Z (ชุดที่ 2) - Zoonosis

Zoonosis


        โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis : อ่าน โซ'ออโน สิส) เป็นปัญหาที่พบบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ  เช่น
โรคไข้หวัดนกจากเชื้อไวรัส H7N9 ในปัจจุบัน  จริง ๆ แล้วไม่เพียงแต่โรคติดเชื้อไวรัสเท่านั้น  โรคติดเชื้อปรสิต
โดยเฉพาะพยาธิโปรโตซัวหรือพยาธิเซลล์เดียวก็เช่นกัน  อย่างโรคมาลาเรียในคน  แต่ไหนแต่ไรมาแพทย์ทั่วโลก
ก็เชื่อว่ามี 4 ชนิด คือ ฟาลซิพารัม (falciparum)  ไวแวกซ์ (vivax)  โอวาเล (ovale) และมาลาเรียอี (malariae) 
แต่เมื่อเกือบ 10 ปีมานี้นายแพทย์บาลบิร์ ซิงห์ (Balbir Singh) และคณะ ที่ตำบลกาปิต ซาราวัก (Sarawak)
ที่อยู่ทางเหนือของเกาะบอร์เนียว (Borneo) ซึ่งเป็นแคว้นของประเทศมาเลเซียตะวันออก รายงานการค้นพบ
เชื้อมาลาเรีย พลาสโมเดียม โนลสิ (Plasmodium knowlesi) ซึ่งเป็นมาลาเรียในลิงในคนที่นั่น  ทั้งนี้โดยอาศัย
การสังเกตอาการทางเวชกรรม การศึกษาทางวิทยาการระบาดและการนำเอาวิธีหารูปแบบพันธุกรรมทางอณู
(molecular genotyping) มาใช้ศึกษาพบว่า มาลาเรียตัวนั้นก่อโรคในคนได้ถึงร้อยละ 60 ของจำนวนผู้ป่วยมาลาเรีย
ที่นั่นทั้งหมด  มาลาเรียตัวนี้ถ้าดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะดูคล้ายพลาสโมเดียม ฟาลซิพารัม เมื่อตัวยังอ่อนและ
ดูเหมือนพลาสโมเดียม มาลาเรียอี เมื่อแก่  พลาสโมเดียม มาลาเรียอี เพิ่มจำนวนทุก 3 วันในเลือด (tertian cycle)
และอาการผู้ป่วยไม่รุนแรงในขณะที่พลาสโมเดียม โนลสิ เพิ่มจำนวนทุกวัน (quotidian cycle) และอาการรุนแรง
เป็นอันตรายซึ่งเป็นที่ทราบกันมาตั้งแต่เมื่อ 80 ปีมาแล้ว 

        เมื่อต้นปีนี้ (2013) มีผู้พบไข้หวัดนก H7N9 ในคนที่ประเทศจีนตะวันออก มีปอดอักเสบรุนแรงและ
อวัยวะอื่นล้มเหลว  ไข้หวัดที่กล่าวเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ H5N1 ที่พบเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นโรคที่คนติดจากสัตว์ 
ในทางตรงกันข้ามมีโรคติดเชื้ออื่น ๆ อีก เช่น พยาธิโปรโตซัว toxoplasma gondii ที่ทำให้เกิดโรคขี้แมวในคน 
เมื่อไม่นานมานี้ก็เกิดเป็นโรคระบาดในนากทะเล (sea otters) ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา  โลกใบนี้
ที่เราอาศัยอยู่ดูจะเล็กลงและดูเหมือนวิถีชีวิตของคนและสัตว์ก้าวก่ายกันมากขึ้น  แม้แต่ต้นไม้และพืช
ก็ร่วมอยู่ในโลกใบเดียวกัน  ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นเครื่องเตือนสติพวกเราว่า สุขภาวะของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายต้อง
พึ่งพาอาศัยกันทั้งนั้น


แนะนำเอกสาร
1)  Singh B, Sung SK, Matusop A, et al.  (2004).  A large focus of naturally acquired Plasmodium
     knowlesi infections in human beings.  Lancet.  363 : 1017-1024.

2)  White NJ.  (2008).  Plasmodium knowlesi: The fifth human malaria parasite.  
     Clinical Infectious Diseases.  46 : 172-173.

3)  Liu D, Shi W, Shi Y, et al.  (2013).  Origin and diversity of novel avian influenza A H7N9 viruses 
     causing human infection: phylogenetic, structural and coalescent analyses.  Lancet.  381 : 1926-1932.

4)  ประเสริฐ ทองเจริญ.  (พ.ศ. 2556).  ระบาดบันลือโลก เล่ม 20  “ไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก”
     กรุงเทพฯ: อักษรสมัย.  245 หน้า.

5)  อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ.  (พ.ศ. 2546).  โรคขี้แมวขึ้นสมอง ใน “เรียนอายุรศาสตร์จากกรณีผู้ป่วย” เล่ม 3. 
     กรุงเทพฯ: บริษัท ซิล์คโรดพับบลิเชอร์เอเยนซี จำกัด.  หน้า 31-45.

6)  Sukthana Y.  (2013).  Whose World, Whose Health ?  Keynote speech at World Association
     for the Advancement of Veterinary Parasitology (WAAVP) Conference, Perth, Australia,
     25-29 August 2013.  Abstracts p. 28.

7)  กรุงเทพมหานครและกลุ่มเครือข่าย “บิ๊กทรี”.  (พ.ศ. 2554).  100 ต้นไม้มหานคร.
     กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด.  128 หน้า.

 

 

[ back ]