Q (ชุดที่ 2) - Q fever

Q fever
Sir Macfarlane Burnet (1899-1985)
    

        เมื่อถามถึงโรคไข้คิว แพทย์และนักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่จะพอบอกได้ว่าเป็นโรคติดเชื้อ แต่มักจะ
เข้าใจผิดว่าคิว (Q) หมายถึง รัฐควีนส์แลนด์ (Queensland) ประเทศออสเตรเลีย เพราะโรคนี้เอ็ดเวิร์ด ฮอลบรูค
เดอร์ริค (Edward Holbrook Derrick) เป็นคนแรกที่รายงานในพนักงานโรงฆ่าสัตว์ที่นครบริสเบน (Brisbane)
รัฐควีนส์แลนด์  แต่อักษร Q ในโรคนี้มาจากคำ query (เควีย' ริ) หมายถึง เครื่องหมายคำถาม  เพราะขณะนั้น
ยังไม่ทราบเชื้อที่ทำให้เกิดโรคจนกระทั่งปี ค.ศ. 1937 เมื่อนายแพทย์แฟรงค์ แมคฟาร์เลน เบอร์เน็ต
(Frank Macfarlane Burnet) และมาวิส ฟรีแมน (Mavis Freeman) สามารถแยกเชื้อจากผู้ป่วยคนหนึ่งของ
เดอร์ริคได้สำเร็จ  ปัจจุบันเชื้อมีชื่อว่า Coxiella burnetii ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบชนิดหนึ่งคล้าย Legionella 
โรคไข้คิวเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน  เนื่องจากปัจจุบันการท่องเที่ยวเดินทางติดต่อกันทั่วโลกอย่างกว้างขวาง
จึงมีรายงานผู้ป่วยเป็นประจำเสมอแพทย์จึงควรรู้จักลักษณะอาการของโรคนี้ไว้  อาการที่พบบ่อย ได้แก่
อาการคล้ายเป็นไข้หวัด ปวดหัวตัวร้อน เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ไอ บางครั้งมีปอดอักเสบ
และบางรายมีตับอักเสบโตและมีตาเหลือง บางรายมาหาแพทย์ด้วยไข้ไม่ทราบสาเหตุ  การรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ
doxycycline ได้ผลดีมาก  ในหญิงตั้งครรภ์มีรายงานแนะนำใช้ cotrimoxazole เป็นระยะเวลานาน  5 สัปดาห์แทน
ในรายที่มีตับอักเสบมากก็มีคำแนะนำให้ใช้สตีรอยด์ (steroids) ร่วมด้วย

        แมคฟาร์เลน เบอร์เน็ต เป็นชาวออสเตรเลียนแต่กำเนิด ศึกษาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเมลเบอร์น
หลังจากนั้นไปศึกษาต่อที่ลอนดอนจนได้ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตเมื่อปี ค.ศ. 1927 แล้วกลับไปออสเตรเลียอยู่พักหนึ่ง
ก่อนกลับไปฝึกอบรมทางไวรัสวิทยาที่ลอนดอนเมื่อปี ค.ศ. 1932  เบอร์เน็ตเป็นผู้พัฒนาเทคนิคเพาะเชื้อไวรัส
โดยเฉพาะไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งยังคงใช้กันจนปัจจุบัน  เบอร์เน็ตเป็นผู้เสนอทฤษฎีการเลือกโคลน
(clonal selection theory) โดยศึกษาและเสนอแนวคิดในเรื่องนี้  หลังจากที่ เรย์ เดวิด โอเวนส์ พบว่าลูกวัวแฝด
สามารถรักษาเม็ดเลือดแดงของตัวเองและของคู่แฝดได้ตลอดชีวิตซึ่งเชื่อว่าเป็นจากการผ่านต่อเซลล์ต้นกำเนิด
ของเม็ดเลือดแดงตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่  การรู้ว่าเซลล์เนื้อเยื่อว่าเป็นของตนหรือไม่ใช่ตนจะเกิดหลังจาก
ช่วงระยะเวลานั้นไปแล้ว

        เซอร์ ปีเตอร์ เมดาวอร์ (Sir Peter Medawar, 1915-1987) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
เป็นผู้พิสูจน์สมมติฐานที่เบอร์เน็ตเสนอได้สำเร็จ โดยการฉีดเซลล์จากม้ามของหนูพันธุ์หนึ่งเข้าตัวหนูอีกพันธุ์หนึ่ง
ในระยะเอ็มบริโอ (embryo) และต่อมาเมื่อโตแล้วหนูรับผิวหนังปลูกถ่าย (skin graft) จากตัวที่ให้ได้ 
เมดาวอร์พิสูจน์ให้เห็นว่าการไม่รับสิ่งปลูกถ่ายคล้ายกับความไวเกินของเซลล์ (cellular hypersensitivity)
นำไปสู่ความรู้ทางวิทยาภูมิคุ้มกันสองระบบคือ cell-mediated และ antibody-mediated  นับได้ว่าทั้งเบอร์เน็ต
และเมดาวอร์ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ ในปี ค.ศ. 1960 ร่วมกัน  เป็นผู้ร่วมบุกเบิก
วิทยาภูมิคุ้มกันอย่างมาก  เป็นที่ยอมรับว่าทั้งสองคนเป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีวิสัยทัศน์กว้างไกล 
เมดาวอร์ได้เขียนหนังสือที่เป็นอมตะไว้หลายเล่มซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจนปัจจุบัน อาทิ Pluto’s Republic (1982)
และอัตตชีวประวัติ Memoir of a Thinking Radish (1986)
  

แนะนำเอกสาร
1)  Wikipedia - the free encyclopedia.  (2013).  Q fever.

2)  วิกิพีเดีย.  (2013).  โรคไข้คิว (Q Fever, Query fever).

3)  Somasundaram R, Loddenkemper C, Zietz M, et al.  (2006).  A souvenir from the Canary Islands. 
     Lancet.  367 : 1116.
    
4)  Petersdorf RB, Beeson PB.  (1961).  Fever of unexplained origin: report on 100 cases. 
     Medicine (Baltimore).  40 : 1-30.

5)  Sir Macfarlane Burnet.  The Nobel Chronicles.  A handbook of Nobel Prizes in Physiology or
     Medicine 1901-2000.  Ed. TNK Raju.  The Nobel Foundation 2002.  pp. 241-243.

 

 

 

[ back ]