O (ชุดที่ 1) - Opsoclonus

         (ออพโสโคลนัส)
         กล้ามเนื้อกลอกตากระตุกรัว

เมื่อเกือบ 100 ปีมาแล้ว ออเซชอพสกี (Orzechowski) ประสาทแพทย์ชาวโปแลนด์ 
นำคำออพโสโคลนัสหรือออคโซพลาส (oczoplas) มาใช้เรียกอาการผิดปกติที่ตาทั้งสองข้าง
กลอกไปมาเร็ว ไม่เป็นจังหวะ ไปในทิศทางต่างๆ  สังเกตเห็นได้ชัดเมื่อเวลาตานั้นพยายามจ้อง
ผู้ป่วยไม่รู้ว่าตาของตนกระตุกอาการที่กล่าวก็ยังมีอยู่เมื่อผู้ป่วยนอนหลับ  พบเป็นครั้งแรกในผู้ป่วย
สมองอักเสบที่เชื่อว่าเกิดจากเชื้อไวรัส  เมื่อ ค.ศ. 1977 ผู้เขียนและนายแพย์ประวิทย์ เลิศวีระศิริกุล
ได้รายงานผู้ป่วยด้วยไข้รากสาดน้อย (พาราไทฟอยด์เอ) มีออพโสโคลนัสอยู่ 3 วันก่อนหายเป็นปกติ
และเมื่อ ค.ศ. 1990 ศาสตราจารย์นายแพทย์นิพนธ์ พวงวรินทร์ และรองศาสตราจารย์นายแพทย์
รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ ก็รายงานผู้ป่วยมาลาเรียมีอาการเช่นกันนานถึงกว่า 3 สัปดาห์
ออพโสโคลนัสอาจเกิดร่วมกับกล้ามเนื้อแขนขาหรือลำตัวกระตุกรัว (myoclonus) ด้วยก็ได้
ในผู้ป่วยเด็กอาการอาจพบร่วมกับเนื้องอก neuroblastoma  ออพโสโคลนัสนอกจากพบใน
สมองอักเสบจากโรคติดเชื้อหลายชนิดแล้วที่สำคัญยังเกิดขึ้นในกลุ่มอาการพารานีโอพลาสติค
(paraneoplastic syndrome) ที่เกิดจากมะเร็งนานาชนิดรวมทั้งพิษจากยาด้วย

ถ้าจะเข้าใจออพโสโคลนัสหรืออาการผิดปกติอื่นๆ เกี่ยวกับการกลอกตา ผู้อ่านจะต้อง
เข้าใจกายวิภาคและสรีรวิทยาในเรื่องนี้พอสมควร  โดยย่อๆ ตาทั้ง 2 ข้างกลอกไม่เร็วก็ช้า
มี 4 ชนิดคือ  1) สัคคาด (saccade) มาจากภาษาฝรั่งเศสแปลว่า กระตุก (twitch or jerk)
เพื่อนำภาพที่เราสนใจจะมองให้ตกที่รอยบุ๋มจอตาหรือโฟเวีย (fovea) เป็นการกลอกตาเร็ว
2) เพอร์สิวท (pursuit) หรือตากลอกช้าตามภาพที่จับได้และตกที่โฟเวียแล้ว  
3) vestibulo-ocular reflex เพื่อทดแทนศีรษะและลำตัวเคลื่อนไหวเพื่อให้ภาพที่โฟเวียคงที่
และ 4) vergence หรือเมื่อตาทั้ง 2 ข้างมองเข้า  ทั้งข้อ 3 และ 4 ตากลอกช้าเช่นกัน

มีผู้ใช้เปรียบการกลอกตาแบบต่างๆ เหมือนปืนต่อสู้อากาศยานบนเรือรบในทะเล
สัคคาดเป็นเหมือนปืนนั้นจับภาพเครื่องบินได้ในขณะที่เพอร์สิวทตามภาพนั้นให้อยู่ในวิถีปืน
ส่วน vestibulo-ocular reflex เป็นเหมือนกลไกที่ปืนบนเรือรบปรับตัวตามคลื่นในทะเล 
และ vergence เปรียบได้กับปืนหลายกระบอกปรับให้ถูกเป้าเดียวกัน

ออพโสโคลนัสเป็นเพราะสัคคาดผิดปกติ  โดยปกติเนื่องจากมีความหนืดในเบ้าตา
การที่ตาจะกลอกเร็ว (สัคคาด) กล้ามเนื้อกลอกตามีแรงเพิ่มจากเซลล์ประสาทกระตุ้นจาก
burst cells (เซลล์พุ่งออก) และมีเซลล์ยับยั้งหรือ pause cells (เซลล์หยุด) ถ้าเกิดมากไป
การบูรณาการของเซลล์ทั้งสองชนิดมีความสำคัญในการกลอกตาเร็ว  เซลล์ที่กล่าวอยู่ใน
ก้านสมองบริเวณพอนส์ (pons)  ถ้าเกิดมีรอยโรคที่ pause cells การกลอกตาจะกระตุกเร็ว
หรือมี opsoclonus นั่นเอง 


เอกสารอ้างอิง
1.  Caviness JN, Forsyth PA, Layton DD, McPhee TJ.  The movement disorder
     of adult opsoclonus.  Movement Disorders  1995; 10: 22-27.

2.  Vejjajiva A, Lerdverasirikul P.  Opsoclonus in salmonella infection.  
     Br Med J  1977; 2: 1260. 

3.  Poungvarin N, Praditsuwan R.  Opsoclonus in malaria: the first report in
     literature.  J Med Assoc Thai  1990; 73: 462-66.

4.  Verma A, Brozman B.  Opsoclonus-myoclonus syndrome following
     Epstein-Barr virus infection.  Neurology  2002; 58: 1131-32. 

5.  van Erp WS, Bakker NA, Aries MJH, Vroomen PCAJ.  Opsoclonus and
     multiple cranial neuropathy as a manifestation of neuroborreliosis.
     Neurology  2011; 77: 1013-14.

6.  Wong AM.  An update on opsoclonus.  Curr Opin Neurol  2007; 20: 25-31.

7.  Matthews T.  Central disorders of eye movements in Neuro-ophthalmology
     eds. Acheson J, Riordan-Eva P.  BMJ Books  1999; pp. 146-59.

8.  Plant G, Acheson J, Clarke C, Graham E, Howard R, Shorvon S.
     Neuro-Ophthalmology in Neurology, A Queen Square Textbook
     eds. Clarke C, Howard R, Rossor M, Shorvon S.  Wiley-Blackwell  2009;
     pp.518.  

 

[ back ]