Vitamin D, Depression & Dementia
วิตามินดี (D) เป็นวิตามินตัวที่ 4 ที่ถูกค้นพบจึงใช้อักษร D โดยนักชีวเคมีชาวอเมริกันชื่อ
เอลเมอร์ แมคคอลลัม (Elmer McCollum, ค.ศ. 1879-1967) ซึ่งค้นพบวิตามินเอ (A) และบี (B) ด้วย
วิตามิน D เป็นสารประเภทสตีรอยด์ที่ละลายในไขมัน ออกฤทธิ์ที่ลำไส้ช่วยการดูดซึมแคลเซียม
เหล็ก แมกนีเซียม ฟอสเฟตและสังกะสี ตัวที่สำคัญที่สุดคือ วิตามิน D3 หรือโคเลแคลซิเฟอรอล
(cholecalciferol)
อาหารไม่กี่ชนิดมีวิตามิน D ร่างกายคนเราได้วิตามิน D จากการที่ผิวหนังสังเคราะห์ได้เป็นส่วนมาก
จากแสงแดดซึ่งมีแสงอัลตราไวโอเล็ต-บี วิตามิน D จากผิวหนังจะถูกเอนไซม์ที่ตับและไตเปลี่ยนเป็นสารที่
ออกฤทธิ์เต็มที่โดยกระบวนการ hydroxylation ที่จริงแล้ววิตามิน D3 เป็นเหมือนฮอร์โมนมากกว่า
กล่าวคือสังเคราะห์แล้วเข้ากระแสเลือดไปมีฤทธิ์ที่ส่วนอื่นของร่างกาย !
คนไทยในกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะผู้สูงอายุและสตรีที่ทำงานในร่มโดยเฉพาะที่ใช้เครื่องสำอาง
กันแดดด้วยเสี่ยงต่อการขาดวิตามิน D
อารมณ์ซึมเศร้า (mental depression) เป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อยมาก แต่เป็นเรื่องที่แพทย์ทั่วไป
มักจะมองข้ามและไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร สาเหตุเกิดจากสิ่งแวดล้อมและพันธุกรรม เมื่อเร็ว ๆ นี้
มีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์แบบอภิมาน (meta-analysis) พบความสัมพันธ์ระหว่าง
ระดับวิตามิน D ในเลือดต่ำกับอาการซึมเศร้า การได้รับวิตามิน D เสริมมีผลในการรักษาหรือป้องกัน
อาการดังกล่าว คนไทยทุกเพศและทุกวัยจึงควรได้รับแสงแดด โดยเฉพาะในเวลาเช้าหรือเย็น อย่ากลัว
เรื่องมะเร็งผิวหนังจากการโดนแสงแดดมากเหมือนชาวตะวันตกผิวขาวเกินเหตุ อนึ่งการได้รับแสงแดด
ตามที่กล่าวมาในผู้สูงอายุที่นอนไม่หลับอาจจะช่วยให้หลับดีขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างสมองเสื่อม (dementia) และวิตามิน D ก็มีการศึกษากันมาก
การศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ (systematic review) และอภิมาน (meta-analysis) พบระดับวิตามิน D
ในเลือดต่ำร่วมกับสมองเสื่อมจากโรคอัลซไฮเมอร์แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสิ่งที่พบเป็นเหตุเป็นผลกัน
ล่าสุดมีคณะผู้ศึกษาจากสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรร่วมกันติดตามผู้สูงอายุที่ไม่มีอาการสมองเสื่อม
ไม่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดและไม่มีโรคหลอดเลือดสมองพิการ 1,658 ราย ระหว่างปี ค.ศ. 1992 ถึง 1999
เป็นระยะเวลาเฉลี่ย 5.6 ปี ยืนยันว่าภาวะพร่องวิตามิน D ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดสมองเสื่อมจากทุกสาเหตุ
รวมทั้งโรคอัลซไฮเมอร์ด้วย
แนะนำเอกสาร
1) Wikipedia. (2015). Vitamin D.
2) Anglin RE, Samaan Z, Walter SD, McDonald SD. (2013). Vitamin D deficiency and depression
in adults, systematic review and meta-analysis. Br J Psychiatry. 202 : 100-107.
3) Littlejohns TJ, Henley WE, Laing IA, et al. (2014). Vitamin D and the risk of dementia and
Alzheimer’s disease. Neurology. 83 : 920-928.