Caffeine
แคฟเฟอีนเป็นสารกระตุ้นจิตประสาทที่เป็นที่นิยมมากที่สุดทั่วโลกมานาน ผิดกับนิโคติน (บุหรี่) และแอลกอฮอล์
(สุรา) ที่เกือบจะไม่มีแรงต่อต้านทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มนุษย์รู้จักมาแต่ดึกดำบรรพ์แต่เพียงเมื่อ
ปี ค.ศ. 1819 ที่แพทย์หนุ่มชาวเยอรมัน ฟรีดลีบ แฟร์ดินันด์ รุงเง (Friedlieb Ferdinand Runge) แยกสารเคมี
แคฟเฟอีนจากกาแฟ และอีกไม่กี่ปีต่อมาก็มีนักเคมีพบสารนั้นในชา ปัจจุบันคนรุ่นใหม่อาจจะไม่นิยมดื่มกาแฟเหมือน
รุ่นพ่อแต่ก็ดื่มน้ำอัดลมที่มีแคฟเฟอีนเป็นส่วนผสมที่สำคัญ เช่น โคคา-โคลา (โค้ก) หรือเป๊ปซี่ โค้กหรือเป๊ปซี่
1 กระป๋อง (ประมาณ 300 มิลลิลิตร) มีแคฟเฟอีนประมาณ 40-45 มิลลิกรัม ในขณะที่กาแฟที่นิยมดื่มกันปัจจุบัน
มีแคฟเฟอีนประมาณ 2 เท่า (100 มิลลิกรัม)
เมื่อ 20 ปีกว่ามาแล้ว ผู้เขียนบังเอิญได้ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสารนี้ที่เป็นส่วนประกอบของยาแก้ปวดซึ่งขณะนั้น
เป็นแอสไพริน ยาซองชนิดต่าง ๆ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ชาวนาชาวบ้านที่ใช้ยานี้มีเลือดออกจากกระเพาะและ
แผลเปปติคทะลุกันมาก การถอนสูตรยาเหล่านี้ได้ช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง ผู้ที่ดื่มกาแฟมากเป็นประจำทุกวันจะทราบ
ดีว่า ถ้าผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดที่มีแคฟเฟอีนผสมอยู่ติดสารนี้ขาดกาแฟจะไม่สบาย ปวดศีรษะ (coffee-withdrawal
headache) เออร์กอตามีน (ergotamine) เป็นยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนที่จะมีแคฟเฟอีนผสมอยู่ด้วยใน
ปริมาณที่มาก นัยว่าเพื่อช่วยการดูดซึมยาแก้ปวดทำให้ยาออกฤทธิ์เร็วขึ้น แต่จริง ๆ แล้วอาจมีเจตนาแอบแฝงเป็น
อย่างอื่นก็ได้ !
ในช่วงตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษนี้มีผู้สนใจนำแคฟเฟอีนมาศึกษาทดลองใช้รักษาโรคพาร์กินสันมากขึ้นหลังจาก
ที่มีผู้พบว่า แคฟเฟอีนเสริมฤทธิ์ยา levodopa เมื่อเกือบ 40 ปีมาแล้ว การศึกษาล่าสุดในผู้ป่วย 61 รายพบว่า
แคฟเฟอีนช่วยให้หน้าที่ประสาทสั่งการดีขึ้น ช่วยการเดินและการเคลื่อนไหวของแขนขาเพราะแคฟเฟอีนมีฤทธิ์
เป็นทั้ง adenosine A2A receptor antagonist และ D2 agonist จึงควรแนะนำให้ผู้ป่วยพาร์กินสันดื่มกาแฟหรือ
โค้กวันละแก้ว !
แนะนำเอกสาร
1) Weinberg BA, Bealer BK. (2001). The World of Caffeine. The science and culture of
the world’s most popular drug. New York: Routledge. 394 pp.
2) Greden JF, Victor BS, Fontaine P, Lubetsky M. (1980). Caffeine-withdrawal headache. A clinical
profile. Psychosomatics. 21 : 411-418.
3) Hering-Hanit R, Gadoth N. (2003). Caffeine-induced headache in children and adolescents.
Cephalalgia. 23 : 332-335.
4) Postuma RB, Lang AE, Munhoz RP, et al. (2012). Caffeine for treatment of Parkinson disease:
a randomized controlled trial. Neurology. 79 : 651-658.
5) Schwarzschild MA. (2012). Caffeine in Parkinson disease. Better for cruise control than snooze
patrol? Neurology.79 : 616-618.
6) Schwarzschild MA, Agnati L, Fuxe K, Chen JF, Morelli M. (2006). Targeting adenosine A2A receptors
in Parkinson’s disease. Trends Neurosci. 29 : 647-654.