Yellow fever
hepatology
ไข้เหลืองหรือ Yellow Fever (YF) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่แพทย์ไทยและแพทย์ทางตะวันตกไม่เคยเห็น
ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ แต่มักรู้จักดี ผู้เขียนรู้จักไข้เหลืองตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ รู้ว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบใน
แอฟริกา มียุง Aedes egypti เป็นพาหะ ค้นพบครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1900 โดยนายแพทย์วอลเตอร์ รีด
(Walter Reed, 1851-1902) ชาวอเมริกัน (ชื่อโรงพยาบาลสถาบันทหารที่วอชิงตัน ดีซี เป็นอนุสรณ์สำหรับ
นายแพทย์ท่านนี้) ต่อมามีผู้พบโรคไข้เหลืองที่อเมริกาใต้ ระยะฟักตัวของโรคสั้นคือ 3 ถึง 6 วัน อาการเหมือน
โรคติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 หายเอง ที่เหลือมีตัวเหลืองตาเหลืองจากตับอักเสบถึงตาย
โชคดีที่มีวัคซีนป้องกันได้ผลสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะไปประเทศที่มีโรคนี้ นายแพทย์แมกซ์ ทีเลอร์
(Max Theiler, 1899-1972) ผู้เกิดที่พริทอเรีย แอฟริกาใต้ ศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน
ณ โรงพยาบาลเซ็นต์โทมัส และต่อมาไปฝึกอบรมต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ขณะทำงานอยู่ที่
สถาบันมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ค้นพบวิธีการผลิตวัคซีนป้องกันไข้เหลืองได้สำเร็จโดยใช้เนื้อเยื่อตับแช่แข็งจากลิง
ที่ได้รับเชื้อจากการทดลอง ในช่วงนั้นการทดลองเกี่ยวกับไวรัสไข้เหลืองอันตรายมาก นัยว่ามีนักวิทยาศาสตร์
ที่ทำการศึกษาทดลองเรื่องนี้เสียชีวิตถึง 5 คน รวมทั้งนักแบคทีเรียชาวญี่ปุ่นที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ ฮิเดโอ โนกูชิ
(Hideyo Noguchi) แมกซ์ ทีเลอร์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ในปี ค.ศ. 1951
เรื่องที่นักศึกษาแพทย์ทางตะวันตกมักจะทราบเกี่ยวกับไข้เหลืองอีกเรื่องหนึ่งก็คือ พยาธิสภาพ
ของตับผู้ป่วย ถึงขนาดเวลาสอบพยาธิวิทยาถ้าดูสไลด์ของชิ้นเนื้อตับเห็นเซลล์ตับเฉพาะแดนกลางตาย
(mid-zonal necrosis) จะรีบให้การวินิจฉัย YF ได้ถูกต้อง ! ผู้เขียนเองยังจำได้จนปัจจุบัน นัยว่าความผิดปกติ
เป็นผลจากการขาดออกซิเจน (hypoxia) หรือความดันเลือดต่ำ (hypotension) เป็นปัจจัยสำคัญ
พูดถึงพยาธิสภาพตับแล้วเลยถือโอกาสตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันอายุรแพทย์ทั่วโลกให้ความสนใจ
โรคตับกันมาก ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อ 60 ปีก่อนที่อังกฤษ กล่าวกันว่าศาสตราจารย์ หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ที่มี
อยู่ 10 กว่าคน ประมาณครึ่งหนึ่งเชี่ยวชาญโรคไต ไม่มีผู้ใดสนใจโรคตับ ตรงกับที่ศาสตราจารย์ เดม ชีลา เชอร์ลอค
(Dame Sheila Sherlock, 1918-2001) ผู้ซึ่งทั่วโลกยอมรับว่าเป็นผู้บุกเบิกเวชกรรมโรคตับคนแรก ๆ ในโลก
พูดว่าท่านสนใจโรคตับเพราะไม่มีใครสนใจ ! เดม เชอร์ลอค เป็นอายุรแพทย์สตรีที่มีชื่อโดดเด่นที่สุดแห่งยุค
เป็นศาสตราจารย์อายุรศาสตร์หญิงคนแรกของอังกฤษ ประจำที่โรงพยาบาลรอยัล ฟรี (Royal Free Hospital)
มหาวิทยาลัยลอนดอน หนังสือโรคตับที่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ปี ค.ศ. 1955 และหนังสือชีวประวัติของแพทย์สตรีท่านนี้
อายุรแพทย์โดยเฉพาะสตรีควรหาอ่านเป็นอย่างยิ่ง เดม (คุณหญิง) เชอร์ลอค สมรสกับนายแพทย์เดวิด เจอเรียนท์
เจมส์ (David Geriant James, 1922-2010) อายุรแพทย์ชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญโรคสาร์คอยโดสิส (sarcoidosis)
ที่มีชื่อคนหนึ่งในโลกและเป็นเพื่อนกับศาสตราจารย์นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตไทยด้วย
สุดท้ายคำ hepatology ตรงกับคำภาษาไทย ยกนวิทยา (อ่าน ยะกะนะวิดทยา !) โดย “ยกนะ”
แปลว่า ตับ ผู้เชี่ยวชาญโรคตับจึงเรียก ยกนแพทย์ ดังเช่น ตัจแพทย์ (แพทย์โรคผิวหนัง) หทัยแพทย์
(แพทย์โรคหัวใจ) วักกะแพทย์ (แพทย์โรคไต) ฯลฯ แต่ดูเหมือนคำ “นิทราเวชศาสตร์” (sleep medicine)
ยังไม่อยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่มใหม่ที่เพิ่งพิมพ์ออกจำหน่าย (พ.ศ. 2554) !
แนะนำเอกสาร
1) Wikipedia. (2013). Yellow fever.
2) Wikipedia. (2013). Walter Reed (1851-1902).
3) Raju TNK. (2002). The Nobel Chronicles. A handbook of Nobel Prizes in Physiology or
Medicine 1901-2000. Nobel Foundation.
4) Johnson RT. (1998). Viral infections of the nervous system. Second edition.
Lippincott-Raven, pp. 411-412.
5) Sherlock S. (1955). Diseases of the Liver and Biliary System. Blackwell Scientific Publications,
Oxford. 720 pp.
6) Sharma OP. (2007). Prof: The life of Sheila Sherlock ‘The liver queen’ Royal College of Physicians,
London. 228 pp.
7) Guardian.co.uk. (2002). Obituary: Dame Sheila Sherlock. Saturday 19 January.
8) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (2542). ยกนะ. หน้า 891.