ deoxyribose nucleic acid หรือ DNA ที่ไมโตคอนเดรียและจากยาบางชนิด เช่น
ยาลดความดันโลหิตสกัดกั้นเบต้า (beta-blockers) และยาลดโคเลสเตอรอลประเภทสเตติน (statin)
มีรายงานกลุ่มอาการสมองน้อย (cerebellum) และโรคกล้ามเนื้อ (myopathy) จากการขาด Q10 ในกล้ามเนื้อ
และอีกรายงาน 2 พี่น้องหญิงมีอาการและเอ็มอาร์ไอ (MRI) เข้าได้กับกลุ่มอาการลีห์ (Leigh’s syndrome)
ที่เริ่มมีอาการเมื่อโตเต็มวัยแล้ว (adult onset) อย่างไรก็ตามในสหรัฐอเมริกา องค์การอาหารและยายังไม่เคย
เห็นชอบให้ใช้ Q10 รักษาโรค แต่อนุญาตให้จดทะเบียนเป็นอาหารเสริม เนื้อสัตว์ ปลาและน้ำมันพืชมีสารนี้
อยู่มากแต่ผลไม้มีน้อย การลองใช้ Q10 รักษาโรคหัวใจ โรคกล้ามเนื้อลาย โรคประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน
(Parkinson) โรคฮันติงตัน (Huntington) แม้แต่ใช้ชะลอความชรา (anti-aging) หรือการเป็นหมันในชาย
ก็ไม่ได้ผลทั้งสิ้น แม้แต่เฟรเดอริค เครน ผู้ค้นพบ Q10 ขณะนี้ก็ยังเสนอการลองใช้สารนี้ในผู้ป่วยออทิสติค
ซึ่งก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกัน
เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว ศาสตราจารย์เจมส์ ลานซ์ (James Lance, ค.ศ. 1926-) จากซิดนีย์ ออสเตรเลีย
เพื่อนอาวุโสของผู้เขียนซึ่งเป็นประสาทแพทย์แนวหน้าของโลก ได้มาบรรยายเรื่อง ไมเกรนและถามหา Q10
เพราะเขาหาซื้อที่บ้านเขาไม่ได้ ผู้เขียนได้แนะนำให้ไปซื้อที่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่สุขุมวิทใกล้บ้านก็ซื้อได้
เพราะที่แคนาดาประสาทแพทย์จะแนะนำให้รับประทานเป็นอาหารเสริมรักษาไมเกรนเช่นเดียวกับผู้เขียนใช้
วิตามินบี 2 (riboflavin) ที่ได้ผล ! การใช้ Q10 เป็นส่วนประกอบในครีมทาหน้าทาผิวร่างกายก็คงจะเป็น
สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants)
สุดท้าย ผู้เขียนใช้ Q10 วันละ 100 มิลลิกรัมเสมือนใช้วิตามินบีรวม และพบว่ากล้ามเนื้อแขนขา
ที่หดเกร็ง (spasticity) จากโรคลมเหตุหลอดเลือดสมองแตก (haemorrhagic stroke) ทำให้อาการเหนื่อยล้า
น้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเทียบกับช่วงเวลาที่ไม่ได้กินยาเมื่อเดินเครื่องสายพานและขี่จักรยาน !
แนะนำเอกสาร
1) Mitchell PD. (1978). Nobel Lecture. David Keilin’s respiratory chain concept and its
chemiosmotic consequences. Chemistry. pp. 295-330.
2) Lance JW. (พ.ศ. 2547). Mechanism and management of migraine. Second Athasit Oration.
Annual meeting of the Neurological Society of Thailand. March 2004.
3) Markley HG. (2012). CoEnzyme Q10 and riboflavin: the mitochondrial connection.
Headache (Review). 52 (suppl 2) : 81-87.
4) Mortensen SA, Rosenfeldt F, Kumar A, et al. (2014). The effect of CoEnzyme Q10 on morbidity
and mortality in chronic heart failure. American College of Cardiology Foundation. 6 : 641-649.
5) Pravst I, Zmitex K, Zmitex J. (2010). CoEnzyme Q10 contents in foods and fortification strategies.
Critical Reviews in Food Science and Nutrition. 50 : 269-280.
6) Zeviani M, Carelli V. (2003). Mitochondrial disorders. Curr Opin Neurol. 16 : 585-594.
7) Van Maldergem L, Trijbels F, DiMauro S, et al. (2002). Coenzyme Q-responsive
Leigh’s encephalopathy in two sisters. Ann Neurol. 52 : 750-754.
8) อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พ.ศ. 2558) X-XX, XY & 3 Parents ! ใน เกร็ดความรู้อายุรศาสตร์ A-Z เล่ม 4
กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ หน้า 97-101
9) Le Ber I, Dubourg O, Benoist J-F, et al. (2007). Muscle coenzyme Q10 deficiencies in ataxia
with oculomotor apraxia 1. Neurology. 68 : 295-297.
10) Crane FL, Löw H, Sun I, et al. (2014). Plasma membrane coenzyme Q evidence for a role
in autism. Biologics. 8 : 199-205.