M (ชุดที่ 2) - Meralgia Paraesthetica (MP)

Meralgia Paraesthetica (MP)


        ชื่อโรคที่กล่าวถึงมีรากศัพท์จากภาษากรีก 4 คำ หมายถึง อาการปวดประสาทที่โคนขาพร้อมกับมีความรู้สึกรับรู้
ที่ผิดปกติ เดิมเคยมีคนใช้ชื่อเรียกโรคนี้ว่า กลุ่มอาการเบอร์นฮาดท์-รอท (Bernhardt-Roth syndrome) เพราะ
มาร์ติน เบอร์นฮาดท์ (1814-1915) ประสาทพยาธิแพทย์ชาวเยอรมันเป็นคนแรกที่ศึกษาโรคนี้เมื่อ ค.ศ. 1878

        MP เกิดจากรอยโรคที่เส้นประสาทผิวหนังโคนขาด้านข้าง (lateral femoral cutaneous nerve, LFCN)
ความรู้สึกแปร่ง ๆ ชา ๆ ที่โคนขาด้านข้างถ้าเป็นผู้ป่วยชายจะอยู่ที่ตำแหน่งตรงกับมือล้วงกระเป๋ากางเกงขายาว
(แต่ไม่ใช่กางเกงยีนส์ !)  MP มักเกิดในคนอ้วนโดยเฉพาะถ้าเดินมาก ๆ และ พยายามลดน้ำหนัก แต่บ่อยครั้งก็ไม่มี
สาเหตุแน่ชัดพบได้ค่อนข้างบ่อยโดยมีผู้ประมาณไว้ว่าเกิดสี่ในหนึ่งหมื่นคนต่อปี พบเป็นข้างเดียวมากกว่าเป็น
ทั้งสองข้าง  ขวาและซ้ายไม่แตกต่างกัน พบในชายมากกว่าหญิง มีการแจกแจงทางอายุแบบทวิฐานนิยม
(bimodal distribution) มียอดที่อายุระหว่าง 20 ถึง 30 และ 50 ถึง 70 ปีเล็กน้อย  ที่กายส์ผู้เขียนเรียนรู้เกี่ยวกับ
MP เป็นครั้งแรกตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 (แปลกแต่จริง !  จากอาจารย์ผู้เป็นศัลยแพทย์ทั่วไปและมีผู้ป่วย
มาให้ผ่าตัดรักษา)  แพทย์ผู้สนใจเรื่อง MP จะต้องศึกษากายวิภาคของ LFCN อย่างถ่องแท้  ผู้เขียนพบผู้ป่วยไทย
ด้วยโรคนี้เป็นครั้งคราวกะว่าไม่เกิน 20 รายในชีวิตการทำงานที่ประเทศไทย 45 ปี แต่สังเกตเสมอ ๆ ว่าผู้ป่วยด้วย
MP มักได้รับการวินิจฉัยโรคผิดเป็นอย่างอื่น  เราโชคดีที่ศาสตราจารย์สัตวแพทย์หญิงอาภรณ์ จันท์จารุณี และคณะแห่ง
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาอย่างละเอียดถึงเส้นทางและตำแหน่งของ LFCN จากการผ่าศพไทยกว่า 100 รายที่มีอายุระหว่าง 37 ถึง 94 ปีพบว่า LFCN นอกจากมาจาก
lumbar spinal nerves ที่ 2 & 3 แล้วตำแหน่งที่ออกจากเชิงกราน (pelvis) เป็นไปได้ 5 รูปแบบ  โดย 2 รูปแบบ
(รวมกันเกือบร้อยละ 87) อยู่ด้านในของ anterior superior iliac spine และห่อหุ้มอยู่ในเอ็นของกล้ามเนื้อ sartorius
หรืออยู่ระหว่างกล้ามเนื้อนั้นและกล้ามเนื้อ iliopsoas ลึกกว่า inguinal ligament มีอยู่รูปแบบหนึ่ง (type B) ซึ่งมี
ประมาณร้อยละ 9 ที่ LFCN วิ่งทะลุและห่อหุ้มด้วย inguinal ligament ที่อาจารย์ศัลยแพทย์ทั่วไปของผู้เขียนสอนว่า
ผู้ป่วยด้วย MP ที่มีอาการนานเกิน 3 เดือนควรได้รับการผ่าตัดคล้ายผู้ป่วยด้วย carpal tunnel syndrome เพราะ LFCN
ถูก inguinal ligament บีบรัด จึงเป็นไปได้ว่ารูปแบบ B เท่านั้นที่อาจเกิดมีอาการ MP !

        มีรายงานโรคนี้จากสาเหตุอื่น เช่น โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบในผู้ป่วยหญิง  ในผู้ป่วยพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน
ในผู้ป่วยหลังผ่าตัดไส้เลื่อน และล่าสุดเป็นภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการล้างท้อง (peritoneal dialysis)
เป็นต้น


แนะนำเอกสาร
1)  Meralgia Paraesthetica.  (2013).  Wikipedia.

2)  Pearce JMS.  (2006).  Meralgia Paraesthetica (Bernhardt-Roth syndrome).  J Neurol Neurosurg
     Psychiatry.  77 : 84. 

3)  Patten J.  (1977).  Neurological Differential Diagnosis.  London: Harold Starke Ltd.  pp. 214.
 
4)  Chuncharunee A, Sangvichien S, Thitilertdecha S, et al.  (2003).  Anatomical variation course of 
     the lateral femoral cutaneous nerve as it exits the pelvis in Thais from the central region.  
     Siriraj Hosp Gaz.  55 : 152-157.
 
5)  Kitchen C, Simpson J.  (1972).  Meralgia Paraesthetica: a review of 67 patients.  Acta Neurol Scand.
     48 : 547-555. 

 

 

[ back ]