H (ชุดที่ 2) - (Essential) Hypertension

(Essential) Hypertension
William Harvey (1578-1657)


        ปัจจุบันกว่าร้อยละ 25 ของประชากรผู้ใหญ่ในโลกมีความดันโลหิตสูงและคาดว่าในปี ค.ศ. 2025 ตัวเลขจะเป็น
ร้อยละ 29 หรือประมาณ 1560 ล้านคน  กว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเป็นประเภทที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด (Essential hypertension หรือ EH)

        แรงดันเลือดของคนเหมือนส่วนสูงหรือน้ำหนักเป็นชีวลักษณะของแต่ละบุคคล เมื่อประมาณ 60 ปี มาแล้ว
(ค.ศ. 1950-59) มีข้อโต้แย้งกันที่โด่งดังมากระหว่างศาสตราจารย์ชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ 2 คน คือ โรเบิร์ต แพลตต์
(Robert Platt หรือ Lord Platt) และ จอร์ช พิคเกอริง (Sir George Pickering) ในเรื่อง EH  โดยฝ่ายแรก (แพลตต์)
สรุปจากการศึกษาว่า กลุ่มผู้ป่วย EH มีการแจกแจงแบบทวิฐานนิยม (bimodal distribution) EH เป็นโรคพันธุกรรม
ยีนเดียว (monogenetic)  ในขณะที่พิคเกอริงเชื่อว่าสาเหตุของ EH มีพหุปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมและพันธุกรรมมี
ความแตกต่างบ้างระหว่างบุคคลส่วนการแจกแจงเป็นแบบเอกฐานนิยมไม่สมมาตร (asymmetrical distribution)
โดยหางของส่วนโค้งเยื้องไปทางขวาและเห็นชัดขึ้นเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ในระยะแรก ๆ วงการแพทย์เอนเอียงไป
ทางแพลตต์ แต่ต่อมาจนปัจจุบันเชื่อว่าการแจกแจงแบบทวิฐานนิยมของแพลตต์เป็นสิ่งแปลกปน (artefact)
เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่ศึกษามีน้อยไป  มีการลำเอียงของผู้ศึกษา (bias) และกลุ่มผู้ป่วยที่ศึกษาเป็นกลุ่มที่
คัดเลือกมา  แพลตต์เป็นศาสตราจารย์ทางอายุรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (Manchester) สนใจและ
เชี่ยวชาญทางโรคไต  เป็นประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอนก่อนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นบารอน (Baron)
ในสภาขุนนางหรือสภาสูง (House of Lords) ของอังกฤษ  ในขณะที่พิคเกอริงเป็นศาสตราจารย์ทางอายุรศาสตร์
ที่โรงพยาบาลเซนต์ แมรีส์ (St. Mary’s) มหาวิทยาลัยลอนดอน ก่อนย้ายไปเป็นราชศาสตราจารย์
(Regius Professor) ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มีสานุศิษย์อายุรแพทย์ซึ่งต่อมาเป็นศาสตราจารย์หรือแพทย์นักวิจัย
ที่มีชื่อเสียงหลายคน อาทิ ศาสตราจารย์สแตนลีย์ เพียร์ต (Stanley Peart)  ศาสตราจารย์จอห์น สเวลส์
(John Swales) ผู้เป็นศาสตราจารย์ก่อตั้งภาควิชาอายุรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ (Leicester) ซึ่งแพทย์เหล่านี้
สนใจและทำวิจัยเรื่อง EH รวมทั้งระบบเรนิน แอนจิโอเทนซิน (Renin-angiotensin system)

        เมื่อผู้เขียนเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก (1956-1959) ยารักษาความดันโลหิตสูงมีจำกัดมาก มีแค่ระย่อม
หรือ reserpine (rauwolfia alkaloids), apresoline (hydrazino hydralazine) และ hexamethonium หรือ
pentolinium sympathetic ganglion blocking agents ให้เลือกถ้าความดันโลหิตสูงเข้าขั้นอันตราย 
ส่วนยาขับปัสสาวะก็มีแค่ยาฉีดเข้าปรอท (mercurial diuretics)  ยา thiazides และ alphamethyl dopa เริ่มมีใช้
เมื่อผู้เขียนสำเร็จเป็นแพทย์ได้ใหม่ ๆ  ปัจจุบันเภสัชวิทยาก้าวหน้ามากมียาหลายกลุ่มให้เลือก  ยาลดแรงดันเลือดที่
ให้ผู้ป่วยกินเป็นอันดับแรกก็แตกต่างกันบ้างในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยาประเภทสกัดกั้นแคลเซียม
(calcium channel blockers)  ยาสกัดกั้นที่ตัวรับแอนจิโอเทนซิน (angiotensin receptor blockers) หรือ ARB 
ยา thiazides หรือยาสองตัวควบกัน ล้วนแต่ต้องการให้แรงดันเลือดทั้ง “ตัวบน” (systolic) และ “ตัวล่าง” (diastolic)
ลดลงอยู่ในระดับปกติหรือไม่เกิน 130/80 มม.ปรอท ตลอดเวลา  ในความเป็นจริงทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย
ผลการรักษายังไม่ดีเพราะทั้งแพทย์ผู้รักษาและผู้ป่วยไม่เคร่งครัดในเรื่องนี้ รวมทั้งไม่เน้นเรื่องอาหารโดยเฉพาะ
การลดเกลือแร่โซเดียมและการใช้วิถีชีวิตประจำวันโดยการออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุราและคลายเครียด 
การรักษาแรงดันเลือดขึ้นสูงถึงขั้นร้ายแรง (malignant) ก็มียารักษาที่ดีกว่าเมื่อ 60 ปีก่อน ซึ่งบางรายก็ต้องรักษา
ด้วยการผ่าตัด dorsolumbar sympathectomy ที่ได้ผลดี ปัจจุบันก็มีความก้าวหน้าในการรักษาทางศัลยกรรม
ด้วยวิธีพิเศษที่จี้ทำลายประสาท sympathetic ที่ไต (renal sympathetic nerve ablation)

        ความรู้เกี่ยวกับระบบการไหลเวียนของเลือดและการเต้นของหัวใจที่ทำหน้าที่เหมือนปั๊มที่เราทราบกัน 
เริ่มจากผลการศึกษาวิจัยของวิลเลียม ฮาร์วีย์ แพทย์ชาวอังกฤษที่รายงานไว้เมื่อ ค.ศ. 1628

        วิลเลียม ฮาร์วีย์ เกิดที่เมืองโฟล์คสโตนในเคนท์ (Kent) บิดาเป็นพ่อค้ามีอันจะกิน  วิลเลียมเรียนชั้นประถมศึกษา
ใกล้บ้านแล้วเข้าเรียนชั้นมัธยมที่คิงส์สกูล ที่เมืองแคนเทอบิวรี (Canterbury) ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียง 
วิลเลียมเป็นเด็กเฉลียวฉลาดและเรียนเก่งมาก สนใจรอบรู้หลายอย่างโดยเฉพาะภาษาละติน ต่อมาเข้าศึกษาที่
วิทยาลัยคียส์ (Caius College) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อจบปริญญาตรีแล้วไปจบแพทยศาสตรบัณฑิตที่
มหาวิทยาลัยปาดัว ประเทศอิตาลี เมื่ออายุ 24 ปี แล้วกลับไปเรียนต่อจนจบแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตที่เคมบริดจ์

        วิลเลียม ฮาร์วีย์ นอกจากจะเป็นแพทย์ นักวิจัยที่ชอบทำการทดลองทางสรีรวิทยาและกายวิภาคศาสตร์แล้ว
ยังเป็นแพทย์ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งทางเวชกรรมโดยเป็นอายุรแพทย์ที่ปรึกษาที่โรงพยาบาลโรงเรียน
แพทย์เซนต์ บาร์โทโลมิวส์ (St. Bartholomew’s) มหาวิทยาลัยลอนดอน นอกจากนี้ยังเป็นแพทย์ประจำพระองค์
ของพระเจ้าชารลส์ที่ 1 และต่อมาของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ของอังกฤษอีกด้วย

        หนังสือการทำงานของหัวใจและการไหลเวียนของเลือดที่วิลเลียมเขียนเป็นภาษาละติน คือ De Motu Cordis
เป็นอมตะ  เขาได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางอายุรศาสตร์ (Doctor of Physic) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
เมื่อปี ค.ศ. 1642  วิลเลียม ฮาร์วีย์ มีภรรยาแต่ไม่มีบุตร และถึงแก่กรรมที่เมืองโรแฮมป์ตัน ชานกรุงลอนดอน
เมื่ออายุ 79 ปี
 
        ฮาร์วีย์เป็นแพทย์นักสรีรวิทยาที่ทุกคนยกย่องให้เป็นอัจฉริยบุคคล เป็นแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง 
หนังสือที่ฮาร์วีย์เขียนไว้เป็นภาษาละตินได้ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาอื่น ๆ อีกหลายภาษา 
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอนได้ยกย่องวิลเลียม ฮาร์วีย์ ไว้อย่างสูงสุดโดยจัดปาฐกถาพิเศษ
สุนทรพจน์ฮาร์วีย์ (Harveian Oration) เพื่อเป็นอนุสรณ์ทุกปี


แนะนำเอกสาร
1)  Swales JD.  (1994).  Textbook of Hypertension.  Blackwell Scientific Publications, Oxford, UK.

2)  Swales JD.  (1996).  Essential Hypertension.  In: Oxford Textbook of Medicine.  Vol. 2. 
     Eds. Weatherall DJ, Ledingham JGG, Warrell DA.  Oxford University Press, Oxford, UK. 
     15.27 pp. 527-543.

3)  Kaplan NM, Opie LH.  (2006).  Controversies in hypertension.  Lancet.  367 : 168-176.
 
4)  Schlaich MP, Krum H, Sobotka PA, Esler MD.  (2011).  Renal sympathetic nerve ablation. 
     Am J Hypertension.  24 : 635-642. 

5)  Harvey W.  (1578-1657).  2012 Wikipedia. 

6)  Richardson, Sir John.  (1978).  Harvey’s exhortation.  The Harveian Oration. 
     Royal College of Physicians, London.  pp. 3-14.

7)  Lord Brain.  (1964).  William Harvey and his times.  In: Doctors Past and Present. 
     Pitman Medical Publishing Co., Ltd., London.  pp. 1-28.    

 

[ back ]