Karl Wernicke

Karl Wernicke

        เมื่อถูกถามชื่อ แวร์นิเก (ค.ศ. 1848-1905) อายุรแพทย์ ประสาทแพทย์และแพทย์ทั่วไปส่วนใหญ่
จะนึกถึง “โรคจิต แวร์นิเก-คอร์สาคอฟฟ์” (Wernicke-Korsakoff psychosis) หรือภาวะจิตประสาทที่พบ
ในผู้ป่วยดื่มสุรามากจนสมองขาดวิตามินบี 1 (thiamine) น้อยคนที่จะนึกถึงภาวะเสียการสื่อความ
เหตุศูนย์รับความรู้สึก (sensory aphasia) ก่อน  ชื่อ Wernicke’s aphasia ในปัจจุบันมักเรียก fluent aphasia ซึ่ง
รวมภาวะเสียการสื่อความเหตุสายใยประสาทที่เชื่อมต่อกันในผิวสมองเกิดไม่ติดต่อกัน (conduction aphasia) ด้วย 
เดิมเป็นที่เข้าใจว่าสมองกลีบขมับซ้ายส่วนหลัง (posterior left temporal lobe) เป็นศูนย์รับความรู้สึก
และความเข้าใจ (comprehension) การสื่อภาษามาตลอดจนเมื่อเร็ว ๆ นี้ มาเรค-มาร์เสล เมสูแลม
(Marek-Marsel Mesulam) ศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลกและคณะจากมหาวิทยาลัยนอร์ท เวสเทิร์น
สหรัฐอเมริกา ศึกษาผู้ป่วยภาวะเสียความที่ลุกลามแบบปฐมภูมิ (Primary Progressive Aphasia หรือ PPA)
72 รายโดยการใช้เอ็มอาร์ไอที่วัดปริมาณได้ (quantitative MRI) ร่วมกับการทดสอบภาษาพบว่า กระบวนการ
รับความรู้สึกคำแต่ละคำ (single-word processing) มีศูนย์อยู่นอกบริเวณขอบเขตเนื้อสมองที่เรียกตามชื่อ
แวร์นิเก (Wernicke’s area) และการเข้าใจประโยคที่สื่อความเป็นภาระหน้าที่ของเครือข่ายที่กระจายอยู่ทั่วไป
บริเวณสมองกลีบหน้าและกลีบข้างด้านซ้ายต่างจากกระบวนการรับรู้ความรู้สึกคำแต่ละคำ  ความรู้ดั้งเดิมอาศัย
การศึกษาผู้ป่วยที่สมองพิการเหตุหลอดเลือดแดงแตกหรืออุดตันซึ่งพยาธิสภาพเกิดขึ้นทำลายทั้งผิวสมองส่วนนอก
(cortex) และเส้นใยประสาทในเนื้อขาว (white matter) ด้วยข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาวิจัยใหม่ทำให้
แผนผังสมองเกี่ยวกับภาษาต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง

        ต่อไปผู้เขียนขอเล่าประวัติคาร์ล แวร์นิเก เป็นสังเขป

        แวร์นิเกเป็นประสาทจิตแพทย์ชาวเยอรมัน เริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยของคาร์ล ฟรีดไรช์ ออตโต เวล์ฟาล
(Karl Friedreich Otto Wesphal, ค.ศ. 1833-1890) ศาสตราจารย์ทางจิตเวชศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน
ผู้เป็นคนแรก ๆ ที่รายงานผู้ป่วยที่เรียก pseudosclerosis ซึ่งต่อมาคินเนียร์ วิลสัน (Kinnear Wilson,
ค.ศ. 1878-1937) ที่สถาบันประสาทวิทยาแห่งชาติได้ค้นพบและรายงานไว้อย่างสมบูรณ์เกี่ยวกับโรควิลสัน
(Wilson’s disease) ที่พวกเรารู้จักกันในปัจจุบัน หลังสำเร็จเป็นแพทย์แวร์นิเกสนใจประสาทกายวิภาคศาสตร์มาก
ความที่เป็นคนฉลาดเมื่ออายุเพียง 26 ปีเขาก็ค้นพบว่ารอยโรคที่สมองกลีบขมับด้านซ้ายทำให้เกิด sensory
dysphasia และเมื่ออายุได้ 33 ปีได้รายงานภาวะจิตประสาทในผู้ป่วยที่ดื่มสุรามากซึ่ง Sergei Sergeyovich
Korsakoff (ค.ศ. 1854-1900) จิตแพทย์ชาวรัสเซียที่มอสโคว์ได้รายงานไว้ในเวลาไล่เลี่ยกันดังที่ผู้เขียน
ได้เกริ่นไว้แล้ว  วงการแพทย์ทราบหลัง ค.ศ. 1936 เมื่อเซอร์ รูดอล์ฟ ปีเตอร์ส (Sir Rudolph Peters,
ค.ศ. 1889-1982) นักชีวเคมีชาวอังกฤษค้นพบว่าโรคดังกล่าวมีสาเหตุจากขาดวิตามินบี 1  นอกจากที่กล่าว
แวร์นิเกยังเป็นผู้ค้นพบศูนย์ควบคุมการกลอกตาไปด้านข้าง (centre for lateral gaze) ที่ก้านสมอง
เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่แวร์นิเกถึงแก่กรรมเมื่ออายุเพียง 57 ปี


แนะนำเอกสาร
1)  Dalman AJE, Eling P.  (2000).  Wernicke’s aphasia.  In: Neurological Eponyms.  Eds. PJ Koehler,
     GW Bruyn, JMS Pearce.  Oxford, Oxford University Press, pp. 244-259.

2)  Mesulam MM, Thompson CK, Weintraub S, Rogalski EJ.  (2015).  The Wernicke conundrum and
     the anatomy of language comprehension in primary progressive aphasia.  Brain.  138 : 2423-2437.

3)  อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พ.ศ. 2556)  P-Primary Progressive Aphasia.  เกร็ดความรู้อายุรศาสตร์ A-Z เล่ม 2 
     หน้า 69-73

4)  Neurology Today.  (2015).  New Evidence for redrawing the language map of the brain. 
     15 : 1-14-16.

5)  The Wernicke-Korsakoff Syndrome.  (1989).  Victor M, Adams RD, Collins GH. 
     Contemporary Neurology Series 7.  Eds. F Plum, FH McDowell.  F.A. Davis Company, USA.

6)  อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ  (พ.ศ. 2549)  ผู้ป่วยติดเหล้า เพ้อสับสน กลอกตาได้ไม่ปกติ
     ใน เรียนอายุรศาสตร์จากกรณีผู้ป่วย เล่ม 5  กรุงเทพฯ: บริษัท ซิล์คโรดพับบลิเชอร์เอเยนซี จำกัด 
     หน้า 119-131 

 

[ back ]