
Ranvier & Rolando
เห็นชื่อทั้งสอง 'R' ที่กล่าวถึง แพทย์และนักศึกษาแพทย์ส่วนมากคงจะพอจำได้ !
รายแรก หลุยส์ อองตวน รองวิเอ (Louis Antoine Ranvier, ค.ศ. 1835-1922) เป็นแพทย์ชาวฝรั่งเศส
ผู้เชี่ยวชาญทางพยาธิวิทยา ทางกายวิภาคศาสตร์และมิญชวิทยา (histology) ที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะมีนามเรียก
“ปุ่มรองวิเอ” (node of Ranvier) ที่ค้นพบยาวประมาณหนึ่งไมโครเมตรเป็นช่วง ๆ บนปลอกไมอีลิน
(myelin sheath) ของเส้นประสาทส่วนปลาย เป็นตำแหน่งที่ช่วยทำให้กระแสไฟฟ้าประสาทไปเร็วขึ้นแบบ
ก้าวกระโดด (saltatory conduction)
ปัจจุบันความเข้าใจโครงสร้างระดับอณูของปุ่มรองวิเอก้าวหน้าไปมาก ทำให้นักวิจัยที่สนใจ
โรคประสาทส่วนปลายโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับภาวะภูมิต้านตนเองอย่างกลุ่มอาการกิย์แยง-บาร์เร
(Guillain-Barré syndrome, GBS) หันมาศึกษาโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของไมอีลิน ณ จุดนี้
ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า GBS แบ่งได้เป็นหลายชนิด เช่น ชนิดอักเสบเฉียบพลันแบบ acute inflammatory
demyelinating polyneuropathy (AIDP) แบบ acute motor axonal neuropathy (AMAN)
และชนิดอักเสบเรื้อรังแบบ chronic inflammatory demyelinating polyneuropathy (CIDP) เป็นต้น
เมื่อเร็ว ๆ นี้การศึกษาหาแอนติเจนใน AIDP และ CIDP ที่ยังไม่พบก็ได้พบแอนติบอดีใหม่ ๆ
ต่อโปรตีนที่ปุ่มรองวิเอเพิ่มขึ้นอีกหลายตัวโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส
(cytomegalovirus หรือ CMV) เป็นปรากฏการณ์เลียนแบบอณู (molecular mimicry) เหมือนที่เคยพบ
กับการติดเชื้อ Campylobacter jejuni และ Haemophilus influenza ที่ทราบกันแล้ว
'R' รายที่สอง ลุยจิ โรลานโด (Luigi Rolando, ค.ศ. 1773-1831) เป็นแพทย์นักกายวิภาค
ชาวอิตาเลียน เกิดที่เมืองตูริน (Turin) แต่ศึกษาที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) เมื่อนโปเลียนเข้ายึดอิตาลี
โรลานโดถูกเนรเทศไปอยู่สาร์ดิเนีย (Sardinia) ถึง 12 ปีกว่าจะกลับไปเป็นศาสตราจารย์ทางกายวิภาคศาสตร์
ที่ตูริน ชื่อของโรลานโดเป็นชื่อที่สองต่อจากฟรานซิสคัส สิลเวียส (Franciscus Sylvius, ค.ศ. 1614-1672)
ที่ชื่อถูกนำไปใช้เรียกชื่อ รอยแยกสมอง (cerebral fissure) นานถึง 176 ปีต่อมา (Fissure of Sylvius
ค.ศ. 1663, Fissure of Rolando ค.ศ. 1839) !
ชื่อลมชักโรลานดิก (Rolandic epilepsy, RE) อาจจะไม่เป็นที่คุ้นหูของอายุรแพทย์ เป็นโรคลมชัก
ที่เพิ่งรู้จักกันไม่นานนักและเกิดขึ้นในเด็กและวัยรุ่นจึงเป็นภาระของกุมารแพทย์ RE เป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง
พบบ่อยในเด็กอายุ 3-13 ปี โดยเฉพาะอายุ 8-9 ปีและมักหายไปเองระหว่างอายุ 14-18 ปี จุดเริ่มต้นอยู่ที่
สมองร่องกลาง (central sulcus) หรือที่เรียกบริเวณขมับถึงส่วนกลาง รอบ ๆ รอยแยกโรลานดิก
โดยเด็กมีอาการหน้าหรือปากข้างหนึ่งกระตุกหรือหน้าครึ่งซีกชา อาการอาจเกิดขึ้นขณะนอนหลับตอนกลางคืน
มีเสียงคล้ายกรน บางครั้งจะพูดแต่พูดไม่ได้ ปากมีน้ำลายสอ วินิจฉัยยืนยันได้จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
พบคลื่นปลายแหลมที่บริเวณขมับถึงส่วนกลาง (centrotemporal spikes) เนื่องจากอาการไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อย
ในหลายกรณีแพทย์มักไม่ให้ยากันชักแต่ที่จำเป็นก็คือ การอธิบายให้พ่อแม่เด็กเข้าใจว่า RE จะหายเอง
ในรายที่จะต้องใช้ยาก็ใช้ไม่นานและยาเช่น valproate, gabapentin หรือ levetiracetam ก็ให้ผลดีใกล้เคียงกัน
ดีที่สุดก็คือให้ผู้ปกครองเด็กและเด็กพบกุมารประสาทแพทย์ โดยเฉพาะเมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานพบภาวะ
เสียการอ่านรู้ความ (dyslexia) ในเด็กที่เป็น RE ซึ่งอาจเป็นจนโตแล้ว ประเภทอ่านถนนคอนกรีตเป็น
ถนนคอ-นก-รีต เป็นต้น !
แนะนำเอกสาร
1) Willison H, Scherer SS. (2014). Ranvier revisited. Novel nodal antigens stimulate interest
in GBS pathogenesis. Neurology. 83 : 106-108
2) Sawai S, Satoh M, Mori M, et al. (2014). Moesin is a possible target molecule for
cytomegalovirus-related Guillain-Barr? syndrome. Neurology. 83 : 113-117.
3) Barbara JG. (2007). Louis Antoine Ranvier (1835-1922). Journal of Neurology. 253 : 399-400.
4) Pearce JMS. (1999). The fissure of Rolando. J Neurol Neurosurg Psychiatry. 67 : 528.
5) Beaussart M. (1972). Benign epilepsy of children with Rolandic (Centro-temporal)
paroxysmal foci. A clinical entity. Study of 221 cases. Epilepsia. 13 : 795-811.
6) Garzon E. (2014). Is rolandic epilepsy really benign? Arq Neuropsiquiatr. 72 : 821-823.
7) Oliviera EP, Neri ML, Capelato LL, et al. (2014). Rolandic epilepsy and dyslexia.
Arq Neuropsiquiatr. 72 : 826-831.
