M (ชุดที่ 1) - McArdle's disease
Brian McArdle
โรคแมคคาร์เดิลเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้ไม่บ่อยถ่ายทอดแบบทายกรรมลักษณะด้อย (autosomal recessive) เนื่องจากเอนไซม์กล้ามเนื้อ myophosphorylase บกพร่องจากการกลายระดับยีนทำให้กล้ามเนื้อใช้ glycogen ที่เก็บไว้เพื่อแตกออกเป็นกลูโคสไม่ได้เมื่อกล้ามเนื้อถูกใช้งาน ความผิดปกติอยู่ที่โครโมโซม 11q13 การกลายระดับยีนเป็นวิวิธพันธ์ (heterogenous) พบบ่อยที่สุดคือ กรดอะมิโนไทมีนแทนที่ไซโตสีนที่โคดอน 49 (โคดอนคือ ลำดับตำแหน่งของกรดอะมิโนในโปรตีน) ความรู้ทางพันธุกรรมศาสตร์ที่ก้าวหน้าดังกล่าวทำให้แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยโรคแมคคาร์เดิลในผู้ป่วยถึงร้อยละ 90 ได้จากการตรวจเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยแทนที่การตัดชิ้นกล้ามเนื้อไปตรวจ
ผู้ป่วยมักมีอาการตั้งแต่เด็กหรือวัยรุ่นโดยกล้ามเนื้อขา แขน เป็นตะคริวโดยเฉพาะเมื่อใช้งาน
กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อย บางครั้งพบไมโอโกลบินในปัสสาวะ (myoglobinuria)
ลักษณะอาการที่เด่นชัดอย่างหนึ่งของโรคกล้ามเนื้อนี้คือ ปรากฏการณ์ดีขึ้นหายเหนื่อยหลังมีอาการ
ที่เรียก second-wind phenomenon เป็นผลจากกล้ามเนื้อได้พลังงานจากกลูโคสจากแหล่งอื่นมาทดแทน
เมื่อไม่นานมานี้ก็มีผู้พบว่าถ้าให้ผู้ป่วยโรคแมคคาร์เดิลดื่มน้ำที่มีสูโครส (sucrose) ก่อนออกกำลังกายผู้ป่วย
จะมีอาการดีขึ้นและโอกาสที่เกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อลดลง
โรคแมคคาร์เดิลอยู่ในกลุ่มโรคสะสมไกลโคเจน (glycogen storage disease) ซึ่งมีกว่า 10 โรคโดยโรคแมคคาร์เดิลถูกจัดไว้เป็นชนิดที่ 5 (Type V) ชนิดที่ 7 พบโดยแพทย์ชาวญี่ปุ่นชื่อ ทารูอิ (Tarui) มีอาการคล้ายโรคแมคคาร์เดิลมากแต่เอนไซม์ที่พร่องคือ phosphofructokinase
ความรู้เรื่องเอนไซม์กล้ามเนื้อโดยเฉพาะทางระดับยีนก้าวหน้ามาก เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานพบการพร่อง
เอนไซม์ phosphorylase kinase ในโรคสะสมไกลโคเจนชนิดที่ 9 (Type IX D) ซึ่งเกี่ยวกับโครโมโซมเอ็กซ์ลักษณะด้อยในผู้ป่วย 2 ราย อายุ 39 และ 69 ปี ที่แทบจะไม่มีอาการอะไรมาก่อนเลยชวนให้คณะผู้รายงาน
นำโดย นายแพทย์ Vissing จากโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค ตั้งชื่อเรื่อง "Myophosphorylase kinase
deficiency : A natural metabolic variant or a disease?" ยิ่งกว่านั้นเมื่อเร็วๆ นี้นักวิจัยทางสรีรวิทยากล้ามเนื้อ ชาวสวิสฯ ยังศึกษาการใช้ไขมันเป็นพลังงานแทนกลูโคสและพบว่ามีอณูสำคัญที่ทำเช่นนั้นได้โดยทำให้มีไมโตคอนเดรียเพิ่มมากขึ้น มวลกล้ามเนื้อก็เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีนักวิจัยบางคนยังเชื่อว่าการค้นพบอณูสำคัญนี้อาจนำไปสู่การค้นพบการรักษาโรคกล้ามเนื้ออื่นๆ รวมทั้งกล้ามเนื้อในคนชราที่เรี่ยวแรงลดลงอีกด้วย
โรคแมคคาร์เดิลถึงจะเป็นโรคที่พบได้น้อยแต่เป็นโรคที่ควรทราบโดยเฉพาะอายุรแพทย์และอนุชนรุ่นหลังบังเอิญผู้เขียนเป็นนักศึกษาแพทย์ที่รู้จักเรื่องนี้ดีตั้งแต่เมื่อ 60 ปีมาแล้ว
เหตุเกิดที่โรงเรียนแพทย์กายส์ในลอนดอน นายแพทย์อาเทอร์ ซี. แฮมป์สัน (Arthur C. Hampson,
MD, FRCP, ค.ศ. 1894-1972) อายุรแพทย์ ครูของผู้เขียน มีผู้ป่วยชาวอังกฤษอายุประมาณ 30 ปีส่งต่อมา
ขอคำปรึกษาจากแพทย์ทั่วไปด้วยอาการตะคริวที่แขนขาที่เป็นมาตั้งแต่เด็กโดยเฉพาะเมื่อเริ่มใช้งานหรือออกกำลัง
เคยหาแพทย์มาหลายคน ไม่มีใครทราบว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร แพทย์บางคนก็ไม่เชื่อว่ามีโรคอะไรทางกาย
นายแพทย์แฮมป์สันซักอาการและตรวจผู้ป่วยอย่างละเอียดถี่ถ้วน คิดว่าผู้ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อที่ยังไม่มีใครรู้จัก
จึงมอบหมายให้นายแพทย์ไบรอัน แมคคาร์เดิล ศิษย์ที่เป็น research fellow ไปศึกษาค้นคว้าต่อ จนแมคคาร์เดิลค้นพบว่ากล้ามเนื้อผู้ป่วยผิดปกติเพราะใช้ไกลโคเจนไม่ได้ โดยอีกหลายปีต่อมา Mommaerts และคณะพบว่า กล้ามเนื้อผู้ป่วยด้วยโรคนั้นขาดเอนไซม์ myophosphorylase
นายแพทย์ไบรอัน แมคคาร์เดิล เกิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1911 ที่เมืองบัลแลม (Balham)
ชานนครลอนดอน มีพี่ชายที่แก่กว่า 2 ปีเป็นประสาทแพทย์ที่กายส์และที่โรงพยาบาลสถาบันประสาทวิทยา
ที่ควีนส์สแควร์ ซึ่งเป็นครูและเป็นนายของผู้เขียนทั้งที่กายส์ ที่โรงพยาบาลคิงสตันและที่ควีนส์สแควร์ ชื่อ
ไมเคิล ฌอน แมคคาร์เดิล (ที่มักจะถูกเพื่อนๆ และศิษย์เรียก แมคคาร์เดิลแดงเพราะผมสีแดง ในขณะที่ไบรอัน
ถูกเรียก แมคคาร์เดิลดำตามสีของผม ซึ่งไม่เหมือนพี่) แมคคาร์เดิลผู้พี่เป็นที่รู้จักกันดีมากเพราะเป็นประสาทแพทย์
ทางเวชกรรมที่มีประสบการณ์มากและเป็นครูที่วิเศษ ที่พบเรื่องมือและปลายแขนเป็นเหน็บโดยเฉพาะตอนกลางคืน (nocturnal acroparaesthesiae) จาก carpal tunnel syndrome แต่เป็นแพทย์ที่ไม่ชอบเขียนบทความอะไรเป็นศิษย์ก้นกุฏิของ Sir Charles P. Symonds ที่ต่อมานายแพทย์ฌอน แมคคาร์เดิล ได้สืบทอดงานต่อสองพี่น้องแมคคาร์เดิลศึกษาชั้นมัธยมที่ Wimbledon College ทั้งคู่ศึกษาแพทย์ที่กายส์ ไบรอันเลือกทำงานวิจัยเคยอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำวิจัยเรื่อง สภาวะอากาศและเรื่องเมาคลื่นจนพบว่า ยา scopolamine หรือ hyoscine เป็นยาที่ใช้ได้ผล หลังจากสงครามไบรอันกลับไปเป็นนักวิจัยต่อที่กายส์จนศึกษาเรื่องโรคกล้ามเนื้อที่ทำให้มีชื่อเป็นอมตะ ไบรอันเกษียณตัวเองเมื่อปี ค.ศ. 1973 ถึงแม้จะเริ่มเป็นโรคพาร์กินสันแต่ก็ยังชอบใช้เวลาอยู่กับการวาดรูปจนชรามากและถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2002 สิริรวมอายุ 91 ปี ใครที่สนใจอยากรู้จักแมคคาร์เดิลสองพี่น้องเพิ่มเติม อาจหาอ่านได้จากบทมรณกรรม
ที่ผู้เขียนอ้างถึงไว้
เอกสารอ้างอิง
1. McArdle B. Myopathy due to a defect in muscle glycogen breakdown. Clin Sci
1951; 10: 13-33.
2. Tsujino S, Shanske S, DiMauro S. Molecular genetic heterogeneity of
myophosphorylase deficiency (McArdle's disease). N Engl J Med 1993; 329: 241-45.
3. Vissing J, Haller RG. The effect of oral sucrose on exercise tolerance in patients
with McArdle's disease. N Engl J Med 2003; 349: 2503-9.
4. Tarui S, et al. Typical form of glycogenosis type 7 (Tarui disease) due to
Phosphofructokinase deficiency, lack of M subunit. Biochem Biophys Res
Commun 1965; 19: 571.
5. Preisler N, Orngreen MC, Echaniz-Laguna A, Laforer P, Lonsdorfer-Wolf E,
Doutreleau S, et al. Myophosphorylase kinase deficiency. A neutral metabolic
variant or a disease? Neurology 2012; 78: 265-8.
6. Yamamoto H, Williams EG, Auwerx J, et al. NCoR1 is a conserved physiological
modulator of muscle mass and oxidative function. Cell 2011; 147: 827-39.
7. Mommaerts WFHM, Illingworth B, Pearson CM, Guillory RJ, Seraydarian K.
A functional disorder of muscle associated with the absence of phosphorylase. Proc
Natl Acad Sci USA 1959; 45: 791-7.
8. Dr. Brian McArdle. Obituary. The Times UK, August 8th 2002.
9. Earl CJ. Obituary Dr. Sean McArdle. Guy's Gazette, September 1989; pp.356-359.
[ back ]