งูสวัด (herpes zoster) และอีสุกอีใส (varicella) เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสตัวเดียวกัน (varicella-zoster virus, VZV) อีสุกอีใสส่วนใหญ่เกิดในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี ผู้สูงอายุ คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและหญิงมีครรภ์มีความเสี่ยงต่อการติด VZV มากขึ้น แต่แปลกที่คนที่ตายหรือพิการจากโรคนี้มักเป็นคนที่สุขภาพแข็งแรงแต่บังเอิญติดโรค การฉีดวัคซีนป้องกัน VZV
จึงจำเป็น เห็นได้ชัดจากในสหรัฐอเมริกาซึ่งเริ่มฉีดวัคซีนให้คนทั่วไปตั้งแต่ค.ศ. 1995 และพบว่าการเกิดความพิการและอัตราการตายจากการติดเชื้อ VZV ลดลง จึงแนะนำให้เด็กอายุ 12-15 เดือนฉีดวัคซีนรวมทั้งผู้ที่อายุ 13 ปีขึ้นไปที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อ VZV
ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทจากการติดเชื้อ VZV อาจจำแนกได้เป็นผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเป็นครั้งแรกและผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่แล้วเกิดอาการขึ้น งูสวัดส่วนใหญ่เกิดในผู้สูงอายุที่ภูมิคุ้มกันจากเซลล์ (cellular immunity) ลดลงและอย่างที่ทราบมักจะเป็นที่ผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณหน้าอกและใบหน้า อาการปวดประสาทเป็นอาการนำบางครั้งเป็นอยู่โดยไม่มีรอยโรคที่
ผิวหนังซึ่งอาจทำให้แพทย์วินิจฉัยไม่ได้เพราะไม่ทันนึกถึง จนมีคำกล่าวเล่นๆ ของวิลเลียม ออสเลอร์ (William Osler) ปรมาจารย์ทางอายุรศาสตร์ที่ว่า ถ้าผู้ใดวินิจฉัยงูสวัดได้ตั้งแต่ยังไม่เห็นผื่น ผู้นั้นไม่มีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกแล้ว! ผู้ป่วยบางรายก็ไม่มีผื่นขึ้นที่เรียก zoster sine herpete แต่แอนติบอดีต่อ VZV ในเลือดสูงขึ้น ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและมีเกล็ดเลือดน้อยหรือภาวะเลือดจับเป็นลิ่มเสีย (coagulopathy) บางครั้งมีงูสวัดตกเลือด (haemorrhagic herpes zoster) ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์หรือยาชาที่ไขสันหลัง (spinal anaesthesia) เสี่ยงต่อการเป็นงูสวัดเพิ่มขึ้น
ผู้ป่วยงูสวัดน้อยรายมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) ส่วนไขสันหลังอักเสบ (myelitis) และหลอดเลือดอักเสบ (angiitis) พบน้อยมาก เด็กที่เป็นอีสุกอีใสบางครั้งก็มีอาการทางระบบประสาทได้ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการเฉียบพลันเหตุ
สมองน้อย (acute cerebellar ataxia) โรคเส้นประสาทหลายเส้นอักเสบเฉียบพลันเหตุเสียมัยอีลิน (acute inflammatory demyelinating polyneuropathy, AIDP) หรือกลุ่มอาการกิย์ยัง-บาร์เร (Guillain-Barrè syndrome) แต่ก็เกิดขึ้นน้อยมากเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
1. Steiner I, Kennedy PGE, Pachner AR. The neurotropic herpes viruses: herpes simplex and
varicella-zoster. Lancet Neurol 2007; 6: 1015-28.
2. Vitale J, Carbone F. Haemorrhagic herpes zoster. Lancet 2011; 378: 1324.
3. Dalton CM. J?ger HR, Losseff NA, et al. Varicella zoster virus and intracranial dolichoectasia in a late
adult cancer survivor. J Neurol Neurosurg Psychiatry 2008; 79: 573.
4. Gilden DH, Kleinschmidt-DeMasters BK, LaGuardia JJ, et al. Neurologic complications of the
reactivation of varicella-zoster virus. N Engl J Med 2000; 342: 635-45.
5. Saraya T, Shimura C, Wada H, et al. Evidence for vascular spread of varicella zoster associated
vasculopathy. Ann Intern Med 2006; 144: 535-37.