Footballer’s Migraine
ไมเกรนเป็นโรคปวดศีรษะที่แพทย์ทั่วไปรู้จักกันดี แต่การดูแลรักษาแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญ ก็มักจะมองข้าม
ปัจจัยกระตุ้นให้ปวดโดยไม่ได้ถามประวัติเช่นรับประทานอาหารบางชนิด ได้แก่ ถั่ว เป็นต้น ซึ่งถ้าทราบและ
ให้ผู้ป่วยงดรับประทานก็หายปวดโดยไม่ต้องใช้ยา ไมเกรนบางครั้งไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ที่เป็นโรคนี้รำคาญ เดือดร้อน
หมดสนุกเท่านั้น แต่เป็นภัยต่อการประกอบอาชีพดังเช่นในเรื่องของนักฟุตบอลที่เกิดมีอาการขณะลงแข่งขัน
เมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว ศาสตราจารย์ไบรอัน แมททิวส์ (Bryan Matthews) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
รายงานผู้ป่วย 5 ราย เป็นนักฟุตบอลชายหนุ่ม 4 รายและเด็กชายอายุ 12 ปีอีก 1 ราย เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน
โดยมีลานสายตาบกพร่อง (visual field defects) เริ่มหลังจากโดดโหม่งลูกบอลขณะแข่งขัน อาการตามืดมัวทำให้
ต้องออกจากการแข่งขัน อาการเป็นอยู่กว่าหนึ่งชั่วโมง ในยุคนั้นลูกบอลหนักประมาณ 400 ถึง 450 กรัม
และหนักขึ้นถ้าเปียกน้ำ ถึงแม้ในปัจจุบันลูกบอลอาจจะเบากว่าเล็กน้อยและแนวโน้มที่นักฟุตบอลที่มีชื่อเล่นกองหน้า
อาจจะใช้ลูกโหม่งน้อยกว่าดารานักเตะรุ่นก่อนอย่างเช่น อลัน เชียร์เรอร์ (Alan Shearer) สโมสรนิวคาสเซิล
(Newcastle FC) และทีมชาติอังกฤษ แต่ลองนึกดูว่าถ้าคริสเตียโน โรนัลโด (Cristiano Ronaldo) เกิดมีอาการ
ขึ้นมาขณะเล่นก็อาจจะกระทบกับสโมสรเรอัลมาดริด (Real Madrid) หรือทีมชาติโปรตุเกสได้ !
อาการนี้แพทย์ควรทราบไว้และอย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องการกระแทกกระเทือนศีรษะ (concussion) และถ้านักฟุตบอล
เกิดมีอาการขึ้นมาจริงขณะเล่นก็อาจจะต้องเปลี่ยนตัวผู้เล่นหรือไม่ก็รีบให้ยาแก้/กันอาการปวด ก็คงเป็นยาประเภท
ทริปแทน (triptan) หรืออาจลองใช้เครื่องกระตุ้นประสาทศีรษะเส้นที่ 5 (Trigeminal nerve) ที่เพิ่งจะได้รับ
การเห็นชอบจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (USFDA) ให้ใช้ได้ !
แนะนำเอกสาร
1) Matthews WB. (1972). Footballer’s migraine. BMJ. 2 : 326-327.
2) Goadsby PJ. (2013). Therapeutic prospects for migraine: Can paradise be regained ? Ann Neurol.
74 : 423-434.
3) Magis D, Sava S, d’Elia TS, et al. (2013). Safety and patients’s satisfaction of transcutaneous
supraorbital neurostimulation (tSNS) with the Cefaly ® device in headache treatment.
A survey 2,313 headache sufferers in the general population. J Headache Pain. 14 : 95.