W (ชุดที่ 2) - Circle of Willis

Circle of Willis
Thomas Willis (1621-1675)


        แพทย์ส่วนใหญ่และนักศึกษาแพทย์ที่เรียนกายวิภาคศาสตร์แล้ว เมื่อมีคนเอ่ยถึงวงเวียนวิลลิส 
(Circle of Willis) คงจะจำได้ว่าอยู่ในกระโหลกศีรษะใต้สมอง  ผู้เขียนเป็นคนกรุงเทพฯ อดนึกถึง
วงเวียน 22 กรกฎาหรือวงเวียนใหญ่ฝั่งธนบุรีไม่ได้ !  แต่ทั้งสองเป็นวงเวียนสำหรับรถบนถนนส่วนวงเวียนวิลลิส
เป็นหลอดเลือดแดงที่เชื่อมต่อหลอดเลือดแดงที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนหน้า ส่วนกลางและส่วนหลัง และ
เชื่อมหลอดเลือดซีกซ้ายและซีกขวาที่สำคัญเหล่านั้นด้วย  ความรู้ในเรื่องนี้มีวิวัฒนาการมาก่อนสมัยโทมัส วิลลิส 
แต่ในที่สุดงานค้นคว้าวิจัยและข้อเขียนของวิลลิสก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป  ผู้เขียนเริ่มสนใจเรื่องนี้เมื่อทำวิจัย
เรื่องการไหลเวียนของเลือดในสมองและเมื่อทำงานกับประสาทศัลยแพทย์ตั้งแต่รุ่นอาจารย์ที่อังกฤษจนถึง
เพื่อนประสาทศัลยแพทย์ที่เมืองไทยที่มีผู้ป่วยตกเลือดใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (เยื่ออะแร็กนอยด์) 
ปฐมภูมิ (primary subarachnoid haemorrhage) ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากหลอดเลือดโป่งพองคล้ายผลไม้ลูกเล็ก ๆ
(berry aneurysm) แตกที่มักพบได้ที่วงเวียนวิลลิสโดยมีหลักจำง่าย ๆ ว่าประมาณร้อยละ 85 จะอยู่ที่ส่วนหน้า
และร้อยละ 15 อยู่ส่วนหลัง  ในขณะที่ผู้ป่วยร้อยละ 15 มีหลอดเลือดโป่งพองมากกว่าหนึ่ง  และที่เป็นส่วนหน้า 
(รวมร้อยละ 85) จะอยู่ที่หลอดเลือดแดงสมองส่วนหน้ามากกว่าที่หลอดเลือดแดงสมองส่วนหลังและ
หลอดเลือดแดงสมองส่วนกลางเล็กน้อย ในขณะที่การรักษาเมื่อ 30-40 ปีก่อนยากง่ายตามลำดับเดียวกัน  
กล่าวกันว่าฝีมือประสาทศัลยแพทย์สมัยนั้นวัดกันด้วยผลงานผ่าตัดหลอดเลือดโป่งพองเหล่านี้ !   
ปัจจุบันการรักษาเจริญก้าวหน้ามากมีการใช้ใส่ขดลวดเข้าไปอุดในหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดกระโหลกศีรษะ
(endovascular coiling) และมีประสาทรังสีแพทย์ผู้ชำนาญทางด้านนี้เป็นผู้ทำการรักษาก็มี

        ขอย้อนกลับไปพูดถึงโทมัส วิลลิส ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทางการแพทย์ที่ทุกคนควรทราบ  วิลลิสเป็น
ชาวอังกฤษที่เรียนเก่ง เฉลียวฉลาดมาก จบปริญญาโททางศิลปศาสตร์ที่วิทยาลัยไครสท์เชิช (Christchurch College) 
มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เมื่ออายุเพียง 21 ปี ต่อมาสำเร็จแพทยศาสตรบัณฑิตและทำการศึกษาค้นคว้าวิจัย
จนได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์  วิลลิสประสพความสำเร็จมากในเวชปฏิบัติทั่วไปด้วยทั้งที่ออกซ์ฟอร์ด
และต่อมาที่ลอนดอน แต่สิ่งสำคัญที่แพทย์บางคนอาจจะไม่ทราบก็คือ วิลลิสเป็นคนแรกที่รายงานผู้ป่วยด้วย
โรคมายแอสทีเนียกราวิส และเป็นผู้ที่นำเอาคำ “ประสาทวิทยา”  Neurologie (อ่านว่า นัวรอลฺ' เลอจี) หรือ
Neurology (อ่านว่า นัวรอลฺ' เลอจิ) นั่นเองมาใช้  วิลลิสสนใจการเมือง
ในยุคนั้นมากเป็นนักกษัตริย์นิยม (royalist)
และเคยเป็นหนึ่งในจำนวนแพทย์ที่ถวายการดูแลรักษาพระเจ้าชาร์ลส์
ที่หนึ่งด้วย


แนะนำเอกสาร
1)  Gawel M.  (1982).  The development of concepts concerning cerebral circulation.  
     In: Historical Aspects of the Neurosciences.  A Festschrift for Macdonald Critchley.  
     Eds. Rose FC, Bynum F.  New York: Raven Press.  pp. 171-184.

2)  Dewhurst K.  (1982).  Thomas Willis and the Foundations of British Neurology.  ibid.  pp. 327-346.

3)  Aarli JA.  (1982).  History of Myasthenia Gravis.  ibid.  pp. 223-234.

4)  Losseff N, Brown M, Grieve J.  (2009).  Subarachnoid haemorrhage in Stroke and Cerebrovascular 
     Diseases.  Chapter 4 in Neurology.  A Queen Square Textbook.  Eds. Clarke C, Howard R, Rossor M, 
     Shorvon S.  Wiley-Blackwell, UK.  pp. 126-130.

 

[ back ]