Medical Council

Medical Council (Thailand)

        เมื่อเอ่ยถึงแพทยสภา (ไทย) แพทย์ทุกคนพอจะทราบแต่หลายคนโดยเฉพาะแพทย์รุ่นหนุ่มสาวอาจจะ
ไม่ทราบประวัติความเป็นมากัน  ผู้เขียนเมื่อจบจากต่างประเทศเข้ารับราชการที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ในขณะนั้น) ก็ต้องสอบเพื่อใบประกอบโรคศิลปะจากกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อผู้เขียนโอนย้ายไปอยู่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเมื่อ พ.ศ. 2510 ก่อนคณะฯ เปิดทำการ 
ก็ทราบว่าจะมีการสังคายนาพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะแทนพระราชบัญญัติการแพทย์เดิม 
จะมีการตั้งแพทยสภาเป็นสภาวิชาชีพ อาจารย์แพทย์รุ่นพี่ที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ได้บอกผู้เขียนว่าแพทย์ผู้อาวุโส
ในกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นไม่เห็นด้วยให้มีกรรมการจากการเลือกตั้ง ได้กรุณาแนะนำให้ผู้เขียน
ช่วยพูดแจงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (พระบำราศนราดูร, พ.ศ. 2438-2527) ซึ่งเป็นลุงของผู้เขียน
และอยู่บ้านใกล้กันให้สนับสนุนให้มีกรรมการจากการเลือกตั้งเป็นจำนวนเท่ากับกรรมการแต่งตั้งโดยตำแหน่ง
รัฐมนตรีเข้าใจดี พระราชบัญญัติที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2511 จึงนับเป็น
ความก้าวหน้าที่สำคัญของการแพทย์ไทย  ผู้เขียนไม่ได้สนใจติดตามเรื่องของแพทยสภาอีกจน พ.ศ. 2513 ได้ 
รับทราบว่าได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในห้าอนุกรรมการสาขาอายุรศาสตร์ เพื่อสอบความรู้ความชำนาญเพื่อ
วุฒิบัตร/หนังสืออนุมัติสาขาอายุรศาสตร์ จำได้ดีว่านอกจากอาจารย์หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์จาก 3 คณะแพทย์
ในกรุงเทพฯ คือ ศิริราช จุฬาฯ และรามาฯ ก็มีอาจารย์ประเวศ วะสี และผู้เขียน อาจารย์ประเวศขอถอนตัว
เพื่อให้ผู้ที่มีคะแนนสูงลำดับถัดไปซึ่งบังเอิญเป็นอาจารย์นายแพทย์ชาญ สถาปนกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้เป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ

        การที่แพทยสภาได้เริ่มต้นวางรากฐานการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาวิชาต่าง ๆ นอกจากจะ
แก้ปัญหารีบด่วนในขณะนั้นที่แพทย์ไทยเริ่มเดินทางออกไปสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมากเพื่อฝึกอบรมเพิ่มเติมแล้ว
ยังประสพความสำเร็จอย่างยิ่ง  ประเทศไทยผิดกับสหราชอาณาจักรที่แพทยสภารับภาระหลักในการจัดการสอบ
ความรู้เพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทางเพราะวิทยาลัยหรือราชวิทยาลัยหลักของเขาก่อกำเนิดและดำเนินการมาเป็น
ร้อย ๆ ปี  แพทยสภาของเขา (General Medical Council, GMC) จึงไม่ต้องรับภาระเรื่องการฝึกอบรมแพทย์
เฉพาะทาง ในขณะที่ไทยเรายังไม่มีสถาบันที่กล่าว นับว่าโชคดีที่แพทยสภาไทยได้ช่วยทำให้ราชวิทยาลัย 13 สาขา
และวิทยาลัยอีก 1 สาขา มีความเป็นเอกภาพ

        เมื่อ พ.ศ. 2533 มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ ผู้เขียนได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีท่านอดีตปลัดกระทรวงฯ คือ นายแพทย์ไพโรจน์ นิงสานนท์
เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ ท่านได้มอบหมายให้ผู้เขียนช่วยดูแลงานด้านแพทยสภาแทนท่านในฐานะนายกแพทยสภาฯ
พิเศษ ผู้เขียนจึงได้มีโอกาสทราบงานบ้าง หลังจากหมดหน้าที่ทางการเมืองและไปทำหน้าที่คณบดีรามาฯ ต่อไป
จึงตัดสินใจมอบหมายให้รองคณบดีฯ ทำหน้าที่ทางด้านแพทยสภาแทน ได้มีความคิดแต่งตั้งให้มีรองคณบดี
ฝ่ายการศึกษาหลังปริญญาซึ่งเป็นตำแหน่งหน้าที่ใหม่ (และดูเหมือนจะเป็นคณะฯ แรก) รับผิดชอบการฝึกอบรม
แพทย์ประจำบ้านทุกสาขาของคณะฯ ประสานงานกับหัวหน้าภาควิชาฯ และที่สำคัญก็คือ เป็นผู้เข้าประชุม
แพทยสภาทุกครั้งแทนคณบดี  ก็โชคดีมากที่เลือกได้ถูกคนคือ ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
นายกแพทยสภาปัจจุบัน ซึ่งได้รับเลือกเป็นกรรมการแพทยสภาด้วยคะแนนเป็นอันดับแรกเสมอมาและ
ดำรงตำแหน่งนายกแพทยสภามาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 (ยกเว้นวาระ 2554-2556)  ส่วนเลขาธิการซึ่งเป็นตำแหน่ง
ที่สำคัญแพทยสภาก็โชคดีที่ได้แพทย์หนุ่มผู้มีความสามารถเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา 
รวมกรรมการทั้งคณะฯ ได้ช่วยกันทำให้แพทยสภาประสพความสำเร็จน่าชื่นชมจนแพทยสภาจะมีอายุครบ 48 ปี
ในวันที่ 9 ตุลาคมนี้


แนะนำเอกสาร
1)  ชัญวลี ศรีสุโข  (พ.ศ. 2558)  ครบรอบ 47 ปี หมายเหตุแพทยสภา  3 : 9

2)  www.tmc.or.th  (พฤษภาคม 2559)         

 

[ back ]