Neurology and Neurosurgery in Thailand

Neurology and Neurosurgery in Thailand – Historical development

        ประสาทวิทยาและประสาทศัลยศาสตร์ในประเทศไทยเริ่มต้นที่ศิริราชพยาบาลโดยปรมาจารย์ 2 ท่าน
คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์จิตต์ ตู้จินดา (พ.ศ. 2452-2531) อายุรแพทย์  และศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม
โปษะกฤษณะ (พ.ศ. 2453-2540) ศัลยแพทย์  ทั้ง 2 ท่านเป็นบัณฑิตแพทย์จากศิริราช ผู้ได้รับการศึกษาอบรม
เพิ่มเติมจากประเทศเยอรมนี เป็นผู้วางรากฐานการฝึกสอนนักศึกษาแพทย์และแพทย์หลังปริญญาพร้อมทั้ง
รับผิดชอบดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบประสาท ศาสตราจารย์นายแพทย์จิตต์ได้รับทุนมูลนิธิฮุมโบลด์ท (Humboldt)
ไปศึกษาและฝึกงานทางประสาทวิทยาและจิตเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลโรคจิตและประสาทแห่งมหาวิทยาลัยเจนา
(Jena) อยู่ 2 ปี และที่มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก (Hamburg) อีก 1 ปี  ส่วนศาสตราจารย์นายแพทย์อุดมนั้นนอกจาก
ศึกษายังได้ทำงานที่ประเทศเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) มีโอกาสได้ประสบการณ์
อย่างมากก่อนกลับมารับราชการอีกที่ศิริราช ต่อมาศาสตราจารย์นายแพทย์อุดมได้ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์
วิชัย บำรุงผล (พ.ศ. 2469-2545) ศิษย์แพทย์ศิริราชรุ่น 54 ชาวนครสวรรค์ เป็นอาจารย์ผู้ช่วยหลังปฏิบัติงาน
เป็นแพทย์ประจำบ้าน อาจารย์วิชัยเป็นกำลังสำคัญที่ปฏิบัติการแทนระหว่างอาจารย์อุดมไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา
และยุโรป และในปี พ.ศ. 2500 อาจารย์วิชัยสอบได้ทุนฮุมโบลด์ทไปศึกษาและปฏิบัติงาน ณ สถาบันประสาท
ศัลยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโลญ (Cologne หรือ Köln) อีกทั้งยังได้ศึกษาและทำวิจัยที่สถาบันแมกซ์พลังค์
(Max Planck) เป็นเวลากว่า 3 ปีสอบได้แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยม (Dr. Med. cum laude)
เมื่อ พ.ศ. 2503 ก่อนกลับมาศิริราช  ทางด้านประสาทวิทยา ศาสตราจารย์นายแพทย์สมบัติ สุคนธพันธ์
(พ.ศ. 2469-2532) แพทย์ศิริราชรุ่น 53 ที่ได้รับการศึกษาอบรมเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
(Pennsylvania) สหรัฐอเมริกา   ก็เป็นกำลังสำคัญร่วมกับอาจารย์นายแพทย์จิตต์ ดังนั้นพื้นฐานประสาทวิทยา
และประสาทศัลยศาสตร์ที่ศิริราชเริ่มแรกจึงเป็นเยอรมันและอเมริกัน

        คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดรับนักศึกษาแพทย์รุ่นแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง  
มีศาสตราจารย์นายแพทย์บุญเลี้ยง ตามไท ศิษย์แพทย์ศิริราชที่ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาและเป็น
เสรีไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับมารับผิดชอบประสาทวิทยา  อาจารย์นายแพทย์บุญเลี้ยงจบ
วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (D.Sc.) ทางกายวิภาคศาสตร์อีกด้วย ต่อมาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โชคดีที่ได้
ศาสตราจารย์นายแพทย์ทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์ (พ.ศ. 2472-2551) บัณฑิตแพทย์จุฬาฯ รุ่น 2  
ผู้ได้รับรางวัลเหรียญทองเรียนดี ไปฝึกอบรมต่อที่เยอรมนีได้ Dr.Med จากมหาวิทยาลัยฮัมบวร์ก และได้รับ
การอบรมเพิ่มเติมทางตรวจคลื่นสมอง (EEG) ที่สถาบันประสาทแห่งชาติควีนส์สแควร์ (Queen’s Square)
ลอนดอน มาเป็นกำลังสำคัญ  ผู้เขียนเมื่อฝึกอบรมทางประสาทวิทยากลับจากอังกฤษก็ได้ช่วยงานอาจารย์
นายแพทย์บุญเลี้ยงและอาจารย์นายแพทย์ทองจันทร์ พื้นฐานประสาทวิทยาที่จุฬาฯ จึงเป็นเยอรมัน อเมริกัน
และอังกฤษ !

        สำหรับแพทย์ผู้สนใจทางประวัติศาสตร์ ประสาทวิทยาที่เยอรมนีเริ่มมั่นคงตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษ
ที่ 18 (พ.ศ. 2340-) ประสาทแพทย์เยอรมันที่ถือกันว่าเป็นปรมาจารย์ในเวลานั้นมีอยู่หลายท่านแต่ที่สำคัญก็คือ
มอริทซ์ ไฮน์ริช รอมแบร์ก (Moritz Heinrich Romberg, ค.ศ. 1795-1873) วิลเฮล์ม ไฮน์ริช เอิบ
(Wilhelm Heinrich Erb, ค.ศ. 1840-1921) และคาร์ล แวร์นิเก (Karl Wernicke, ค.ศ. 1848-1905)
ซึ่งชื่อเสียงของทั้ง 3 ท่านแพทย์และนักศึกษาแพทย์เราคงรู้จักกันแล้วรอมแบร์กเป็นคนเขียนตำราประสาทวิทยา
เป็นคนแรกในโลกโดยใช้เวลาถึง 6 ปี !  อีกทั้งยังเคยเปิดเผยว่าท่านได้นำผลงานของเซอร์ ชาร์ลส์ เบลล์
(Sir Charles Bell, ค.ศ. 1774-1842) ไปบรรยายเมื่อ ค.ศ. 1832 !  แพทย์ นักศึกษาแพทย์แม้แต่ผู้ป่วยคงรู้จัก
Bell’s palsy กันดี !

        หันกลับมาดูประสาทศัลยศาสตร์ที่จุฬาฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา (พ.ศ. 2475-)
แพทย์จุฬาฯ รุ่น 5 ที่หนึ่งของรุ่นได้รับการฝึกอบรมจากสหรัฐอเมริกาโดยได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล
เป็นคนแรก สำเร็จกลับมาเมื่อ พ.ศ. 2505 พร้อมกับมีการจัดตั้งภาควิชาและที่ทำการหอผู้ป่วยรวมประสาทวิทยา
ประสาทศัลยศาสตร์และจิตเวชศาสตร์ไว้ด้วยกันเป็นครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากอาจารย์นายแพทย์จรัสแล้ว
ภาควิชายังมีศาสตราจารย์นายแพทย์จตุรพร หงส์ประภาส (พ.ศ. 2468-) บัณฑิตแพทย์ศิริราชรุ่น 54
ผู้ได้รับการศึกษาอบรมเพิ่มเติมจากประเทศออสเตรเลีย ร่วมเริ่มงานด้วย งานของภาควิชาในแนวคิดที่ใหม่นี้
ดำเนินไปด้วยดีมาก ถึงแม้ต่อมาด้วยความเสียสละและการมองเห็นการณ์ไกลของอาจารย์ทั้งหลายใน
ด้านแพทยศาสตรศึกษา การทำนายว่าสาขาวิชาเฉพาะทางระบบอื่น ๆ ของร่างกายอาจจะอยากเริ่มดำเนินการบ้าง
จนภาควิชาหลัก เช่น อายุรศาสตร์และศัลยศาสตร์ จะกระทบกระเทือนทำให้คณะฯ ลำบาก ประสาทวิทยา
ประสาทศัลยศาสตร์และจิตเวชศาสตร์จึงแยกและกลับสังกัดเดิม เป็นก้าวที่ชาญฉลาดและควรได้รับการสรรเสริญ
เป็นอย่างมาก

        ความก้าวหน้าทางประสาทวิทยาและประสาทศัลยศาสตร์ในประวัติศาสตร์การแพทย์ไทยที่สำคัญ
อีกประการหนึ่งก็คือ การก่อตั้งโรงพยาบาลสถาบันประสาทวิทยาที่พญาไท กรุงเทพฯ โดยศาสตราจารย์นายแพทย์
ประสพ รัตนากร (พ.ศ. 2463-2557) บัณฑิตแพทย์ศิริราชจบเมื่อ พ.ศ. 2486 ผู้ที่แรกเริ่มได้รับการฝึกอบรม
ทางจิตเวชศาสตร์ก่อนหันมาสนใจประสาทวิทยาและผ่านการดูงานที่สถาบันแห่งชาติทางประสาทวิทยา
ควีนส์สแควร์ที่ลอนดอน  อาจารย์นายแพทย์ประสพยังได้เป็นผู้จัดตั้งสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย
เมื่อ พ.ศ. 2503 ร่วมกับอาจารย์นายแพทย์จิตต์ อาจารย์นายแพทย์อุดม อาจารย์นายแพทย์บุญเลี้ยง
อาจารย์นายแพทย์สมบัติและอาจารย์นายแพทย์วิชัยเป็นแกนนำ อาจารย์นายแพทย์ประสพมีนายแพทย์อาคม
สรสุชาติ (พ.ศ. 2476-25......) บัณฑิตแพทย์ศิริราชรุ่น 61 ผู้ได้รับการอบรมเพิ่มเติมทางประสาทวิทยาจาก
ประเทศแคนาดาเป็นกำลังสำคัญเมื่อเริ่มต้น ต่อมามีแพทย์หญิงนันทนิตย์ จิตสุคนธ์ และแพทย์หญิงจันทรเกษม
อ่างแก้ว ศิษย์เก่าศิริราชผู้ได้รับการฝึกอบรมทางประสาทวิทยาจากสหรัฐอเมริกา และนายแพทย์วุฒิกิจ ธนะภูมิ
(พ.ศ. 2478-) บัณฑิตแพทย์ศิริราช รุ่น 63 ฝึกอบรมจบเป็นประสาทศัลยแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา กลับมาเป็น
กำลังสำคัญที่โรงพยาบาลสถาบันประสาทฯ

        จากที่ได้กล่าวมาแล้วผู้อ่านจึงพอจะเห็นได้ว่าเมื่อเริ่มต้นในประเทศไทย ประสาทวิทยามีความผูกพัน
และมีพื้นฐานบางส่วนจากจิตเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งเป็นที่ก่อกำเนิดจิตแพทย์ไทยคล้ายกับ
ในประเทศเยอรมนี

        ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา นายแพทย์หทัย ชิตานนท์ (พ.ศ. 2472-) บัณฑิตแพทย์ศิริราชรุ่น 57
เป็นแพทย์ไทยคนที่ 2 ต่อจากอาจารย์สมบัติ สุคนธพันธ์ ที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาล
ฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กลับมาเป็นผู้บุกเบิกประสาทวิทยาไทยอีกคนหนึ่ง
ต่อมานายแพทย์หทัยกลับไปรับการอบรมดูงานเพิ่มเติมกับศาสตราจารย์นาราบะยาชิ (Narabayashi)
แห่งมหาวิทยาลัยยุนเทนโด (Juntendo) ที่นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กลับมาเป็นแพทย์ไทยคนแรกที่เริ่มทำ
ศัลยกรรมสมองด้วยวิธีสเตอริโอแทคซิค (stereotaxis)   ผู้เขียนเลยขอบันทึกไว้ด้วยว่า เออวิง เอส คูเปอร์
(Irving S. Cooper, ค.ศ. 1922-1985) ประสาทศัลยแพทย์ชาวอเมริกันจากนครนิวยอร์ก ผู้ริเริ่มศัลยกรรม
รักษาโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) และโรคเคลื่อนไหวผิดปกติ (movement disorders) อื่น ๆ เขียน
สดุดีและยกย่องว่าเซอร์ วิคเตอร์ ฮอร์สลีย์ (Sir Victor Horsley, ค.ศ. 1857-1916) ประสาทศัลยแพทย์
นักสรีรวิทยาชาวอังกฤษ    ผู้ผ่าตัดเอาเนื้องอกทับประสาทไขสันหลังออกเป็นคนแรกและวิธีผ่าตัดอื่น ๆ อีกมาก
คือ บิดาของประสาทศัลยศาสตร์และสำหรับผู้เขียน ฮาร์วีย์ คุชชิง (Harvey Cushing, ค.ศ. 1869-1939)
ประสาทศัลยแพทย์ชื่อก้องโลกชาวอเมริกันก็ควรได้รับการยกย่องไม่ยิ่งหย่อนกว่าฮอร์สลีย์   นอกจากอาจารย์
นายแพทย์หทัย โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาก็มีนายแพทย์อุดม ลักษณะวิจารณ์ และนายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
(พ.ศ. 2481-) บัณฑิตแพทย์จากศิริราชรุ่น 66 ผู้ได้รับการฝึกอบรมจบปริญญาเอกด้านศัลยกรรมประสาทจาก
สหรัฐอเมริกาและแคนาดา รับราชการอยู่จนเป็นหัวหน้าแผนกโรคประสาทในปี พ.ศ. 2518 ก่อนลาออกจากราชการ

        กล่าวกันว่าที่เกิดของประสาทวิทยาในสหรัฐอเมริกาคือ สงครามกลางเมือง (Civil war ค.ศ. 1861-1865)
โดยยกย่องให้นายแพทย์ซีลาส เวีย มิทแชล (Silas Weir Mitchell, ค.ศ. 1829-1914) และนายแพทย์
วิลเลียม อเล็กซานเดอร์ แฮมมอนด์ (William Alexander Hammond, ค.ศ. 1828-1900) เป็นปรมาจารย์ 
ปู่และพ่อของเวีย มิทแชล เป็นแพทย์เกิดที่สกอตแลนด์ ปู่อพยพไปอยู่ที่รัฐเวอร์จิเนีย แต่พ่อไปศึกษาแพทยศาสตร์
ที่สกอตแลนด์โดยจบจากเอดินบะระ (Edinburgh)  ซีลาสเกิดที่ฟิลาเดลเฟีย จบแพทย์หลักสูตร 2 ปีแล้วไป
ศึกษาต่อที่ลอนดอนและปารีส  ส่วนวิลเลียม แฮมมอนด์ ก็เป็นลูกหมอเกิดที่รัฐแมริแลนด์ (Maryland)
จบแพทย์ที่นิวยอร์ก (New York Medical School)

        คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคณะแพทยศาสตร์คณะที่ 3
ในกรุงเทพมหานคร เปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2512 ทั้งประสาทศัลยศาสตร์และประสาทวิทยามี
ศาสตราจารย์นายแพทย์สิระ บุณยะรัตเวช ศิษย์ศิริราชรุ่น 60 ผู้สอบได้ FRCS (Eng) และ FRCS (Edin)
เมื่อปี พ.ศ. 2507 และได้รับการฝึกอบรมจากศาสตราจารย์นอร์มัน ดอทท์ (Norman Dott) ที่เอดินบะระ
ประสาทศัลยแพทย์ เป็นหัวหน้าทางประสาทศัลยศาสตร์และยังได้นายแพทย์ธนิต เธียรธนู ศิริราชรุ่น 66
ผู้ได้รับการฝึกอบรมจากเอดินบะระ และสอบได้ FRCS (Edin) ย้ายจากโรงพยาบาลสถาบันประสาท พญาไท
มาเป็นอาจารย์ด้วย ส่วนผู้เขียนรับผิดชอบทางประสาทวิทยา หนึ่งปีถัดมาคณะฯ โชคดีได้ศาสตราจารย์นายแพทย์
พงษ์ศักดิ์ วิสุทธิพันธ์ ศิษย์ศิริราชรุ่น 67 ผู้ได้รับการฝึกอบรมครบถ้วนทางกุมารประสาทวิทยาจากสหรัฐฯ
มาร่วมเป็นผู้บุกเบิกงานรวมทั้งงานทางด้านโรคกล้ามเนื้ออีกด้วย  งานกุมารประสาทวิทยาที่จุฬาฯ
มีศาสตราจารย์นายแพทย์ศรีสกุล จารุจินดา (ศิริราชรุ่น 53) และศาสตราจารย์แพทย์หญิงผจง คงคา
(ศิริราชรุ่น 56) ส่วนที่ศิริราชมีรองศาสตราจารย์นายแพทย์กัมปนาท พลางกูร (ศิริราชรุ่น 62) รับผิดชอบ 
ผู้เขียนควรเอ่ยถึงไว้ด้วยว่าเมื่อศาสตราจารย์นายแพทย์สิระย้ายจากศิริราชไปรามาธิบดี ศิริราชก็ได้มี
รองศาสตราจารย์นายแพทย์รุ่งธรรม ลัดพลี (พ.ศ. 2478-2545) ศิริราชรุ่น 62 มาเป็นกำลังสำคัญช่วยอาจารย์อุดม
และอาจารย์วิชัย

        การแพทย์ไทยเริ่มมีการบังคับให้บัณฑิตแพทย์ทุกคนที่เรียนจบต้องเป็นแพทย์ฝึกหัดก่อนได้
ใบประกอบโรคศิลปะ (ประกาศนียบัตรประกอบวิชาชีพเวชกรรม) เมื่อ พ.ศ. 2504 ก็คือ แพทย์ที่จบศิริราชรุ่น 66
และจุฬาฯ รุ่น 11  จำได้ว่าเงินเดือน (pocket money) เดือนละ 800 บาท  แพทย์ฝึกหัดสิ้นสุด 25 ปีต่อมา
(พ.ศ. 2527)

        ผู้เขียนยังจำได้ดีว่าการสอนนักศึกษาแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชและจุฬาฯ จำเป็นต้องมีการบรรยาย
วิชาต่าง ๆ มากเพราะตำราเป็นภาษาไทยแทบไม่มี ตำราและหนังสือเป็นภาษาอังกฤษก็แพงและหายาก
อาจารย์อาวุโสทั้งหลายมีงานสอนมาก  การบรรยายในห้องเรียนรวมทางประสาทวิทยาและประสาทศัลยศาสตร์
ที่ศิริราชมี 52 ชั่วโมง  ที่จุฬาฯ มี 37 ชั่วโมง และที่รามาธิบดีเมื่อเริ่มต้นอาจารย์สิระและผู้เขียนปรึกษากับอาจารย์
ผู้รู้เรื่องแพทยศึกษาของคณะฯ คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์รจิต บุรี และศาสตราจารย์แพทย์หญิง ม.ร.ว.
จันทรนิวัทธ์ เกษมสันต์  อาจารย์สิระและผู้เขียนลดเหลือ 25 ชั่วโมง !

        ก่อนที่เขียนถึงยุคสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือ เมื่อ พ.ศ. 2513 ที่มีการเริ่มต้นของการฝึกอบรม
แพทย์ประจำบ้านในสาขาวิชาต่าง ๆ โดยแพทยสภา ผู้เขียนขอกลับไปพูดถึงโรงพยาบาลที่สำคัญอื่น ๆ ที่ให้
การบริการผู้ป่วยด้วยโรคประสาทคือ โรงพยาบาลสังกัดกลาโหมไม่ว่าทหารบก เรือ อากาศและโรงพยาบาลตำรวจ
รวมทั้งโรงพยาบาลราชวิถี วชิรพยาบาล และโรงพยาบาลกลาง  เมื่อแรกเริ่มก็มีแพทย์รับผิดชอบงานบริการ
ทางประสาทวิทยาและประสาทศัลยศาสตร์  แพทย์ทหารบกที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้ามีพลตรีนายแพทย์
ประสาร บุณยะทรรศนีย์ (ศัลยแพทย์) พลตรีแพทย์หญิง วันดี บุณยะทรรศนีย์ ผู้ได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติม
จากสถาบันแห่งชาติควีนส์สแควร์ ลอนดอน ทางประสาทวิทยา  และพันเอกนายแพทย์ไพบูลย์ เดชะไกศยะ
ผู้ศึกษาและอบรมทางประสาทวิทยาหลังปริญญาจากสหรัฐอเมริกา  ทั้ง 3 คนเป็นศิษย์เก่าศิริราช 
ทางด้านโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า (รพ.ทหารเรือ) มีพลเรือตรีนายแพทย์ฉายแสง ณ นคร และพลเรือตรี
นายแพทย์บรรยงค์ ถาวรามร และโรงพยาบาลภูมิพล (ทหารอากาศ) มี พลอากาศโทนายแพทย์ธวัชชัย
เฟื่องวุฒิราญ และพลอากาศโทนายแพทย์ประพัตรา ตัณฑ์ไพโรจน์  โรงพยาบาลตำรวจมีพลตำรวจตรี
นายแพทย์ปรีชา วานิชชา (ศัลยแพทย์) และพันตำรวจโทนายแพทย์เรวัช สวัสดิบุตร (ประสาทวิทยา) 
โรงพยาบาลราชวิถี (รพ.หญิง) มีนายแพทย์สุวัชร์ ธรรมศักดิ์ (ศัลยแพทย์)  โรงพยาบาลกลางมีนายแพทย์วีระ
แสงรุจิ (ศัลยแพทย์) ศิษย์เก่าศิริราชผู้ได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมที่สหราชอาณาจักร  และวชิรพยาบาลมี
นายแพทย์รัศมี วรรณิสสร ซึ่งเดิมเคยเป็นอาจารย์กายวิภาคศาสตร์ที่ศิริราช เป็นผู้บุกเบิกงานด้าน
ประสาทศัลยศาสตร์หลังเคยได้รับการศึกษาอบรมเพิ่มเติมที่ประเทศเยอรมนี หลังจากปฏิบัติงานที่
วชิรพยาบาลแล้วอาจารย์นายแพทย์รัศมีได้ลาออกไปเป็นผู้บุกเบิกงานทางภาคเอกชนโดยเฉพาะ
ประสาทศัลยศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นคนแรกที่นำเอาการถ่ายภาพสมองด้วยรังสีส่วนตัดด้วยคอมพิวเตอร์หรือ
computerized tomography of brain (CT) มาใช้ในประเทศไทย

        คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2503 ได้ศาสตราจารย์แพทย์หญิง
รังสี (บุนนาค) พรพิบูลย์ บัณฑิตแพทย์จุฬาฯ รุ่น 2 ไปรับผิดชอบงานประสาทวิทยา และรองศาสตราจารย์
แพทย์หญิงบุญสม ผลประเสริฐ (มช. รุ่น 1) เป็นกุมารประสาทแพทย์

        ที่จริงแล้วอาจารย์แพทย์ผู้บุกเบิกด้านประสาทวิทยาและประสาทศัลยศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว
ก็ได้แสวงหาประสบการณ์เพิ่มเติมเช่นเดียวกับอาจารย์นายแพทย์หทัย ชิตานนท์  ศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส
สุวรรณเวลา เคยไปเยี่ยมเยือนและปฏิบัติงานกับศาสตราจารย์นายแพทย์เคจิ ซาโน (Keiji Sano)
ประสาทศัลยแพทย์ที่มีชื่อเสียงทางผ่าตัดเนื้องอกสมองในยุคนั้นที่มหาวิทยาลัยโตเกียว และผู้เขียนก็เคยไป
ฝึกงานต่อกับศาสตราจารย์นายแพทย์ฟริทซ์ บุคทาล (Fritz Buchtal) ที่สถาบันประสาทสรีรวิทยาที่
กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เช่นกัน  เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแม้ในช่วงแรกของประสาทวิทยาและ
ประสาทศัลยศาสตร์ในประเทศไทย นอกจากเยอรมนี สหรัฐอเมริกา (รวมแคนาดาทางภูมิศาสตร์) และ
สหราชอาณาจักร (รวมออสเตรเลีย) หรือเครือจักรภพอังกฤษแล้วก็ยังมีอานิสงส์จากญี่ปุ่นและชาติอื่น ๆ
ในยุโรปด้วย แต่แน่นอนที่สุดคำ Neurology (อ่าน นัวรอลฺ´เลอจิ) หรือประสาทวิทยา โทมัส วิลลิส
(Thomas Willis, ค.ศ. 1621-1675) แพทย์ทั่วไปและนักกายวิภาคศาสตร์ชาวอังกฤษ เป็นผู้นำมาใช้เป็นคนแรก
สิ่งสำคัญอีกประการที่ต้องกล่าวถึงก็คือ รากฐานสำคัญทางประสาทวิทยาจากฝรั่งเศส ฌอง มาร์แตง ชาโก
(Jean Martin Charcot, ค.ศ. 1825-1893) คือ บิดาทางประสาทวิทยาเวชกรรม (Clinical Neurology)
ซึ่งแม้แต่สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาก็ยังยอมรับ ถ้าเอ่ยนามสานุศิษย์ของชาโก เช่น ปิแอร์ มารี
(Pierre Marie)  โจเซฟ บาบินสกี (Joseph Babinski)  จิลล์ เดอ ลา ตูแรตต์ (Gilles de la Tourette)  และ
สิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) แห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ประสาทแพทย์และจิตแพทย์ปัจจุบันก็คงยอมรับ ! 
ดังนั้นอิทธิพลของประสาทวิทยาจากฝรั่งเศสจึงแผ่กระจายไปทั่วรวมทั้งถึงไทยทางอ้อม โดยผ่านปรมาจารย์จาก
สถาบันแห่งชาติควีนส์สแควร์ เช่น เซอร์ วิลเลียม กาวเวอร์ส (Sir William Gowers, ค.ศ. 1845-1915)
คินเนียร์ วิลสัน (Kinnear Wilson, ค.ศ. 1878-1937) จนถึงอาจารย์รุ่นแมคโดนัลด์ คริทช์ลีย์
(Macdonald Critchley, ค.ศ. 1900-2000) และต่อ ๆ มา

        การก่อกำเนิดแพทยสภาเมื่อ พ.ศ. 2513 และกำหนดให้คณะกรรมการแพทยสภารับผิดชอบ
การฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาวิชาต่างๆ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากโรงเรียนแพทย์
ทั้งสามรับผิดชอบสอบแพทย์ประจำบ้าน เพื่อวุฒิบัตรและสอบหนังสืออนุมัติแพทย์ไทยที่ได้รับการฝึกอบรมจาก
ต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาแต่ไม่ได้สอบหรือสอบไม่ได้ “บอร์ด” ให้ได้คุณวุฒิจากแพทยสภา ได้ช่วยพัฒนา
ให้มีแพทย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและกระจายแพทย์เหล่านั้นไปทั่วประเทศ ประสาทวิทยาและ
ประสาทศัลยศาสตร์ไทยจึงเจริญก้าวหน้าจนเช่นปัจจุบัน

        สุดท้าย ผู้เขียนต้องยอมรับว่าได้พยายามรวบรวมเพิ่มเติมและแก้ไขประวัติความเป็นมาของ
ประสาทวิทยาและประสาทศัลยศาสตร์ในประเทศไทย ที่ปรากฏอยู่แม้กระทั่งในตำราและหนังสืออนุสรณ์ของ
สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย เพื่อให้ถูกต้องและสมบูรณ์ การบันทึกเหตุการณ์ ความเป็นมาต่าง ๆ
ควรจะต้องกระทำด้วยความถี่ถ้วนจากความเป็นจริง ผู้บันทึกต้องไม่มีอคติและถ้าเป็นไปได้เมื่อยังไม่ถึงเวลา
ที่สมควรเขียนประวัติศาสตร์ส่วนนี้ก็ควรจะละไว้ก่อน  ผู้บันทึกหรือผู้เขียนเองควรรอไว้ให้แพทย์อนุชนรุ่นหลัง
เป็นผู้ตัดสินสานต่อจะดีกว่า !
 

แนะนำเอกสาร
1)  หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์นายแพทย์จิตต์ ตู้จินดา วันที่ 9 มีนาคม 2531
     นีลนาราการพิมพ์ บางกอกน้อย กรุงเทพฯ
                   
2)  หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ 
     วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2540  บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับบลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
     กรุงเทพฯ

3)  หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์วิชัย บำรุงผล  วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม
     พ.ศ. 2545  โรงพิมพ์สหธรรมิก จำกัด  กรุงเทพฯ 10600
 
4)  หนังสือ 50 ปี สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย  สัมภาษณ์ศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา
     และศาสตราจารย์นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดย นายแพทย์สมชาย โตวณะบุตร พ.ศ. 2550  หน้า 78-91

5)  หนังสืออนุสรณ์ครบรอบ 96 ปี ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เปรม บุรี และห้าทศวรรษศัลยศาสตร์
     รามาธิบดี พ.ศ. 2557  หน้า 107

6)  Cooper IS.  (1982).  Sir Victor Horsley: Father of modern neurological surgery.  In: Historical
     Aspects of the Neurosciences.  A Festschrift for Macdonald Critchley.  Eds: FC Rose, WF Bynum. 
     New York, Raven Press.  pp. 235-238.

7)  Das K, Benzil DL, Rovit RL, et al.  (1998).  Irving S Cooper (1922-1985): a pioneer in functional
     neurosurgery.  J Neurosurg.  89 : 865-873.

8)  Macdonald Critchley.  (1990).  Irving S. Cooper.  In: The Ventricle of Memory.  New York,
     Raven Press.  pp. 41-54. 

9)  van Alphen HAM.  (2000).  The Cushing reflex.  In: Neurological eponyms.  Eds. PJ Koehler,
     GW Bruyn, JMS Pearce.  New York.  Oxford University Press.  pp. 77-82.

10) Spillane JD.  (1981).  The Doctrine of the Nerves.  Chapters in the history of neurology. 
      The Birth of American Neurology.  New York, Oxford University Press.  pp. 362-386.

11) Dewhurst K.  (1982).  Thomas Willis and the Foundations of British Neurology.
      In: Historical Aspects of the Neurosciences.  A Festschrift for Macdonald Critchley.
      Eds: FC Rose, WF Bynum.  New York, Raven Press.  pp 327-346.

12) อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2555)  R-Romberg’s sign เกร็ดความรู้ทางอายุรศาสตร์ A-Z เล่ม 1 
      กรุงเทพฯ  โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์  หน้า 59-61

13) อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2558)  C-Charcot and Crick  เกร็ดความรู้ทางอายุรศาสตร์ A-Z เล่ม 3
      พิมพ์ครั้งที่ 2  กรุงเทพฯ  โรงพิพม์อักษรสัมพันธ์  หน้า 22-29

14) Capildeo R.  (1982).  Charcot in the 80s.  In: Historical aspects of the neurosciences. 
      A Festschrift for Macdonald Critchley.  Eds. FC Rose, WF Bynum.  New York, Raven Press. 
      pp. 383-396.

15) McHenry LC.  (1969).  History of neurology.  Springfield Illinois, Charles C. Thomas, 411 pp.

16) DeJong RN.  (1982).  A history of American neurology.  New York, Raven Press.  157 pp.

 

[ back ]