Sun exposure
คนไทยโดยเฉพาะสตรีในกรุงเทพมหานครมักจะกลัวโดนแดด ปัจจุบันบ้านเมืองแออัด กรุงเทพฯ มีตึกสูงระฟ้า
ที่ทำงานในร่มมักเป็นห้องปรับอากาศ วัน ๆ หนึ่งคนในวัยทำงานนั้น ๆ แทบจะไม่โดนแสงแดด จนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระดูกพรุนออกมาเตือนแนะนำให้สตรีวัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ที่ใช้เครื่องสำอางประทินผิวอาจ
ขาดวิตามิน D ได้ การผึ่งแดดทุกเช้าวันละประมาณ 30 นาทียังมีประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจผู้สูงอายุ
เรื่องแรก คือ การนอนหลับตอนกลางคืน การโดนแดดทุกเช้าจะมีผลต่อระดับเมลาโทนินในร่างกายเพิ่มขึ้น
ในตอนกลางคืนช่วยทำให้นอนหลับได้สบาย นอกจากนี้เมลาโทนินยังใช้ช่วยให้อารมณ์ซึมเศร้าที่พบได้เสมอ ๆ ใน
ผู้สูงอายุได้ซึ่งปัจจุบันมีผู้ทดลองใช้ตัวทำการเมลาโทนิน (melatonin agonist) เช่น อะโกเมลาทินรักษาผู้มีอารมณ์ซึมเศร้าได้ผลและในผู้ป่วยบางรายอาจทดแทนยาต้านซึมเศร้าที่นิยมใช้กันอยู่ได้
เรื่องที่สอง ประโยชน์ที่แสงแดดมีต่อผู้สูงอายุก็คือ ช่วยลดความดันโลหิตในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
นายแพทย์ริชาร์ด บี เวลเลอร์ ตัจแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ สกอตแลนด์ ได้ทำการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้พบว่า
ในผิวหนังของเรามีสารไนตริคออกไซด์ (nitric oxide, NO) สะสมอยู่มาก แสงอัลตราไวโอเล็ต (ultraviolet)
ในแสงแดดจะปล่อย NO ออก ทำให้ความดันโลหิตลดลง เวลเลอร์ยังย้ำอีกด้วยว่า ปี ๆ หนึ่งในสหราชอาณาจักร
อัตราตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตันมากกว่ามะเร็งที่ผิวหนังถึง 80 เท่า ในประเทศไทย
ผู้เขียนไม่ทราบว่าเมลาโนมา (melanoma) มีมากน้อยแค่ไหนแต่เชื่อว่าการผึ่งแดดในผู้สูงอายุตามที่แนะนำคงจะ
ไม่น่ากลัวแน่ !
สุดท้ายมีรายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้จากแคนาดาและสหราชอาณาจักร เป็นปริทัศน์เป็นระบบ (systematic review)
และอภิมาน (meta-analysis) พบว่า ระดับวิตามิน D ที่ลดลงมีความสัมพันธ์กับหน้าที่ด้านประชานของสมอง
(cognition) ที่เลวลงและความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลซ์ไฮเมอร์ (Alzheimer’s disease) สูงขึ้น
แนะนำเอกสาร
1) บุญส่ง องค์พิพัฒนกุล. (27 กันยายน 2556). เสวนาภาษาวิทย์ ตอนแสงแดดแสนดี. NSTDA Channel.
2) ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์. (พ.ศ. 2545). ต่อมไพเนียลและเมลาโทนิน. โรงพิมพ์กรุงเทพ. 242 หน้า.
3) ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์. (พ.ศ. 2552). รายงานผลงานวิจัยเรื่องเมลาโทนิน: เกี่ยวข้องกับประสาทวิทยาศาสตร์.
4) Hickie IB, Rogers NL. (2012). Novel melatonin-based treatments for major depression. Lancet.
379 : 217-219.
5) Hickie IB, Rogers NL. (2011). Novel melatonin based therapies: potential advances in
the treatment of major depression. Lancet. 378 : 621-631.
6) Weller RB. (2013). Sunlight and blood pressure. www.sciencedaily.com.
7) Balion C, Griffith LE, Strifler L, et al. (2012). Vitamin D, cognition and dementia. A systematic
review and meta-analysis. Neurology. 79 : 1397-1405.