J (ชุดที่ 1) - Jacksonian Epilepsy

        John Hughlings Jackson (1835-1911)

              ลมชักเฉพาะที่เริ่มด้วยกระตุกที่แขนโดยเฉพาะที่นิ้วหัวแม่มือ  หน้า หรือขาข้างเดียวแล้ว
แพร่กระจายไปทั้งซีกเป็นที่รู้จักกันในนามลมชักแบบแจคสัน   การปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าโดยเริ่ม
จากจุดที่เนื้อสมองบริเวณประสาทสั่งการแล้วลามไปส่วนอื่นข้างเดียวกันเป็นการยืนยันการเรียงตัว
ของเซลล์ประสาทสั่งการในสมองซีกตรงกันข้ามกับแขน ขา ที่เซลล์นั้นรับผิดชอบซึ่งนายแพทย์
จอห์น ฮิวลิงส์ แจคสัน ประสาทแพทย์ชาวอังกฤษเป็นผู้ศึกษาประสาทสรีรวิทยาและรายงานเกี่ยวกับ
เรื่องนี้ไว้เมื่อ ค.ศ. 1868 ขณะที่อายุเพียง 33 ปี  ถึงแม้นายแพทย์บราเวส์ชาวฝรั่งเศสเคยบันทึกไว้
ในวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยปารีส  ก่อนหน้านั้นเมื่อปี ค.ศ. 1827 และต่อมานายแพทย์ริชาร์ด ไบรท์ 
ที่โรงพยาบาลกายส์ในลอนดอน เคยรายงานเรื่องลมชักเฉพาะที่เช่นกันแต่ไม่ได้ศึกษาและกล่าวถึง
การเรียงตัวของเซลล์ประสาทสั่งการในสมองอย่างเป็นระบบดังเช่นแจคสันศึกษา

จอห์น ฮิวลิงส์ แจคสัน เกิดที่เมืองกรีนแฮมเมอร์ตัน จังหวัดยอร์คเชียร์  ศึกษาแพทย์
ที่เมืองยอร์คและที่โรงพยาบาลเซนต์บาร์โทโลมิวส์ในลอนดอน  หลังสำเร็จเป็นแพทย์ได้หา
ประสบการณ์เพิ่มเติมที่ยอร์คและที่ลอนดอนจนปี ค.ศ. 1862 ได้รับแต่งตั้งเป็นประสาทแพทย์ที่ปรึกษา
ที่โรงพยาบาลแห่งชาติสำหรับผู้ป่วยอัมพาตและลมชัก (โรงพยาบาลสถาบันประสาทวิทยาแห่งชาติ
ที่ควีนส์ สแควร์ ในปัจจุบัน)  โดยได้รับการสนับสนุนจากนายแพทย์บราวน์-เซการ์ด (Brown-Sequard)

แจคสันเป็นประสาทแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่งในโลก เป็นนักคิด มีความสนใจและได้ศึกษา
เรื่องสำคัญๆ ทางระบบประสาทไว้มากนอกจากลมชัก ประสาทสั่งการเฉพาะที่  แจคสันได้ศึกษาและ
รายงานภาวะคล้ายฝันและอาการพิสดารต่างๆ จาก temporal lobe epilepsy ไว้  พร้อมทั้งเสนอเรื่อง
การจัดระดับการทำงานของระบบประสาทไว้เป็นขั้นสูง กลางและต่ำ โดยขั้นสูงควบคุมการทำงานของ
ระดับรองๆ ลงไป  กล่าวถึงอาการ "บวก" และ "ลบ" ซึ่งมีอิทธิพลต่อการนึกคิดของประสาทแพทย์ 
จิตแพทย์และนักจิตวิทยารุ่นหลังๆ เช่น เซอร์ฟรานซิส วอลซ์ และซิกมุน ฟรอยด์ แม้กระทั่งโอลิเวอร์ แซคส์ 
ประสาทแพทย์นักเขียนชื่อดังแห่งยุคปัจจุบันยังเคยกล่าวว่า เขาได้รับแรงดลใจจากผลงานของแจคสันไม่น้อย

มีเกร็ดประวัติศาสตร์น่าสนใจเกี่ยวกับแจคสันที่เห็นสมควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้คือ แจคสันได้
แสดงความจำนงไว้เป็นหลักฐานล่วงหน้าว่า เอกสารส่วนตัวของเขาควรถูกทำลายเมื่อเขาถึงแก่กรรม เวชปฏิบัติ 
วิธีคิดในรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ ส่วนใหญ่จึงไม่เป็นที่เผยแพร่ยกเว้นผู้ป่วยที่ Michael Swash 
และ Jonathan Evans ได้พยายามปะติดปะต่อกับรายงานในวารสาร The Lancet เรื่องผู้ป่วยเป็นโรค external ophthalmoplegia ทำให้แพทย์รุ่นหลังๆ ได้ตระหนักได้ชัดแจ้งถึงความยิ่งใหญ่ของแจคสันในฐานะประสาทแพทย์ทางเวชกรรม  วิธีคิดที่มีเหตุมีผลอย่างลึกซึ้งในการศึกษากรณีผู้ป่วยที่เขารักษาและผลงานวิจัยที่ไม่มีเครื่องมือวิจิตรพิสดารอะไร แต่ยังผลล้ำยุคจนเป็นอมตะถึงปัจจุบัน  


เอกสารอ้างอิง
1.  Pryse-Phillips W.  Companion to Clinical Neurology.  Little, Brown and 
     Company.  Boston.  1994.  
2.  John Hughlings Jackson-Wikipedia, the free encyclopedia. 

3.  Swash M, Evans J.  Hughlings Jackson's clinical research.  Evidence from 
     contemporary documents.  Neurology 2006; 67: 666-72.

 

[ back ]