P (ชุดที่ 3) - Prosopagnosia

Prosopagnosia


        ภาวะเสียความระลึกรู้ใบหน้า (Prosopagnosia, PA) หรือถ้าพูดง่าย ๆ ว่า ภาวะจำหน้าคนไม่ได้ก็คงจะถูก
แต่ไม่ถูกทั้งหมดดังจะเข้าใจต่อไป  Prosopagnosia มาจากคำภาษากรีก 2 คำ คือ Prosopon แปลว่า หน้า (face)
และ agnosia แปลว่า ไม่รู้ (not knowing)

        การจำหน้าคนไม่ได้อาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิด (พบได้ถึงร้อยละ 2.5) แต่ส่วนใหญ่เกิดจากสมองคนธรรมดา
ที่ได้รับอุบัติเหตุ หรือเป็นจากโรคสมองอักเสบ หรือหลอดเลือดแดงสมองพิการทำให้เนื้อสมองกลีบท้ายทอยต่อ
กลีบขมับด้านใน (medial occipitotensporal cortex) ไม่ซีกขวาก็ทั้ง 2 ซีกเสีย เมื่อ ค.ศ. 1947 ประสาทแพทย์ชื่อ
โจอะชิม บอดะเมอร์ (Joachim Bodamer) พบว่าสมองที่รอยนูนคล้ายรูปกระสวย (fusiform gyrus, FG) ซีกขวา
มีหน้าที่รับรู้ใบหน้าบุคคลที่เราพบเห็น  รอยโรคที่บริเวณดังกล่าวเป็นสาเหตุของ PA ซึ่งเป็นคำที่บอดะเมอร์นำมาใช้
ถึงแม้ว่าฌอง มาแตง ชาโก (Jean Martin Charcot) และเซอร์ ฮิวลิงส์ แจคสัน (Sir Hughlings Jackson)
ได้เคยศึกษาและบันทึกผู้ป่วยด้วยภาวะนี้มาก่อน

        PA ที่เป็นตั้งแต่กำเนิดอาจจะไม่เป็นที่ทราบของผู้เป็นมาก่อน ทั้ง ๆ ที่เป็นคนฉลาดและสติปัญญาสูง เช่น
ประสาทแพทย์ที่เป็นนักเขียนชื่อดังชาวอเมริกัน โอลิเวอร์ แซคส์ (Oliver Sacks) ผู้เขียนเรื่องที่รู้จักกันทั่วโลก
หลายเรื่อง เช่น เรื่อง The Man Who Mistook His Wife for a hat  เรื่อง Awakenings และเรื่อง Migraine เป็นต้น

        PA ที่เกิดขึ้นภายหลังในคนปกติแต่เกิดเป็นโรคที่สมองดังที่กล่าวมี 2 ชนิด  ชนิดแรกเรียกว่า แบบวิสัญชาน (apperceptive PA) ผู้ที่เป็นโรคนี้ “บอดใบหน้า” คือ ประมวลผลในการรับรู้เบื้องต้นที่เห็นหน้าไม่ได้ทั้งคนที่คุ้นเคย
และคนที่ไม่รู้จักส่วนตัวรวมทั้งบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียง  ผู้ป่วย PA แบบนี้อาศัยส่วนหรือสิ่งอื่น เช่น ทรงผม เสื้อผ้า
หรือเสียงของบุคคลนั้น ๆ ทำให้จำได้ รอยโรคเกิดที่สมองบริเวณ FG ซีกขวา  ส่วนอีกชนิดเรียกว่า แบบสัมพันธ์
(associative PA) ซึ่งต่างจากชนิดแรกที่การประมวลผลการรับรู้ใบหน้าปกติแต่การเชื่อมต่อกันระหว่างการรับรู้ใบหน้า
กับข้อมูลต่าง ๆ ที่มีเกี่ยวกับบุคคลนั้น ๆ ผิดปกติ รอยโรคอยู่ที่สมองกลีบขมับด้านหน้าซีกขวา

        PA ที่ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิดนอกจากที่กล่าวมาซึ่งไม่ลุกลามอาจพบในผู้สูงอายุและลุกลามได้ เช่นในผู้ป่วย
สูงอายุและเริ่มมีสมองเสื่อม (mild cognitive impairment) รายงานที่น่าสนใจมากรายงานหนึ่งก็คือ ผู้ป่วยชาวฝรั่งเศส
อายุ 71 ปี ถนัดมือขวา มีอาการอยู่ 5 ปีก่อนไปพบประสาทแพทย์เรื่องจำหน้าญาติสนิทมิตรสหายไม่ได้ 
เห็นภาพบุคคลที่รู้จักกันดีในโทรทัศน์ก็จำไม่ได้ ต่อมาแม้กระทั่งรูปถ่ายตนเองก็จำไม่ได้เช่นกัน แต่พูดจาเป็นปกติ
ประสาทแพทย์ผู้ดูแลรักษาติดตามดูอยู่ 2 ปี ให้การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็น frontotemporal lobar degeneration
(FTLD) ที่สมองกลีบขมับขวาที่เริ่มโดยมีเฉพาะอาการ PA เท่านั้น

        มีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการที่มนุษย์จำหน้าบุคคลได้ ที่ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ทอมป์สัน
(Peter Thompson) นักจิตวิทยารายงานไว้เมื่อ ค.ศ. 1980 เรียกภาพลวงตาหรือภาพอิทธิพลของมาร์กาเรต
แทตเชอร์ (Margaret Thatcher Illusion or Effect) อดีตนายกรัฐมนตรีสตรีผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษ กล่าวคือ
ถ้าเอาภาพของเธอในท่าปกติแต่มองภาพเอาศีรษะลง คนเราธรรมดาอาจจะจำเธอไม่ได้เพราะสมองเรารับรู้ใบหน้า
ในท่าปกติมาตั้งแต่หลังเกิด ส่วนผู้ที่เป็น PA จะไม่รู้สึกอะไร และเมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานการศึกษาในลิงวอก
(Rhesus monkey หรือ Macaca Mulatta) ว่าไม่เป็นแต่ในลิงชิมแพนซี (chimpanzee) มีปรากฏการณ์ภาพอิทธิพล
ดังกล่าว ทำให้ผู้ศึกษาสันนิษฐานว่าการประมวลผลภาพใบหน้าอาจมาจากบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อ 30 ล้านปีก่อน

        ใบหน้าคนเราจึงมีความสำคัญจริง ๆ  คนไทยจึงไม่ยอม “เสียหน้า” !


แนะนำเอกสาร
1)  Barton JJS, Press DZ, Keenan JP, O’Connor M.  (2002).  Lesions of the fusiform face area impair
     perception of facial configuration in prosopagnosia.  Neurology.  58 : 71-78.

2)  Sacks O.  (1985).  “The man who mistook his wife for a hat” and other clinical tales. 
     Gerald Duckworth UK, 233 pages. 

3)  Lott LA, Haegerstrom-Portnoy G, Schneck ME, Brabyn JA.  (2005).  Face recognition in the elderly.
     Optom Vis Sci.  82 : 874-881.

4)  Joubert S, Felician O, Barbeau E, et al.  (2004).  Progressive prosopagnosia.  Clinical and
     neuroimaging results.  Neurology.  63 : 1962-1965.

5)  Bokde AL, Lopez-Bayo P, Meindl T, et al.  (2006).  Functional connectivity of the fusiform gyrus
     during a face-matching task in subjects with mild cognitive impairment.  Brain.  129 : 1113-1124.

6)  Thompson P.  (1980).  Margaret Thatcher.  A new illusion.  Perception.  9 : 483-484.

7)  Weldon KB, Taubert J, Smith CL, Parr LA.  (2013).  How the Thatcher illusion reveals evolutionary
     differences in the face processing of primates.  Animal Cognition; doi 10-1007/s10071-013-0604-4.

 

 

[ back ]