
Mentor
Mentoring
“เม็นทอ” วีรบุรุษในนิยายกรีก เป็นเพื่อนที่ฉลาดและซื่อสัตย์ของยูลิสซิส (Ulysses) กษัตริย์แห่ง
กรุงอิทาคะ (Ithaca) อาจารย์แพทย์และอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาไทยรู้จักคำนี้ดีซึ่งหมายถึง ครูผู้ให้ความรู้
และคำปรึกษา ผู้ทำหน้าที่ฝึกสอนและเป็นพี่เลี้ยง เคยมี “ประชาชนอาวุโส” ท่านหนึ่งแปลคำ “เม็นทอ” ว่าคือ
ผู้นำความคิด ก็ถูกต้องแต่ท่านคงจะทราบว่าคำภาษาอังกฤษ “mentor” มาจากชื่อคนในนิยายไม่เกี่ยวกับหรือ
มาจากคำภาษาอังกฤษ “mental”
“mentoring” เป็นปรากฏการณ์ที่รู้จักกันแพร่หลายในแพทยศาสตร์และชีวเวชศาสตร์
เป็นความสัมพันธ์ระหว่างนักวิชาชีพเดียวกันรุ่นพี่และรุ่นน้อง พี่ปรารถนาและเต็มใจสละเวลาแนะนำสั่งสอนน้อง
ให้เป็นบุคคลแห่งวิชาชีพที่สมบูรณ์เหมือนเม็นทอในนิยายกรีก อุทิศกายและใจอบรมสั่งสอน “เทเลแมคัส”
(Telemachus) โอรสของเพื่อนกษัตริย์ยูลิสซีสผู้ฝากฝังลูกไว้เมื่อตนต้องไปรบล้อมกรุงทรอย (Troy)
การศึกษาสำรวจในวิชาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าในวิชาวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ กฎหมายหรือธุรกิจ
การมีเม็นทอมีผลดีและเป็นประโยชน์ต่อศิษย์ผู้สืบทอดวิชาชีพนั้น ปัจจุบันถึงกับใช้คำเม็นที (mentee)
และถึงขนาดเม็นทอกับเม็นทีอยู่ไกลกันคนละมุมโลกแต่ติดต่อกันเป็นประจำผ่านสื่อทางไกลที่ทันสมัย !
แท้ที่จริงแล้วตั้งแต่อดีตอันยาวนานการเรียนฝึกปฏิบัติทางเวชกรรมไม่ว่าในศัลยกรรม
อายุรกรรม ฯลฯ ครูหรือรุ่นพี่เป็นผู้ช่วยสอน แนะนำทักษะและศิลปะวิชาให้ศิษย์หรือน้องรวมทั้งเป็นแบบอย่าง
(role model) เป็นผู้ที่เป็นที่รักและเทิดทูน (idol) ให้ เพื่อนร่วมงานกันเช่นศัลยแพทย์กับอายุรแพทย์
สนิทสนมกัน อายุต่างกันบ้างก็เป็นเม็นทอกับเม็นทีได้ ดังตัวอย่างฮาร์วีย์ คุชชิง (Harvey Cushing,
ค.ศ. 1869-1939) ประสาทศัลยแพทย์และวิลเลียม ออสเลอร์ (William Osler, ค.ศ. 1849-1919)
อายุรแพทย์ ความสนิทสนม รักใคร่นับถือซึ่งกันและกัน ถึงขนาด “ผู้น้อง” ฮาร์วีย์ คุชชิง เขียนหนังสือชีวประวัติ
“ผู้พี่” วิลเลียม ออสเลอร์ ในปี ค.ศ. 1925 และได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) ในปีถัดไป
ที่เป็นที่ทราบกันดี เมื่อเร็ว ๆ นี้เซอร์ มาร์ก วัลพอร์ต (Sir Mark Walport, FRS, FRCP, FRCPath, FMedSci,
ค.ศ. 1953-) อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรครูห์มาติค (Rheumatology) อดีตศาสตราจารย์หัวหน้าภาควิชา
อายุรศาสตร์ที่วิทยาลัยอิมพีเรียล (Imperial College) มหาวิทยาลัยลอนดอน อดีตผู้อำนวยการสถาบัน
แวลคัมทรัสต์ (Wellcome Trust) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษ
(Chief Scientific Adviser) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงชีวิตส่วนตัวทางวิชาชีพแพทย์ถึงคำแนะนำที่ได้รับจากแพทย์รุ่นพี่
ถึงทำให้เลือกเป็น rheumatologist เพราะอยากทำวิจัยทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรับรู้วิชานี้มาก่อนขณะเป็นนักศึกษาแพทย์
เซอร์ มาร์ก เชื่อว่าการเป็นเม็นทอพูดง่าย ๆ ก็คือ การที่บุคคลรุ่นพี่สนใจที่ช่วยรุ่นน้องพร้อมให้คำแนะนำเสมอ
เพื่อประโยชน์ของรุ่นน้อง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตนเอง !
ในประเทศไทยเรื่องครูกับศิษย์ขนาดเป็น เม็นทอ-เม็นที นั้นมีให้เห็นในประวัติความเป็นมาของ
โรงเรียนแพทย์ไม่ว่าจะเป็นศิริราช จุฬาฯ รามาฯ เชียงใหม่ ขอนแก่นหรือสงขลา แม้แต่ในกระทรวงสาธารณสุข
ถึงจะหาได้ยากแต่ในช่วงที่ผู้เขียนเห็นมาในช่วงเวลากว่า 50 ปีว่าเป็นตัวอย่างของ “ปรากฏการณ์วิเศษ” นี้ก็คือ
นายแพทย์บุญยงค์ วงศ์รักมิตร อดีตแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดน่าน แพทย์จุฬาฯ รุ่น 8
ผู้ที่ผู้เขียนอายุรุ่นราวคราวเดียวกันและรู้จักคุ้นเคยกันดี อาจารย์นายแพทย์บุญยงค์เป็นเม็นทอให้แพทย์
ซึ่งปัจจุบันเป็นแพทย์ผู้มีชื่อเสียง ทำประโยชน์คุณูปการให้ประเทศหลายคนซึ่งแพทย์เหล่านั้นคงยืนยันให้ผู้เขียนได้
แนะนำเอกสาร
1) Barondess JA. (1997). On mentoring. JR Soc Med. 90 : 347-349.
2) Barondess JA. (1994). A brief history of mentoring. Trans Am Clin Climatol Assoc.
106 : 1-24.
3) Barondess JA. (1985). Cushing and Osler: the evolution of a friendship. Trans Stud Coll
Phys Phila. 7 : 79-112.
4) Levinson DJ. (1978). The seasons of a man’s life. New York. Alfred A. Knopf. pp. 384.
5) Glaser RJ. (1992). Mentors and role models. Pharos. Fall. 55 : 30.
6) In Touch, King’s College London. (2015). Alumni mentoring. Spring edition. p. 30.
7) Sir Mark Walport. (2015). The road less travelled: an interview. Clinical Medicine.
15 : 22-23.
