Bell’s palsy
Sir Charles Bell
(1774-1842)
อัมพาตเบลล์ คือ โรคกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีกเสียเพราะเส้นประสาทที่ศีรษะเส้นที่ 7 สั่งการไม่ได้ทันทีโดย
ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ปัจจุบันเชื่อว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้เป็นจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยบางรายก่อนใบหน้าเบี้ยว
มีอาการปวดกกหูอยู่ 2-3 วัน และบางรายใบหน้าค่อย ๆ เบี้ยวมากขึ้นใน 3-4 วันก็มี รายที่เป็นมากลิ้นส่วนหน้า
ข้างเดียวกันอาจจะไม่รู้รสเพราะเส้นประสาท chorda tympani เสียด้วย และบางรายมีเสียงหึ่งจากภาวะหูไวเกิน (hyperacusis) ในหูซีกนั้นเพราะกล้ามเนื้อสเตพีเดียส (stapedius muscle) เป็นอัมพาต
อัมพาตเบลล์มักจะทำให้ผู้ป่วยไปหาแพทย์ด่วนเพราะตกใจ ยิ่งผู้ที่มีอาชีพเป็นพิธีกรหรือเป็นดารานักแสดงจะ
เดือดร้อนกังวลใจมากเพราะใบหน้าเบี้ยว หลับตาไม่ได้หรือไม่สนิท และกะพริบตาไม่ได้ ถึงแม้ผู้ป่วยร้อยละ 80
อาการจะดีขึ้นมากแต่ที่หายอย่างสมบูรณ์มีไม่เกินร้อยละ 65 ที่เหลือมีกล้ามเนื้อบางส่วนเสียไปถึงเป็นแพทย์ก็อาจจะ
ตรวจไม่พบ ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 7 เป็นซ้ำอีกได้ ผู้ป่วยที่เป็นทั้งสองซีกหน้าจากอัมพาตเบลล์พบได้แต่น้อย
ถ้าพบแพทย์ต้องนึกถึงโรคอื่น เช่น กลุ่มอาการกีย์แยง-บาร์เร (Guillain-Barre syndrome) การใช้ยาสเตีรอยด์
ช่วยได้บ้างถ้าให้ยาภายใน 3-4 วัน ส่วนยาต้านไวรัสยังไม่มีผลพิสูจน์แน่ชัดถึงแม้จะพบดีเอนเอ (DNA) ของ HSV-1
(herpes simplex virus type 1) ในน้ำหล่อหุ้มเส้นประสาทหน้าของผู้ป่วย (endoneurial fluid) ด้วยอัมพาตเบลล์
เพราะ HSV-1 ที่พบอาจจะเป็นผลเนื่องจากเชื้อที่มีอยู่แล้วที่ปมประสาทสำแดงฤทธิ์อีกมากกว่าเป็นจากการติดเชื้อ
ครั้งแรก
การพยากรณ์ว่าผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเบลล์ด้วยการศึกษาประสาทสรีรวิทยาเริ่มมาประมาณ 60 ปีแล้ว
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเสริฐ บุญเกิด และผมได้ศึกษาผู้ป่วยอัมพาตเบลล์ 45 รายและได้รายงานไว้ในวารสาร
Muscle & Nerve ปีแรกเมื่อ ค.ศ. 1978 ปัญหาที่พบก็คือ ต้องรอ 6-7 วันหลังมีอาการอัมพาต แม้แต่การตรวจ
ด้วยการบันทึกคลื่นไฟฟ้าประสาท (electroneuronography หรือ ENoG) ที่นำมาใช้ในปี ค.ศ. 1979 โดยเฉพาะ
โดยนักโสตวิทยา (audiologist) ก็ต้องรอ 3 วัน กว่าใยประสาทนำออกเสื่อม (axonal degeneration) จะมีผล
เรื่องอัมพาตเบลล์จึงยังมีเรื่องให้ศึกษาวิจัยต่อไปอีกมาก ต่อไปนี้ผมจะขอเล่าเรื่องชีวประวัติของเบลล์ให้ทราบ
พอสังเขป
เซอร์ ชาร์ลส์ เบลล์ เกิดที่ใกล้เมืองเอดินเบอระ เป็นลูกชายคนเล็กของนักบวช มีพี่ชายเป็นศัลยแพทย์
ทั้งคู่จบแพทยศาสตรบัณฑิต ชาร์ลส์จบเมื่ออายุ 25 ปีแล้วทำงานหาประสบการณ์ที่นั่นจนอีก 5 ปีต่อมาจึงเดินทาง
เข้าลอนดอนโดยรถโดยสารแต่รถหยุดแค่เมืองฮันติงดอน (Huntingdon) ชาร์ลส์ เบลล์ จึงต้องเดินทางเท้าต่อ
จนถึงปลายทาง เบลล์ชอบวาดรูปมากมาก่อนจึงมีชื่อเสียงในฐานะจิตรกร จนเซอร์ เอสลีย์ คูเปอร์ (Sir Astley Cooper) ศัลยแพทย์ชื่อดังรู้จักซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเบลล์มาก นอกจากนี้เบลล์ยังสนใจกายวิภาคของสมองมาก
เป็นคนที่แยกเส้นประสาทสั่งการจากเส้นประสาทรับรู้ ได้รับแต่งตั้งเป็นศัลยแพทย์ที่ปรึกษาที่โรงพยาบาล
โรงเรียนแพทย์มิดเดิลเสกซ์อยู่ 10 ปีเศษก็ไปเป็นศาสตราจารย์ทางศัลยศาสตร์และกายวิภาคศาสตร์ที่ราชวิทยาลัย
ศัลยแพทย์แห่งลอนดอน จนได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานราชทินนามเป็นท่านเซอร์ (Knight of the British Empire
หรือ KBE) โดยพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 เมื่อปี ค.ศ. 1833 ขณะใกล้อายุครบ 60 ปี เป็นอยู่ 2 ปีก็ย้ายไปเป็นศาสตราจารย์
ที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ เบลล์ถึงแก่กรรมด้วยหัวใจวายกระทันหัน สิริรวมอายุได้ 68 ปี ชื่อเสียงของเขา
เป็นที่รู้จักกันทั่วไปติดกับโรคอัมพาตหน้าครึ่งซีกที่ไม่ทราบสาเหตุจนปัจจุบัน
แนะนำเอกสาร
1) Matthews WB. (1982). Diseases of the nervous system. Fourth Edition. Oxford: Blackwell
Scientific Publications. pp. 72-74.
2) Matthews WB. (1961). Prognosis in Bell’s palsy. BMJ. ii : 215-218.
3) Matthews WB. (1980). Bell’s palsy. Medicine 3rd series (Oct.). 1759.
4) Gilden DH. (2004). Bell’s Palsy. N Eng J Med. 351 : 1323-1331.
5) Keane JR. (1994) Bilateral seventh nerve palsy: Analysis of 43 cases and review of the literature.
Neurology. 44 : 1198-1202.
6) Pinho J, Racha S, Machado A, Lourenco E. (2012). A rare cause of recurrent peripheral facial palsy.
Arq Neuropsiquiatr. 70 : 67-68.
7) Boongird P, Vejjajiva A. (1978). Electrophysiologic findings and prognosis in Bell’s Palsy.
Muscle & Nerve. 1 : 461-466.
8) Pearce JMS. (1993). Sir Charles Bell (1774-1842). J R Soc Med. 86 : 353-354.
9) Pearce JMS. (1999). Bell’s or Friedreich’s palsy. J Neurol Neurosurg Psychiatry. 67 : 732.