G (ชุดที่ 2) - Gout

Gout

        Gout (อ่าน “เกาทฺ” แต่เรียก “โรคเกาต์”) เป็นโรคที่มนุษย์รู้จักกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์  หลักฐานแรกจากชาวอียิปต์เมื่อประมาณ 2600 ปีก่อนคริสต์กาล ระบุถึงข้อหัวแม่เท้าอักเสบ   2100 ปีต่อมาฮิปโปเครติส (Hippocrates) บันทึกไว้ว่าโรคนี้ไม่พบในหญิงก่อนหมดประจำเดือน   คำ “gout” มาจากคำภาษาละติน “gutta” หมายถึง
“หยดของเหลว” เริ่มนำมาใช้กันเมื่อ ค.ศ. 1200   ในปี ค.ศ. 1679 ลิเวนฮุค (Leeuwenhoek) ผู้เป็นคนนำ
กล้องจุลทรรศน์มาใช้เป็นคนแรกได้รายงานลักษณะรูปร่างของผลึกยูเรตที่พบ และใน ค.ศ. 1848 นายแพทย์
เซอร์ อัลเฟรด แบริง แกร์รอด (Sir Alfred Baring Garrod, 1819-1907) เป็นคนแรกที่พบว่ากรดยูริคในเลือด
ที่สูงผิดปกติเป็นสาเหตุของโรคเกาต์  เซอร์ อัลเฟรด ยังเป็นผู้รายงานโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นคนแรกอีกทั้งยัง
เป็นบิดาของนายแพทย์ เซอร์ อาคิบาลด์ เอดเวิร์ด แกร์รอด (Sir Archibald Edward Garrod, 1857-1936)
แพทย์ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในโรค “inborn errors of metabolism” ทั้งหลาย อาทิเช่น alkaptonuria, pentosuria และ cystinuria ที่ท่านเป็นผู้ค้นพบ

        โรคเกาต์เป็นโรคที่พบบ่อยมากถึงร้อยละ 1 ถึง 2 ในผู้ใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว  แต่เดิมเคยเชื่อกันว่า
เกาต์เป็นโรคที่พบเฉพาะในคนมั่งมีไม่ค่อยพบในคนยากจนถึงขนาดกล่าวกันไว้ว่า เกาต์เป็น “ราชาแห่งโรคและ
เป็นโรคของพระราชา” (the king of diseases and the disease of kings)  ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ 
อาหารและภาวะพหุสัณฐานทางพันธุกรรม (genetic polymorphism) เกี่ยวกับตัวนำส่ง (renal transporter)
ผลึกยูเรตของไตเป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคเกาต์ชนิดปฐมภูมิ

        ข้อเดียวอักเสบเฉียบพลันโดยเฉพาะข้อหัวแม่เท้า ข้อเข่า ข้อนิ้วมือในผู้ชายตั้งแต่วัยหนุ่มถึงแก่ อย่าลืมนึกถึง
โรคนี้  ในหญิงหลังหมดประจำเดือนที่ข้อเดียวเกิดอักเสบซึ่งบางครั้งเป็นข้อสะโพกหรือข้อที่เรานึกไม่ถึง เช่น
ข้อกระดูกไหปลาร้าต่อกระดูกอก (sterno-clavicular joint) เป็นต้น  อาการปวดหลังบริเวณบั้นเอว (“spinal” gout)
ก็พบได้ถึงขนาดหลอกแพทย์ให้ผ่าตัดก็มีรายงานมาแล้ว

         อาการปวดบวมแดงร้อนพร้อมทั้งไข้จากโรคเกาต์เชื่อกันว่า interleukin (IL) 1B เป็นตัวการสำคัญ  ยาที่แนะนำ
ให้ใช้แก้อาการอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่ ยาต้านอักเสบที่ไม่เข้าสตีรอยด์ (NSAIDS)  รองลงมาก็คือ colchicine หรือ
คอร์ติโคสตีรอยด์เป็นระยะสั้น  ส่วนในระยะยาวยาที่ลดระดับกรดยูริคโดยยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase ที่ใช้มา
ตั้งแต่ 50 กว่าปีมาแล้วคือ allopurinol ก็ยังใช้ได้ดีมากถึงจะมีข้อควรระวังเรื่องการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นได้ที่ต้องทราบ

         เป็นที่เชื่อกันว่าในไม่ช้าจะมียาใหม่ ๆ ออกมาที่ช่วยให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น  แม้แต่
รางวัลโนแบลในสาขาวิชาเคมีประจำปี 2012 ก็ให้แก่แพทย์นักวิจัยเรื่อง G-protein coupled receptors โดยคร่าว ๆ
“ตัวรับ” (receptors) ที่กล่าวมีอยู่ในร่างกายเราประมาณหนึ่งพันตัวกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปและประมาณ
ร้อยละ 50 ของยาทั้งหมดที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันมีฤทธิ์ที่ “ตัวรับ” นี้ !
 

แนะนำเอกสาร
1)  Wikipedia.  (2012).  History of Gout.

2)  Richette P, Bardin T.  (2010).  Gout.  Lancet.  375 : 318-328. 
     
3)  Rufener J, Schulze CC, Tanzler K, et al.  (2012).  Sterile spondylodiscitis.  Lancet.  379 : 1850.

4)  ประภัสสร อัศวโสตถิ์, วันรัชดา คัชมาตย์.  (2555).  Colchicine in rheumatologic diseases.
     วารสารโรคข้อและรูมาติสซั่ม.  23 : 73-108.

5)  มณีรัตน์ ธนกิติวิรุฬ, อัจฉรา กุลวิสุทธิ์.  (2546).  Allopurinol hypersensitivity syndrome.
     วารสารโรคข้อและรูมาติสซั่ม.  16 : 19-35.

6)  Hashkes PJ, Spalding SJ, Giannini EH, et al.  (2012).  Rilonacept for colchicine-resistant
     or -intolerant Familial Mediterranean Fever.  Ann Intern Med.  157 : 533-541.

7)  Nobel Prize in Chemistry.  (2012).  Wikipedia.

 

[ back ]