P (ชุดที่ 1) - Paralysis agitans
James Parkinson (1755-1824)
อัมพาตสั่น (The Shaking Palsy) เป็นหนังสือเฉพาะเรื่อง (monograph) ที่เจมส์ พาร์กินสัน เขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1817 ขณะอายุได้ 62 ปี จากการศึกษาผู้ป่วย 6 รายที่มีอาการสั่นและแขนขาดูเหมือนจะอ่อนแรงผิดแปลกจากโรคอัมพาตที่เคยพบมาก่อนซึ่งให้ชื่อว่า พาราลีสิส อจิแทนส์ (Paralysis agitans) ต่อมา
ฌอง-มาแตง ชาร์โก (Jean-Martin Charcot) ปรมาจารย์ทางประสาทวิทยาชาวฝรั่งเศส เป็นผู้เสนอเรียกชื่อโรคนี้ว่า โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) พร้อมทั้งกล่าวเพิ่มถึงอาการเกร็งที่มักพบในผู้ป่วยด้วยโรคนี้เมื่อ ค.ศ. 1877 53 ปีหลังพาร์กินสันถึงแก่กรรม ปัจจุบันโรคนี้ดูเหมือนจะเป็นโรคที่มีชื่อแพทย์ผู้ค้นพบที่คนรู้จักกันมากที่สุดในโลก แต่น่าแปลกไหมที่แพทย์ผู้พบโรคนี้จริงๆ แล้วก็เป็นแพทย์ทั่วไปที่มีความสนใจหลายอย่างแต่มีอะไรที่น่าทึ่งเกี่ยวกับตัวเขาที่สมควรทราบ!
เจมส์ พาร์กินสัน เป็นคนอังกฤษเกิดในครอบครัวแพทย์ ทั้งปู่ พ่อ ตนเองและลูกชายทำเวชปฏิบัติ
อยู่ที่ฮอกซ์ตัน สแควร์ (Hoxton Square) ตำบลชอร์ดิทช์ (Shoreditch) ทางตะวันออกของกรุงลอนดอน
เจมส์เกิดที่นั่น เข้าศึกษาแพทย์ที่ The London Hospital Medical College เมื่ออายุ 20 เรียนอยู่ 6 เดือนและฝึกงานอยู่กับพ่อถึง 6 ปี ได้ประกาศนียบัตรทางศัลยกรรมและอายุรกรรม สมรสกับเมรี เดล (Mary Dale)
เมื่ออายุ 28 ปี มีบุตรที่มีชีวิตอยู่ 4 คน เป็นแพทย์ 1 คนชื่อ จอห์น วิลเลียม คีส์ (John William Keys)
ช่วยบิดาทำเวชปฏิบัติอยู่ระยะหนึ่งก่อนแยกไปทำเองที่ตำบลอีสลิงตัน (Islington) ในลอนดอน
ไม่มีรูปภาพของเจมส์ พาร์กินสัน ที่หาได้แต่จากคำบอกเล่ากัน เจมส์เป็นคนร่างเล็ก ฉลาด
แข็งขัน ใบหน้ายิ้มแย้มและอารมณ์ดี นอกจากวิชาการแพทย์แล้วเจมส์ยังสนใจการเมือง ทำกิจการ
ทางสังคมด้วยอุดมการณ์เป็นนักธรณีวิทยา อีกทั้งยังชอบศึกษาเกี่ยวกับหินซึ่งมีซากสัตว์หรือพืชโบราณ
เพื่อดูที่มาของสิ่งมีชีวิตในโลก (paleontology) ส่วนเรื่องทางการแพทย์ที่เขาเขียนหรือเสนอต่อที่ประชุม
ได้แก่เรื่อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า โรคกลัวน้ำและโรคเกาท์ เป็นต้น พาร์กินสันได้รับการฝึกทางศัลยกรรม
ขณะเป็นนักศึกษาแพทย์และฝึกงานทางด้านนี้กับบิดาอยู่ถึง 6 ปี อีกทั้งยังเคยเข้ารับการอบรม
ฟังการบรรยายทางศัลยกรรมจากจอห์น ฮันเตอร์ (John Hunter ค.ศ. 1728-1793) ผู้ที่ได้รับ
การยกย่องให้เป็นบิดาทางศัลยกรรมของชาวอังกฤษ ซึ่งต่อมาบุตรชาย จอห์น วิลเลียม คีส์ ได้รวบรวม
พิมพ์เป็นเล่ม เมื่ออายุได้ 56 ปี เจมส์ พาร์กินสัน เสนอรายงานเด็กชายอายุ 5 ปี เป็นไส้ติ่งอักเสบ
แทน จอห์น วิลเลียม คีส์ บุตรชาย ต่อสมาคมเวชกรรมและศัลยกรรม ซึ่งเป็นรายงานครั้งแรกของโรคนี้อีกด้วย
ผลงานต่างๆ ที่กล่าวมาอย่างย่อๆ ประจักษ์ชัดถึงความเป็นอัจฉริยะของพาร์กินสันและความเหมาะสม
ดังที่ชาร์โกเสนอเรียกโรคประสาท "อัมพาตสั่น" หรือ พาราลีสิส อจิแทนส์ ซึ่งเขาค้นพบเป็นโรคพาร์กินสัน หรือ
มาลาดี เดอ พาร์กินสัน (maladie de Parkinson) เพื่อชื่อโรคและผู้ค้นพบจะได้อยู่คู่กันเป็นอมตะสืบไป
เอกสารอ้างอิง
1. Rose FC. Parkinson's Disease. In Neurological Eponyms. Eds. Koehler PJ,
Bruyn GW, Pearce JMS. Oxford University Press. Oxford 2000; pp.335-42.
2. Ramachandran M, Aronson JK. John and James Parkinson's first description
of acute appendicitis and its associated complications of perforation and death.
J R Soc Med 2011; 104: 283-85.
[ back ]