Ice-cream Headache
Harold Wolff (1898-1962)
ผู้อ่านบางคนอาจเคยมีประสบการณ์เกิดกับตนเองมาแล้วโดยขณะกำลังคุยสนุกกับเพื่อน กินไอศกรีมกัน
เกิดปวดศีรษะเมื่อเพดานปากรู้สึกเย็นมาก อาการปวดแปลบ ๆ หรือปวดจิ๊ดเกิดขึ้นภายในไม่กี่วินาทีและโดยทั่วไป
เป็นอยู่ประมาณไม่ถึงครึ่งนาที
ปวดศีรษะเหตุไอศกรีม (ice-cream headache) เป็นที่รู้จักกันมานานกว่า 150 ปี พบในคนที่เป็นไมเกรน
ได้บ่อยกว่า เมื่อไม่นานมานี้ฟูห์ (Fuh) และคณะจากไต้หวัน ได้ศึกษาวัยรุ่น 8,359 คน พบถึงร้อยละ 40.6 มีอาการนี้
และเดิมก็เชื่อว่าอาการปวดเป็นการปวดประสาท (nerve pain) ที่ sphenopalatine ganglion แต่ล่าสุดนักวิจัยจาก
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ศึกษาการไหลเวียนของเลือดในสมองผู้มีอาการปวดศีรษะเหตุไอศกรีม
โดยใช้การถ่ายภาพจาก transcranial doppler ขณะเกิดมีอาการ พบว่าหลอดเลือดแดงสมองส่วนหน้า
(anterior cerebral artery) ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปริมาณเลือดสมองส่วนนั้นเพิ่มขึ้นมาก เมื่อหลอดเลือดหดตัว
ก็หายปวด !
อนึ่ง คำ “ไอศกรีม” ถือเป็นคำภาษาไทยไปแล้ว โดย พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
นิยามว่า “ของกินทำด้วยน้ำหวาน กะทิ หรือนม เป็นต้น ทำให้ข้นด้วยความเย็น”
“ไอศกรีม” จึงไม่ใช่การเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่ไม่ถูกต้อง และถูกบางคนหยอกล้อว่า ข้า ฯ ตะโกน
(I scream) !
แฮโรลด์ วูลฟฟ์ เป็นแพทย์ชาวอเมริกัน เกิดที่นิวยอร์ก สำเร็จแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย
ฮาร์วาร์ด ในปี ค.ศ. 1923 ต่อจากนั้นไปฝึกอบรมทางประสาทวิทยาที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ เกิดสนใจสรีรวิทยา
โดยเฉพาะเกี่ยวกับ psychosomatic medicine จึงเดินทางไปศึกษากับนายแพทย์อิวาน พาฟลอฟ (Ivan Pavlov)
ที่รัสเซียอยู่หนึ่งปี จึงกลับมาทำงานด้านเวชกรรมและวิจัยที่นิวยอร์ก วูลฟฟ์ให้ความสนใจเรื่องกลไกและสรีรวิทยา
อาการปวดศีรษะตลอดชีวิตการทำงาน ประสาทแพทย์ทั่วโลกยอมรับว่าวูลฟฟ์เป็นแพทย์คนแรก ๆ ที่เป็นผู้ริเริ่ม
ศึกษาเรื่อง ปวดศีรษะ วูลฟฟ์ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ต่อจากฟอสเตอร์ เคนเนดี (Foster Kennedy) และ
ในปี ค.ศ. 1958 ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ให้เป็นศาสตราจารย์ แอนน์ พาริช ทิตเซล ทางอายุรศาสตร์
(Anne Parish Titzel Professor of Medicine) ซึ่งวูลฟฟ์ดำรงตำแหน่งอยู่ 4 ปีก่อนถึงแก่กรรมเมื่ออายุเพียง 62 ปี
วูลฟฟ์สมรสกับอิซาเบล บิชอพ (Isabel Bishop) จิตรกรมีชื่อชาวอเมริกันที่นิวยอร์ก ทั้งคู่ไม่มีบุตร
แนะนำเอกสาร
1) Lance JW, Goadsby PJ. (2005). Ice-cream headache in “Mechanism and management of
headache”. Seventh Edition. Philadelphia: Elsevier. pp. 343-344.
2) Wolff HG. (1963). Headache and other head pain. New York: Oxford University Press.
pp. 36-37.
3) Fuh JL, Wang SJ, Lu SR, Juang KD. (2003). Ice-cream headache - a large survey of 8359
adolescents. Cephalalgia. 23 : 977-981.
4) Welsh J. (2012). Cause of brain freeze revealed. BMJ. 314 : 1364
5) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. หน้า 1403.
6) Wikipedia. (2013). Harold Wolff (1898-1962).