
Will
เป็นคำภาษาอังกฤษที่มีความหมายได้หลายอย่าง ถ้าเป็นกริยานุเคราะห์ (auxillary verb) ใช้กับนาม
และสรรพนามแสดงอนาคตคือ “จะ” หรือความตั้งใจ ถ้าเป็นนามคือ ความตั้งใจ เจตนารมณ์หรือพินัยกรรม !
ปราชญ์ถือว่า เจตนารมณ์ คือ สมบัติของจิตใจ สำหรับแพทย์และประสาทแพทย์โดยเฉพาะมักสนใจ
อยากทราบว่าแล้วส่วนไหนของสมองเล่าที่ “รับผิดชอบ” ความรู้สึกนึกคิดเช่นนั้น ? เราคุ้นเคยกับการทดลอง
กับสมองสัตว์หรือสมองของคนจากการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าหรือสารเคมีและการทำลาย บางส่วนของสมอง
หรือศึกษาเมื่อเกิดพยาธิสภาพ เช่น เกิดเนื้องอกหรือผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุที่สมอง ผู้ป่วยที่เป็นที่รู้จักกันดีมากก็คือ
ฟิเนียส เกจ (Phineas Gage, ค.ศ. 1823-1860) หัวหน้าคนงาน สร้างรางรถไฟที่รอดตายจากชะแลงเหล็ก
ทะลุกะโหลกศีรษะซีกขวาด้านหน้า ทำลายสมองกลีบหน้า ทำให้บุคลิกภาพเปลี่ยนเป็นคนละคน เราศึกษาผู้ป่วย
ทางจิตที่ได้รับผ่าตัดสมองส่วนเนื้อขาวด้านหน้า (frontal leucotomy) เมื่อ 60-70 ปีก่อน แนวคิดในเรื่อง
localization จึงเป็นเรื่องเคยชินสำหรับแพทย์ แต่เมื่อมาถึงเรื่องที่ละเอียดอ่อน เช่น เรื่องความตั้งใจกลับเป็นเรื่อง
ที่เราทุกคนไม่ทราบแน่ชัด ปัจจุบันมีนักวิจัยทางประสาทวิทยาศาสตร์ที่สนใจเรื่องความตั้งใจ ความสมัครใจหรือ
ทำตามใจชอบ (free will) เรื่องการหมดกำลังใจและเรื่องการฝืนใจ (against the will) ! โดยใช้ผู้ป่วยเป็น
กรณีศึกษา พอสรุปได้ว่าสมองกลีบหน้าโดยเฉพาะส่วนใน (medial region) เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องความตั้งใจ
และความสมัครใจ สมองกลีบหน้าทั้งสองข้างเป็นเสมือน “ผู้บริหารอาวุโส” ของสมองและบุคลิกภาพที่
ประสานงาน สั่งห้ามและจดจำสัญชาน (perception) และแรงกระตุ้นที่ได้รับจากระบบลิมบิก (limbic system)
จาก striatum จากสมองด้านขมับด้านข้างด้านท้ายทอยและเนื้อสมองส่วนนอกใหม่ (neocortex) ที่รับรู้
ความรู้สึกต่าง ๆ ด้วย หน้าที่ของ “ผู้บริหารอาวุโส” ดังกล่าวสั่งการเป็นส่วนที่ตัดสินใจและวางแผนจุดมุ่งหมาย
และยังร่วมกับส่วนสมองที่รับผิดชอบการขับเสริม (supplementary motor areas) ควบคุมการเคลื่อนไหวของ
ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตามพฤติกรรมที่อาจรวมกันเรียก ทำตามใจชอบ
แนะนำเอกสาร
1) สฤษดิคุณ กิติยากร (พ.ศ. 2550) พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย พิมพ์ครั้งที่ 4 (ฉบับปรับปรุงใหม่)
สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน้า 796
2) Phineas Gage. Wikipedia. (2015).
3) Joseph R. (2011). The neuroanatomy of Free Will, Loss of Will, Against the Will, “Alien Hand”.
J Cosmology. 14 : 4441-4460.
