Brown-Séquard syndrome
กลุ่มอาการบราวน์-เซกา เป็นผลจากรอยโรคที่ประสาทไขสันหลังซีกเดียวที่นายแพทย์ชาร์ลส์ เอ็ดเวิร์ด
บราวน์-เซกา (Charles Edward Brown-Séquard, ค.ศ. 1817-1894) ได้ทำการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองและ
รายงานไว้เป็นวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยปารีส เมื่อ ค.ศ. 1846 อาการประกอบด้วยอัมพาตขา หรือขาและแขน
ประสาทรับรู้อากัปกิริยา (proprioception sense) ข้างเดียวกันเสียร่วมกับประสาทรับรู้ที่ผิวหนังขา หรือขาและแขน
ลำตัวซีกตรงกันข้ามกับรอยโรคแต่อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 4-5 ปล้อง (segment)
ผลงานวิจัยทั้งในสัตว์ทดลองและการศึกษาในผู้ป่วยของบราวน์-เซกา เป็นที่ยอมรับโดยประสาทและสรีรแพทย์
ทั่วไป ทำให้ความรู้ที่ว่าลำเส้นใยประสาทรับรู้จากเซลล์ที่สอง (second sensory neuron) ในประสาทไขสันหลัง
ไขว้ทะแยงขึ้นซีกตรงข้ามที่กล่าวในขณะที่ลำเส้นใยประสาทสั่งการไขว้ทะแยงลงที่ก้านสมองส่วนล่าง (medulla)
แล้ว ส่วนลำเส้นใยประสาทรับรู้อากัปกิริยารับสัญญาณจากแขนขาและลำตัวขึ้นไปได้ทะแยงในก้านสมองเช่นกัน
กลุ่มอาการบราวน์-เซกาในผู้ป่วยมีสาเหตุหลายประการ อาทิ โรคมัลติเพิล สเคลอโรสิส (Multiple Sclerosis)
ประสาทไขสันหลังเสียเหตุหลอดเลือดแดงอุดตัน (spinal cord infarction) อันตรายต่อประสาทไขสันหลัง
(spinal cord injury) และตกเลือดในระบบประสาทส่วนนั้น (Haematomyelia)
ที่น่าสนใจที่ผู้เขียนเคยเห็นและบันทึกเป็นรายงานไว้ก็คือ ผู้ป่วยไทยที่มีกลุ่มอาการบราวน์-เซกากลับขั้ว
(“Reversed” Brown-Séquard syndrome) คืออาการประกอบด้วยขากระตุกเกร็งร่วมกับอาการปวดเสียว
ปวดแสบปวดร้อนที่ลำตัวและขาซีกตรงกันข้าม คืออาการเป็นปรากฏการณ์ “บวก” จากการระคายหรือ
กระตุ้น (“positive” or irritative phenomenon) แทนที่จะเป็นปรากฏการณ์ “ลบ” จากอัมพาต
(“negative” or paralytic phenomenon) ของประสาทไขสันหลังจากโรคตัวจิ๊ดไชเข้าประสาทไขสันหลัง
ซึ่งต่อมาไม่กี่วันก็พิสูจน์ได้จากการแคะตัวพยาธิออกจากใต้ผิงหนัง !
บราวน์-เซกาเป็นแพทย์ที่มีประวัติน่าสนใจมาก เป็นคนหลายสัญชาติ บิดาเป็นนักเดินเรือชาวอเมริกัน
นามสกุลบราวน์ พำนักอยู่ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) ถึงแก่กรรมขณะบราวน์-เซกาอยู่ในครรภ์มารดา
ซึ่งเป็นคนฝรั่งเศส ชาร์ลส์ เอ็ดเวิร์ด เกิดที่เมืองท่าเรือหลุยส์ (Port Louis) ที่เกาะมอริเทียส (Mauritius Island)
ในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อโตขึ้นเขาจึงผนวกชื่อสกุลของมารดาเข้าใช้สกุล บราวน์-เซกา ! ยิ่งไปกว่านั้นเนื่องจาก
เกาะมอริเทียสอยู่ในอาณัตินิคมของอังกฤษ บราวน์-เซกาจึงถือสัญชาติอังกฤษโดยปริยาย !
บราวน์-เซกาได้รับการศึกษาขั้นต้นจนจบแพทยศาสตรบัณฑิตที่ฝรั่งเศส เป็นคนฉายแววฉลาดตั้งแต่แรก
จึงไม่แปลกใจที่เขาได้รับแต่งตั้งเป็นประสาทแพทย์ที่ปรึกษา (Consultant Physician) ที่สถาบันประสาทวิทยาแห่งชาติ
ที่ควีนส์สแควร์ในลอนดอน เขาได้รับเลือกเป็นเฟลโลว์ (Fellow) ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอน (FRCP)
และเป็นราชบัณฑิต (Fellow of the Royal Society หรือ FRS) หลังจากอยู่ที่อังกฤษไม่กี่ปีก็ย้ายไปเป็นศาสตราจารย์
ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา ก่อนไปรับตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยปารีส แล้วไปอยู่ที่นิวยอร์ก
ไปอยู่ที่เจนีวา ก่อนไปรับตำแหน่งสุดท้ายคือ ศาสตราจารย์ทางอายุรศาสตร์ด้านการทดลองแทนคลอด์ แบนาร์ด
(Claude Bernard) สรีรแพทย์ชื่อก้องโลกที่มหาวิทยาลัยปารีส และอยู่ที่นั่นจนถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ 77 ปี
ผลงานของบราวน์-เซกาไม่ใช่มีแต่เพียงกลุ่มอาการที่เรารู้จักกันดีในนามของเขาเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงหน้าที่
ของสมองส่วนต่าง ๆ โรคลมชัก และที่สำคัญที่สุดก็คือ งานบุกเบิกและผลงานค้นคว้าวิจัยในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับ
วิทยาต่อมไร้ท่อ (Endocrinology) โดยเฉพาะการทดลองใช้สารสกัดจากต่อมหมวกไตสัตว์เป็นสารสำคัญต่อชีวิต
เป็นเวลานานก่อนเคนดอลล์ (Kendall) ค้นพบคอร์ติซอล (Cortisol) จนเขาได้รับการกล่าวขวัญว่าเขาคือ
บิดาแห่งวิทยาต่อมไร้ท่อด้านทดลอง
แนะนำเอกสาร
1) Koehler PJ, Aminoff MJ. (2000). The Brown-Séquard Syndrome. In: Neurological Eponyms.
Eds. Koehler PJ, Bruyn GW, Pearce JMS. Oxford University Press, Oxford. pp. 200-206.
2) Gooddy W. (1982). Charles Edward Brown-Séquard. In: A Historical Aspects of
the Neurosciences. A Festschrift for Macdonald Critchley. Eds. Rose FC, Bynum WE.
Raven Press, New York. pp. 371-378.
3) Engelhardt E, Gomes Mda M. (2014). Brown-Séquard, a restless mind. Arq Neuropsiquiatr.
72 : 78-80.
4) Vejjajiva A. (1991). Neurology in Southeast Asia. In: Bradley WG, Daroff RB, Fenichel GM,
Marsden CD. Neurology in Clinical Practice. Vol II. Boston Butterworth Heinemann.
pp 1899-1902.