Osler’s signs and diseases
William Osler (1849-1919)
- on Medical Education
การเรียกชื่อโรคหรือสัญญาณโรคตามชื่อแพทย์ผู้ค้นพบโดยเฉพาะทางอายุรศาสตร์ยังคงเป็นที่นิยมใช้กันอยู่
ถึงแม้ในปัจจุบันอาจจะน้อยลง ชื่อปรมาจารย์อายุรแพทย์วิลเลียม ออสเลอร์ (ค.ศ. 1849-1919) เป็นตัวอย่างที่ดี
ในยุคนั้นอายุรแพทย์มักจะสนใจโรคทางอายุรกรรมทั่วไปรวมทั้งโรคผิวหนัง ออสเลอร์สนใจโรคติดเชื้อ โรคหัวใจ
โดยเฉพาะโรคเยื่อบุห้องหัวใจอักเสบเหตุติดเชื้อแบคทีเรีย (subacute bacterial endocarditis หรือ SBE)
โรคถุงหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) อาการหัวใจขาดเลือด (angina pectoris) และโรคอื่น ๆ อีกมาก
สัญญาณโรคที่มักมีชื่อออสเลอร์ติดอยู่ด้วยก็คือ รอยโปนที่ผิวหนัง (Osler’s nodes) เกิดที่มือและเท้า ปวดเจ็บ
มีสีแดงคล้ำ ที่พบในผู้ป่วย SBE ซึ่งปัจจุบันทราบกันดีว่าเป็นผลจากภูมิคุ้มกันซับซ้อน (immune complex)
โรค polycythaemia vera หรือโรคออสเลอร์-วาเกซ (Osler-Vaquez disease) เป็นตัวอย่างอีกโรคหนึ่ง
ที่ออสเลอร์บรรยายถึงผู้ป่วยรายแรกที่พบว่า ....ในฤดูร้อนใบหน้าแดงเหมือนดอกกุหลาบแต่ในฤดูหนาวหน้า
กลับสีคล้ำเหมือนสีคราม ....โรคที่รู้จักกันดีในชื่อออสเลอร์อีกโรคหนึ่งก็คือ โรคหลอดเลือดเล็กพองตกเลือด
เหตุพันธุกรรม (hereditary haemorrhagic telangiectasia) ที่รู้จักกันดีในนามโรครองดู-ออสเลอร์-เวเบอร์
(Rendu-Osler-Weber disease) นายแพทย์อองรี ยูล หลุยส์ มารี รองดู (Henri Jule Louis Marie Rendu)
แพทย์เวชกรรมชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงแห่งยุค (1844-1902) เป็นผู้รายงานเป็นคนแรกตามด้วยออสเลอร์และ
นายแพทย์เฟรเดอริค พาร์คส์ เวเบอร์ (Frederick Parkes Weber) แพทย์ชาวอังกฤษ (1863-1962)
ผู้ป่วยด้วยโรคนี้มักมีรอยโรคที่ผิวหนัง เยื่อบุในปาก จมูก ปอด ตับและสมอง อาการที่พบบ่อย ได้แก่
เลือดกำเดาออก เลือดออกในกระเพาะลำไส้ ตั้งแต่ผู้ป่วยยังเด็กหรือหนุ่มสาว เป็นโรคพันธุกรรมที่ถ่ายทอดแบบ
ทายกรรมลักษณะเด่น (autosomal dominant) แต่พบผู้ป่วยอยู่จนแก่เฒ่าดังเช่นตัวอย่างรายงานล่าสุดผู้ป่วย
อายุ 83 ปี ชาวอาร์เจนตินา ไปหน่วยฉุกเฉินที่โรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้องมากและซีดจากเลือดออกจาก
เยื่อบุช่องท้อง (Haemoperitoneum)
ออสเลอร์มีพื้นเพเป็นชาวอังกฤษ ปู่และพ่อเป็นทหารเรือ มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองฟาลมัธ คอร์นวอลล์
(Falmouth, Cornwall) บิดาอพยพไปอยู่แคนาดา ออสเลอร์จึงเรียนจบเป็นแพทย์ที่โทรอนโต ออนแทรีโอ
ต่อมาจึงย้ายถิ่นฐานไปอยู่สหรัฐอเมริกา และเป็นหนึ่งในศาสตราจารย์ 4 คน (ทางอายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์
สูตินรีเวชศาสตร์และพยาธิวิทยา) ที่ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอบกินส์
กิตติศัพท์ชื่อเสียงในฐานะอายุรแพทย์และครูแพทย์ทำให้ออสเลอร์ในช่วงปลายชีวิตการทำงานได้รับแต่งตั้งเป็น
ราชศาสตราจารย์ (Regius Professor) ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด การให้การอบรมสั่งสอนศิษย์เน้นการสอนและ
ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยเป็นหลักดังคำกล่าวที่เป็นที่คุ้นหูของอายุรแพทย์ทั่วไปของออสเลอร์ที่ว่า การฝึกอบรม
เป็นแพทย์ต้องมีหลักปฏิบัติเหมือนแล่นเรือในทะเลต้องมีเข็มทิศแต่ถ้านักศึกษาแพทย์ไม่ฝึกปฏิบัติก็เหมือนกับไม่ได้
ออกทะเลเลย !
การศึกษาแพทย์ในสหรัฐอเมริกาในยุคนั้นเจริญก้าวหน้าโดยเฉพาะในตะวันออกของประเทศ ที่รัฐบริเวณ
ที่เรียกกันว่า อังกฤษใหม่ (New England) แต่บุคคลที่มีบทบาทอย่างมากในการปฏิรูปแพทยศาสตรศึกษา
เมื่อ 100 ปีมาแล้วกลับไม่ใช่แพทย์แต่เป็นครูในโรงเรียนชั้นมัธยมที่รักศึกษาศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจและใฝ่รู้ตลอดคือ
อะบราแฮม เฟลคซ์เนอร์ (Abraham Flexnor) จากเมืองหลุยส์วิลล์ (Louisville) มลรัฐเคนทัคกี (Kentucky)
การกล้าปิดโรงเรียนแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานของรัฐบาลตามคำแนะนำของเฟลคซ์เนอร์ที่ริเริ่มโดยมูลนิธิแอนดรูคาร์เนกี (Andrew Carnegie Foundation) ทำให้การฝึกอบรมแพทย์ในสหรัฐอเมริกาที่เน้นการให้การศึกษาทางวิทยาศาสตร์
พื้นฐาน การเน้นการฝึกปฏิบัติในหอผู้ป่วยและการวิจัยทำให้แพทยศาสตรศึกษาในสหรัฐอเมริกาเจริญก้าวหน้า
อย่างมากภายในช่วงเวลาครึ่งศตวรรษ จนสหราชอาณาจักรต้องหันไปดูเป็นตัวอย่าง ! ประวัติแพทยศาสตรศึกษา
ในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับประเทศไทย
แนะนำเอกสาร
1) Silverman ME, Murray TJ, Bryan CS. (2003). The Quotable Osler. American College of Physicians.
Philadelphia. 283 pages.
2) Wikipedia. (2013). Rendu-Osler-Weber disease.
3) Dietrich A, Cristiano A, Serra M., et al. (2013). Haemoperitoneum with hereditary haemorrhagic
telangiectasia. Lancet. 381 : 962.
4) Wikipedia. (2013). Sir William Osler.
5) Wikipedia. (2013). Abraham Flexnor.
6) Miller H. (1966). Fifty years after Flexnor. Lancet. ii : 647-654.
7) Doman T. (2005). Osler, Flexnor, apprenticeship and 'the new medical education'.
J R Soc Med. 98 : 91-95.