V (ชุดที่ 1) - Vomiting
อาเจียนเป็นอาการที่แพทย์เกือบทุกคนพบเป็นประจำในชีวิตประจำวันส่วนมากเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรง
มีส่วนน้อยที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยสาเหตุและการรักษา ผู้เขียนแนะนำให้พิจารณาแยกสาเหตุของ
อาเจียนเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1) โรคในระบบทางเดินอาหารและระบบต่างๆ ของร่างกาย
2) โรคทางระบบประสาทและจิต
โดยใช้ประวัติและผลการตรวจร่างกายเป็นหลัก แน่นอนกระเพาะและลำไส้ผิดปกติจากอาหารที่
เป็นพิษจากยาหรือสารที่กินโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามเป็นเรื่องที่พบเสมอๆ การวินิจฉัยแยกโรคที่อาเจียนเป็น
อาการสำคัญโดยเฉพาะถ้าเรื้อรังหรือบังคับควบคุมไม่ได้ (intractable vomiting) แพทย์อาจไม่นึกถึงโรคใน
กลุ่มที่ (2) ได้ ฉะนั้นจึงไม่ควรลืมให้ความสำคัญต่อการตรวจดูจอประสาทตาเพราะถ้าพบประสาทตาบวม
(papilloedema) จากความดันในกระโหลกศีรษะสูงเช่นจากเนื้องอกที่สมองก็อาจจะต้องส่งต่อผู้ป่วยให้
ประสาทศัลยแพทย์รักษาต่อ
ความดันในกระโหลกศีรษะสูงมีผลต่อกลุ่มเซลล์ประสาทในก้านสมองส่วนล่างหรือ medulla บริเวณ
พื้นโพรงศีรษะที่ 4 (4th ventricle) ที่เรียก แอเรีย พอ-สทริ-มะ (area postreme) ไม่ใช่ "ศูนย์อาเจียน"
(vomiting centre) เฉพาะอย่างที่เคยเชื่อกัน แต่เป็นเครือข่ายเซลล์เรียก "central pattern generator"
ความรู้ทางกายวิภาคและทางชีวเคมีที่ได้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการศึกษายาต้านมะเร็งที่ใช้เป็นเคมีบำบัด
ยิ่งในปัจจุบันการศึกษาค้นพบ "ช่องน้ำ" ในเซลล์ astrocyte ที่เรียก อะควาพอริน (aquaporin, AQP) เช่น
AQP-4 นำไปสู่การศึกษาทางวิทยาอิมมูโนในโรค neuromyelitis optica (NMO) เมื่อไม่นานมานี้นายแพทย์เมธา อภิวัฒนกุล จากสถาบันประสาทวิทยา พญาไท ขณะที่ไปศึกษาวิจัยต่อที่ Mayo Clinic สหรัฐอเมริกา กับศาสตราจารย์แวนดา เลนนอน ได้รายงานร่วมกับคณะผู้วิจัยกลุ่มนี้ถึงผู้ป่วย 12 รายที่มีแอนติบอดีต่อ AQP-4 ในเซรุ่ม (คิดเป็นร้อยละ 12 ของผู้ป่วยที่นั่นตั้งแต่ ค.ศ. 2005) อาการเริ่มแรกเป็นอาการทางกระเพาะลำไส้โดยมีอาเจียนที่ควบคุมไม่ได้นานถึง 4 สัปดาห์ (2 วัน - 80 สัปดาห์) ในผู้ป่วย 11 รายก่อนมีประสาทตาและ/หรือประสาทไขสันหลังอักเสบ ในประเทศไทยรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงนาราพร ประยูรวิวัฒน์ อาจารย์แพทย์หญิงสสิธร ศิริโท จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับแพทย์ชาวญี่ปุ่นก็ได้ศึกษาและรายงานผู้ป่วยไทยที่มีแอนติ AQP4 แอนติบอดีถึง 53 รายซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญสำหรับการศึกษาวิจัยโรค NMO และโรคมัลติเปิลสเคอโรสิส (MS) โดยเฉพาะในชาวตะวันออกต่อไป ล่าสุดก็มีผู้รายงานถึงแนวคิดที่จะใช้สารสกัดกั้นโมโนโคลนัลแอนติบอดีต่ออะควาพอริน 4 รักษา NMO อีกด้วย
ตำแหน่งพอ-สทริ-มะในก้านสมองเป็นตำแหน่งหนึ่งที่สำคัญมากในเรื่อง blood-brain barrier (BBB) ความรู้จากงานวิจัยในเรื่องนี้จะเป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จในการค้นพบยารักษาโรคระบบประสาทอีกหลายชนิด อาทิ glioblastoma และเข้าใจกลไกการออกฤทธิ์ที่แน่ชัดของยาที่ใช้กันมานานในการบำบัด vasogenic oedema เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์และยาที่นำมาใช้ใหม่ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
เอกสารอ้างอิง
1. Bouchier IAD. Vomiting. In: French's Index of Differential Diagnosis.
13th Edition. Eds. Bouchier IAD, Ellis H, Fleming PR. Butterworth Heinmann,
Oxford. 1996; pp.710-13.
2. Hesketh PJ. Chemotherapy-induced nausea and vomiting. N Engl J Med 2008;
358: 2482-94.
3. Borison HI. Area postrema: chemoreceptor circumventricular organ of
the medulla oblongata. Prog Neurobiol 1989; 32: 351-90.
4. Miller AD, Leslie RA. The area postrema and vomiting. Front Neuroendocrinol
1994; 15: 301-20.
5. Wang SC, Borison HI. The vomiting center: a critical experimental analysis.
Arch Neurol Psychiatry 1950; 63: 928-41.
6. Apiwattanakul M, Popescu BF, Matiello M, et al. Intractable vomiting as
the initial presentation of neuromyelitis optica. Ann Neurol 2010; 68: 757-61.
7. Lennon VA. Paraneoplastic autoimmune neurological disease. 9th Athasit
Oration. 52th Annual meeting of the Neurological Society of Thailand, Bangkok.
16th March 2012.
8. Kim S-H, Kim W, Li XF, et al. Clinical spectrum of CNS aquaporin-4
autoimmunity. Neurology 2012; 78: 1179-85.
9. Tradtrantip L, Zhang H, Saadoun S, et al. Anti-aquaporin-4 monoclonal antibody
blocker therapy for neuromyelitis optica. Ann Neurol 2012; 71: 314-22.
10. Siritho S, Nakashima I, Takahashi T, et al. AQP-4 antibody-positive Thai cases.
Clinical features and diagnostic problems. Neurology 2011; 77: 827-34.
11. Weinshenker BG, Carroll WM. Does detection of anti-AQP4 antibodies
trump clinical criteria for neuromyelitis optica? Neurology 2011; 77: 812-13.
12. Benarroch EE. Blood-brain barrier: Recent developments and clinical
correlations. Neurology 2012; 78: 1268-76.
[ back ]