D (ชุดที่ 3) - Delirium

 Delirium


        เพ้อเป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรังและหยุดดื่มกระทันหันเช่นในช่วง
เข้าพรรษาก็มีอาการเพ้อสั่นได้ (delirium tremens)  อุบัติการณ์ในผู้สูงอายุหลังได้รับการผ่าตัดสูงถึงร้อยละ 40  
ผู้ป่วยที่เพ้อหลังผ่าตัดต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลนานขึ้น มีอัตราตายสูงขึ้นและเมื่อหายดีแล้วต่อมาโอกาสเกิด
สมองเสื่อมมีมากขึ้น  พยาธิสรีรวิทยา (pathophysiology) ของอาการเพ้อหรือสมองสับสนเฉียบพลันยังไม่เป็น
ที่ทราบแน่ชัดแต่เชื่อกันว่าเกิดจากสารสื่อประสาท (neurotransmitter) หลายตัว เช่น gamma-aminobutyric
acid หรือ GABA, acetylcholine, dopamine, norepinephrine, serotonin และ melatonin ผิดปกติ 
เนื่องจากยาต้านโคลีน (anti-cholinergic) เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยสูงอายุหลังผ่าตัดมีอาการเพ้อได้บ่อย
จึงสันนิษฐานว่า cholinergic activity ที่ลดลง น่าจะเป็นสาเหตุที่สำคัญ  นอกจากนี้ผู้สูงอายุบางรายมีอาการเพ้อ
เกิดขึ้นเพราะมีสาเหตุกระตุ้น เช่น การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ กรวยไตหรือปอดอักเสบ

        อาการเพ้อมักเกิดฉับพลัน ขึ้น ๆ ลง ๆ ผู้ป่วยขาดสมาธิ คิดสับสนไม่เป็นระบบ ระดับการรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง 
การรักษาในปัจจุบันมีทั้งการไม่ใช้ยาและใช้ยา การไม่ใช้ยารวมไปถึงการให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คล้ายกับ
ผู้ป่วยคุ้นเคย ให้ญาติพี่น้องมาเยี่ยมได้สม่ำเสมอ  ในขณะที่การรักษาแบบใช้ยาก็นิยมให้ยากลุ่ม antipsychotic
โดยเฉพาะ haloperidol และ risperidone

        สิ่งที่น่าสนใจ น่าศึกษา ให้รู้ว่าทำไมอาการเพ้อจึงเกิดในผู้สูงอายุเพียงบางคนไม่เกิดในทุกคนที่ได้รับการผ่าตัด

        เมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานจากกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ถึงการศึกษาวิจัยผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหาร
เรื่อง อัลฟา-สินิวเคลอิน (alpha-synuclein) ที่ myenteric plexus ในผู้ป่วย  ที่มีอาการเพ้อและไม่มีอาการดังกล่าว
และศึกษาพยาธิภาวะอัลฟาสินิวเคลอินโดยการย้อมสีวิธีอิมมูโนเคมีพบว่า ในรายที่มีอาการเพ้อหลังผ่าตัดพบ
มีความสัมพันธ์กับพยาธิภาวะอัลฟาสินิวเคลอิน (synucleopathy)  พยาธิสภาพดังกล่าวพบในผู้ป่วยสมองเสื่อมที่มี
เลวีบอดี (dementia with Lewy Body) ซึ่งมีความผิดปกติทางประชาน (cognitive disorders) คล้ายที่พบในผู้ป่วย
ขณะเพ้อ
 
        อัลฟา-สินิวเคลอินเป็นโปรตีนที่พบได้มากในสมอง กล้ามเนื้อลาย กล้ามเนื้อไม่ลาย และกล้ามเนื้อหัวใจ
ปัจจุบันสารตัวนี้ได้รับความสนใจมากในโรคพาร์กินสันและโรคสมองเสื่อมที่มีเลวีบอดี (DLB) สารตัวนี้เป็นสารสำคัญ
ที่ผิดปกติใน DLB และสามารถย้ายจากเซลล์ประสาทที่ผิดปกติไปยังเซลล์ที่ปกติได้คล้ายพรีออน (PRION) ทำให้
สมองเสื่อมมากขึ้น


แนะนำเอกสาร
1)  Inouye SK.  (2006).  Delirium in older persons.  N Engl J Med.  354 : 1157-1165.

2)  Sanders RD, Pandharipande PP, Davidson AJ, et al.  (2011).  Anticipating and managing
     postoperative delirium and cognitive decline in adults.  BMJ.  343 : d4331.

3)  Praditsuwan R, Limmathuroskul D, Assanasen J, et al.  (2012).  Prevalence and incidence of delirium
     in Thai older patients: a study at general medical wards in Siriraj Hospital.  J Med Assoc Thai. 
     95 (Suppl 2) : S245-250.

4)  Shannon KM, Keshavarzian A, Mutlu E, et al.  (2012).  Alpha-synuclein in colonic submucosa
     in early untreated Parkinson’s disease.  Mov Disord.  27 : 709-715.
 
5)  Sunwoo MK, Hong JY, Choi J, et al.  (2013).  Alpha-Synuclein pathology is related to postoperative
     delirium in patients undergoing gastrectomy.  Neurology.  80 : 810-813.

6)  Olanow CW, Brundin P.  (2013).  Parkinson’s disease and alpha synuclein: is Parkinson’s disease
     a prion-like disorder?  Mov Disord.  28 : 31-40.    

 

 

[ back ]