Orthostasis

Orthostasis
Orthostatic hypotension
Orthostatic tremor

        “Ortho” มีรากศัพท์จากภาษากรีกซึ่งใช้เป็นคำเสริมหน้า แปลว่า ตรงหรือตั้ง มีคำภาษาอังกฤษ
หลายคำที่แพทย์รู้จักดี เช่น orthopaedics (อ่าน “ออเธอพี´ดิกสฺ” แต่เขียน ศัลยกรรมออร์โทพิดิกส์) หรือ
ศัลยกรรมกระดูกซึ่งที่จริงคำเดิมหมายถึง ศิลปะการแก้ไขและป้องกันความผิดปกติของกระดูก  
ในเด็ก ส่วน “stasis” คือ การหยุดนิ่ง  orthostasis เป็นภาวะที่หยุดนิ่งในท่ายืนตรง

        Orthostatic hypotension (OH) คือ ภาวะที่ความดันเลือดตกเมื่อยืนขึ้นตรงอย่างน้อยสุดความดันเลือด
ช่วงหัวใจบีบตัว (systolic) ลดลง 20 มิลลิเมตร (มม.) ปรอทหรือความดันเลือดช่วงหัวใจคลายตัว (diastolic)
ลดลง 10 มม.ปรอทหรือถ้าใช้การทดสอบด้วยเตียงกระดกได้ (tilt-table) ที่ 60 องศา

        การปรับระบบไหลเวียนเลือดในคนขึ้นอยู่กับระบบประสาทและฮอร์โมน ระบบประสาทเพื่อการปรับเร็ว
ส่วนฮอร์โมนใช้เวลานานกว่า  เวลาเรายืนขึ้นทันทีทันใดประสาทส่วนกลางได้รับทราบสัญญาณจากหูส่วนใน
(vestibular otolith) และรีเฟล็กซ์จากปลายประสาทรับแรงดัน (baroreceptor reflex) ในหลอดเลือดแดงกระตุ้น
ประสาทซิมพาเทติก (sympathetic) ทำให้หลอดเลือดแดงหดตัวและหัวใจเต้นเร็ว  ในกรณีที่ปริมาตรน้ำเลือด
(plasma) ลดลงรีเฟล็กซ์ปลายประสาทรับแรงดันจากหลอดเลือดดำและหัวใจห้องบน (atria) จะกระตุ้นให้
หลอดเลือดหดตัวและปริมาตรเพิ่มขึ้น  สำหรับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ วาโซเพรสซิน (vasopressin)
หรือฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะที่สร้างจากเซลล์ประสาทส่วนกลางในไฮโปทาลามัสและเรนินจากไตที่กระตุ้น
แอนจิโอเทนซินและการหลั่งอัลโดสเตียโรนเพื่อเก็บโซเดียมและน้ำ กลไกทั้งหลายที่กล่าวมามีหน้าที่ปรับ
ให้ความดันเลือดเป็นปกติเวลาเราอยู่ในท่ายืน

        ใน ค.ศ. 1960 ประสาทแพทย์ชาวอเมริกัน มิลตัน ชาย (Milton Shy) และเกลนน์ เดรเกอร์
(Glenn Drager) ศึกษาและรายงานผู้ป่วยระบบประสาทอัตโนวัติล้มเหลว (autonomic failure) ซึ่งในปัจจุบัน
ยอมรับกันว่าผู้ป่วยเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็น Multiple System Atrophy (MSA) มีพยาธิภาวะอัลฟาซินิวเคลอิน
เกิดขึ้นเอง (sporadic alpha-synucleinopathy) บางรายมีอาการเหมือนพาร์กินสัน (Parkinsonism)
ที่ไม่ตอบสนองต่อยาลีโวโดพา (levodopa)  ส่วนในรายที่พบแต่ที่มีอาการระบบประสาทอัตโนวัติล้มเหลว
พยาธิสภาพของเซลล์ในปมประสาทดังกล่าวพบเลวี บอดี (Lewy body) เช่นเดียวกับที่พบใน substantia nigra
บ้างแต่ไม่มากเหมือนในผู้ป่วยมีอาการเหมือนพาร์กินสัน

        ประสบการณ์ของผู้เขียนพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1966 รายแรกเป็นหญิงไทยอายุเกือบ 60 ปี
มาด้วยอาการหน้ามืดเป็นลมทุกครั้งที่ลูกๆ พาไปดูภาพยนตร์และเวลาจบลุกขึ้นยืนตรงเวลาเพลงสรรเสริญ
พระบารมีเริ่ม !  ในสมัยนั้นภาพยนตร์ในโรงหนังยังฉายเป็นรอบ ๆ  อีกรายเป็นมารดาเพื่อนอาจารย์ศัลยแพทย์
ที่ศิริราช ที่ศึกษามาจากสกอตแลนด์ อายุไล่เลี่ยกับรายแรก รายนี้มีอาการเหมือนโรคพาร์กินสันที่ไม่มีอาการสั่น

        เมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานเกี่ยวกับ OH ว่าการศึกษาคัดกรองผู้ป่วยที่สงสัยจะเป็นโรคนี้ควรจะต้อง
ให้ผู้ป่วยยืนนิ่งนานกว่า 3 นาที

        อาการสั่นเวลายืนตรง (Orthostatic tremor) เป็นโรคที่พบได้ยาก ขาทั้งสองข้างของผู้ป่วยจะสั่น
เฉพาะเวลายืนตรง นั่งลงหรือแม้กระทั่งก้าวเดินอาการจะดีขึ้น จากผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ 184 รายที่รวบรวมได้
จากปี ค.ศ. 1976-2013 ที่เมโยคลินิก (Mayo Clinic) มินนิโซตา สหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ยประมาณ
59 ปี เป็นหญิงมากกว่าชาย  อาการสั่นอยู่ระหว่าง 12.5 ถึง 20 Hz (เฉลี่ย 15.7) สาเหตุและกำเนิดพยาธิ
(pathogenesis) ไม่ทราบแน่ชัด  ยารักษาอาการที่ให้ผลดีที่สุดคือ benzodiazepine รองลงมาคือ ยาสกัดกั้นเบต้า
(beta-blocker) และยากันชัก เช่น gabapentin ตามลำดับ
 

แนะนำเอกสาร
1)  Kaufmann H, Jacob G.  ( 2015).  Early and delayed orthostatic hypotension. Time tells. 
     Neurology.  85 : 1358-1359.

2)  Gibbons CH, Freeman R.  (2015).  Clinical implications of delayed orthostatic hypotension:
     A 10-year follow-up study.  Neurology.  85 : 1362-1367.

3)  Shy GM, Drager GA.  (1960).  A neurological syndrome associated with orthostatic hypotension:
     A clinical-pathologic study.  Arch Neurol.  2 : 511-527.

4)  Gilman S, Wenning GK, Low PA, et al.  (2008).  Second consensus statement on the diagnosis
     of multiple system atrophy.  Neurology.  71 : 670-676.

5)  Koga S, Aoki N, Uitti RJ, et al.  (2015).  When DLB, PD and PSP masquerade as MSA. 
     An autopsy study of 134 patients.  Neurology.  85 : 404-412.

6)  Hassan A, Ahiskog JE, Matsumoto JY, et al.  (2016).  Orthostatic tremor.  Clinical,
     electrophysiologic,  and treatment findings in 184 patients.  Neurology.  86 : 458-464.

 

[ back ]