Dengue

Dengue

        เป็นโรคติดเชื้อไวรัส (Flavivirus) ซึ่งมี 4 ชนิดเรียก DEN 1-4 มีพาหะเป็นยุงลาย (Aedes)
ซึ่งปี ๆ หนึ่งมีคนเป็นประมาณ 50 ล้านคนในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก  ชื่อ “เดงกี” เป็นคำภาษาสวาฮิลิ (Swahili)
ของชาวแบนตู (Bantu) ซึ่งอาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา ได้แก่ ประเทศเคนยา ยูกันดา โมซัมบิก
และสาธารณรัฐคองโก มีความหมายว่าผีเข้า  (evil spirit) ในประเทศจีนเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษก็มีบันทึกผู้คนป่วย
เป็นไข้เพราะน้ำเป็นพิษจากแมลงที่บินได้ และในปลายศตวรรษที่ 18 เนื่องจากมีการค้าทาส ยุง (Aedes aegypti)
จากแอฟริกาติดเรือไประบาดที่เอเซียและอเมริกาเหนือ  หลังสงครามโลกครั้งที่สองมีรายงานโรคเดงกีเป็นครั้งแรก
ที่ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อ ค.ศ. 1953

        ผู้เขียนไม่ใช่อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อแต่บังเอิญเคยเป็นโรคไข้เลือดออกเดงกีถึง  2 ครั้ง ๆ แรก
เมื่ออายุ 25 ปี (พ.ศ. 2503) หลังจากกลับจากไปศึกษาที่สหราชอาณาจักร 8 ปีและครั้งที่สอง (พ.ศ. 2530)
เมื่ออายุ 52 ปี  ครั้งหลังนี้มีอาการรุนแรง (เกล็ดเลือดต่ำกว่า 2 หมื่นต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร) ต้องเข้ารับการรักษา
ในโรงพยาบาล จึงสนใจโรคนี้มาตลอด

        ปัจจุบันปี ๆ หนึ่งเชื้อไวรัสเดงกี (DENV) ติดคนประมาณ 390 ล้านคนในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก
โดยอุบัติการเพิ่มขึ้น 30 เท่าในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยเป็นผู้ใหญ่และวัยรุ่นรวมกันกว่า 1 ใน 3 พบผู้ป่วย
ที่เป็นไข้และมีอาการรุนแรงเช่นเลือดออก เป็นผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นกว่าเมื่อ 50 ปีก่อนด้วย

        รายงานแรกในโลกทางพยาธิวิทยาไปจากประเทศไทยโดยศาสตราจารย์นายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ
(พ.ศ. 2471-2547)  ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา (พ.ศ. 2465-2554) และศาสตราจารย์
นายแพทย์วิจิตร บุญพรรคนาวิก (พ.ศ. 2477-) จากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้ศึกษาจากการชันสูตรศพ 100 ราย
ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเมื่อ ค.ศ. 1967 ไม่พบหลักฐาน DENV รุกล้ำทำลายเซลล์ประสาท 
แต่ 30 ปีต่อมาลัมและคณะ (Lum, et al) รายงานผู้ป่วยเด็กติดเชื้อ DENV 6 รายมีเนื้อสมองอักเสบและ
พบ DENV-3 ในน้ำหล่อไขสันหลัง 5 ราย หนึ่งในจำนวนนั้นพบไวรัสในเลือดอีกด้วย  ค.ศ. 1999
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงอุษา ทิสยากร และคณะ ก็รายงานผู้ป่วยไทยติดเชื้อเดงกีพร้อมการสำแดงฤทธิ์
ทางระบบประสาท และ 2 ปีต่อมาศาสตราจารย์แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ และคณะซึ่งรวม
อาจารย์นายแพทย์สุธี ยกส้าน รายงานสาเหตุสมองอักเสบในเด็กจากเชื้อไวรัสนานาชนิดรวม DENV 
ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทจาก DENV ที่พบในประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในประเทศบราซิลมาจาก
เชื้อ DENV-2 และ DENV-3 เป็นส่วนใหญ่แต่ DENV-1 และ DENV-4 ก็พบได้และพบอาการ
จากประสาทไขสันหลังอักเสบนอกจากเนื้อสมองหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ  ในผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อไวรัส
ที่ระบบประสาทส่วนกลางในเวียดนาม DENV มีความชุกร้อยละ 5 ถึง 6 และในประเทศไทยร้อยละ 20 
การเกิดพยาธิสภาพที่ระบบประสาทนอกจากเป็นผลเนื่องจากเลือดออกเหตุเกล็ดเลือดน้อยและจาก
เชื้อไวรัสรุกรานแล้วยังอาจเกิดจากแรงดันโลหิตต่ำ เกิดภาวะ ช็อก เมตาบอลิสม์ไม่สมดุลและ
จากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเองหลังการติดเชื้อได้

        ในเรื่องการคิดค้นหาและการพัฒนาวัคซีนป้องกัน DENV ทั้ง 4 ชนิดก็เป็นที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง
ที่แพทย์ไทยได้มีส่วนริเริ่มศึกษาวิจัยและดำเนินการมาตลอด จะถือว่าเราเป็นประเทศแรก ๆ ก็ว่าได้
นักวิจัยไทยที่ใช้เวลาตลอดชีวิตการเป็นแพทย์ทุ่มเทให้กับการพัฒนาวัคซีน ได้แก่ นายแพทย์สุธี ยกส้าน
แพทย์รามาธิบดีรุ่น 3 จากเมืองตรัง ถึงแม้จะพบอุปสรรคและข้อจำกัดนานัปการแต่ไม่ย่อท้อทำให้
อาจารย์กุมารแพทย์หลายท่านได้มีโอกาสทำการทดลองใช้วัคซีนป้องกันเดงกี นอกจากอาจารย์กุมารแพทย์
ที่กล่าวถึงแล้วก็ยังมีศาสตราจารย์แพทย์หญิงอรุณี ทรัพย์เจริญ จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล 
เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิการบดี (พ.ศ. 2538-2542) ผู้เขียนได้มีโอกาสรับทราบความสามารถและการทุ่มเทเวลา
ให้กับการวิจัยและการทดลองวัคซีนของกุมารแพทย์ไทยทั้งหลายที่ได้กล่าวถึง  เคยได้ไปเจรจากับบริษัทข้ามชาติ
ที่ผลิตวัคซีนที่ฝรั่งเศส แต่ปัจจุบันก็ทราบว่าวัคซีนที่ใช้ DENV จากการตัดต่อยีนพันธุกรรมโดยประเทศอื่น
ในเอเซียได้ทำให้การผลิตวัคซีนสะดวกขึ้น  ก็เป็นที่หวังกันว่าในไม่ช้าเราก็คงจะมีวัคซีนที่มีคุณสมบัติครบถ้วน
ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไป

        เป็นที่น่าสังเกตว่ามีอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อไวรัสเป็นจำนวนน้อยมากที่สนใจและ “เชี่ยวชาญ”
โรคเดงกีผิดกับโรคติดเชื้อเอชไอวีซึ่งประเทศไทยมีผู้สนใจและทำวิจัยกันมาก  ก็เป็นที่หวังว่าเดงกีจะได้รับ
ความสนใจมากขึ้นจากอายุรแพทย์และประสาทพยาธิแพทย์ และคงจะมีแพทย์ไทยอีกบ้างที่อุทิศชีวิตการทำงาน
ในเรื่องนี้เช่นนายแพทย์สุธี ยกส้าน !


แนะนำเอกสาร
1)  Dengue fever Etymology.  (2015).  Wikipedia.

2)  Bhamarapravati N, Tuchinda P, Boonyapaknavik V.  (1967).  Pathology of Thailand haemorrhagic
     fever, a study of 100 autopsy cases.  Ann Trop Med Parasitol.  61 : 500-510.

3)  Lum LCS, Lam SK, Choy YS, et al.  (1996).  Dengue encephalitis: a true entity?
     Am J Trop Med Hyg.  54 : 256-259.

4)  Guzman MG, Harris E.  (2015).  Dengue.  Lancet.  385 : 453-465.

5)  Christo PP.  (2015).  Encephalitis by dengue virus and other arboviruses.  Arq Neuropsiquiatr. 
     73 : 641-643.

6)  Puccioni-Sohler M, Rosadas C.  (2015).  Advances and new insights in the neuropathogenesis
     of dengue infection.  Arq Neuropsiquiatr.  73 : 698-703.

7)  Wiwanitkit V.  (2005).  Magnitude and pattern of neurological pathology in fatal dengue hemorrhagic
     fever: a summary of Thai cases.  Neuropathology.  25 : 398

8)  Joob B, Wiwanitkit V.  (2015).  Dengue and brain hemorrhage.  Arq Neuropsiquiatr.  73 : 368

9)  Chan KP, Lau GK, Doraisingham S, et al.  (1995).  Adult dengue deaths in Singapore. 
     Clin Diagn Virol.  4 : 213-222.

10) สุธี ยกส้าน  แพทย์รามาธิบดีรุ่น 3  (พ.ศ. 2515)

 

 

[ back ]