H (ชุดที่ 1) - Thomas HODGKIN
Hodgkin’s Disease
คงจะไม่มีแพทย์คนไหนที่ไม่รู้จักโรคฮอดจ์กิน แต่แพทย์หลายคนคงไม่ทราบว่าโทมัส ฮอดจ์กินเป็นใคร มาจากไหน
บังเอิญผู้เขียนจบจากโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ที่ฮอดจ์กินเคยศึกษา ทำงาน และบันทึกเกี่ยวกับโรคต่อมน้ำเหลืองนี้ไว้เป็นคนแรกและแพทย์รุ่นต่อมาให้เกียรติใช้ชื่อฮอดจ์กินเรียกเป็นชื่อโรคนี้ ชื่อจึงจีรังยังยืนจนปัจจุบัน แม้แต่โรคลิมโฟมา (lymphoma) อื่นก็ยังใช้ชื่อ non-Hodgkin lymphoma กันแพร่หลาย
ฮอดจ์กินเป็นชาวอังกฤษ เกิดเมื่อค.ศ. 1798 ที่จังหวัดมิดเดิลเสกซ์ (Middlesex) ใกล้นครลอนดอน เทียบได้กับยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ บิดามารดาของฮอดจ์กินเป็นสมาชิกของกลุ่มคริสเตียนที่ใฝ่สันติ เชื่อในกรอบประเพณีที่ดี เรียก The Quakers
ฮอดจ์กินศึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลกายส์ (Guy’s) สำเร็จเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ (Edinburgh) เริ่มต้นสนใจพยาธิวิทยามาก ต่อมาจึงได้รับผิดชอบดูแลพิพิธภัณฑ์ของโรงพยาบาลซึ่งมีชื่อเสียงมากจนปัจจุบันเรียกพิพิธภัณฑ์กอร์ดอน (Gordon Museum) ยุคนั้นเป็นยุคทองยุคหนึ่งของกายส์ มีอายุรแพทย์ที่มีชื่ออีกอย่างน้อยสองคน คือ นายแพทย์โทมัส แอดดิสัน (Thomas Addison) และนายแพทย์ริชาร์ด ไบรท์ (Richard Bright) นักศึกษาแพทย์ปัจจุบันคงพอรู้จักโรคแอดดิสัน (Addison’s Disease) แต่อาจจะไม่รู้จักโรคไบรท์ (Bright’s Disease) หรือโรคกรวยไตอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง ชีวประวัติอย่างละเอียดของฮอดจ์กินหาอ่านได้จากเว็บไซด์ที่ผู้เขียนบันทึกไว้ในเอกสารอ้างอิงท้ายเรื่อง จึงจะไม่กล่าวซ้ำในที่นี้แต่ขอเน้นย่อๆ บางเรื่องดังนี้
1. ฮอดจ์กินเป็นแพทย์ที่เน้นการศึกษาพยาธิวิทยาอย่างละเอียดในผู้ป่วยที่ตนเองดูแลรักษาจนถึงแก่กรรม
2. เป็นแพทย์ที่ให้ความสนใจในแพทยศาสตร์ศึกษาและการสอนนักศึกษาแพทย์เป็นพิเศษ
3. ถึงแม้จะมีผลงานดีแต่ก็ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอายุรแพทย์ที่ปรึกษา ซึ่งทำให้เจ้าตัวผิดหวังและผลสุดท้ายก็เบนความสนใจไปในเรื่องปรัชญา ธรรมชาติวิทยา และท่องเที่ยวศึกษาหาความรู้ในเรื่องดังกล่าวจนป่วยและถึงแก่กรรมที่เมืองแจฟฟา (ปัจจุบันคือเมืองเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล)
4. ฮอดจ์กินเขียนเรื่องลิ้นเอออร์ดิครั่วก่อนวิลเลียมคอร์ริแกนรายงานเรื่องนี้
5. แน่นอนเรื่องที่โดดเด่นก็คือเรื่องโรคที่มีชื่อเขาเป็นอมตะ โดยฮอดจ์กินบันทึกเรื่องเกี่ยวกับผู้ป่วย 7 ราย มีต่อมน้ำเหลืองทั่วไปโต และผู้ป่วย 6 ใน 7 รายนั้นมีม้ามโต ที่ไม่เกิดจากวัณโรคซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในเวลานั้น ทุกรายฮอดจ์กินบันทึกประวัติผู้ป่วย ผลการตรวจร่างกาย และผลการตรวจทางพยาธิของศพด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ รายงานยังมีเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์กอร์ดอนที่โรงพยาบาลกายส์ แพทย์ที่เคยศึกษาที่กายส์เช่นผมยังจำได้ดีเพราะครูชอบสอนประวัติ ผมยังจำได้ดีว่าคนไข้ 1 ใน 7 รายนั้นเป็นกลาสีเรือ ชื่อวิลเลียม คิง แต่ผมพยายามหาหลักฐานมาอ้างอิงไม่พบ เป็นเพียงความจำที่ผมคงไว้มากว่า 50 ปี!
นักศึกษาแพทย์ชั้นคลีนิก (3 ปี) ที่ลอนดอนเมื่อ 50 ปีก่อนมีการเรียนแบบฟังการบรรยายน้อยมาก อย่างเก่งก็สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง แต่ต้องอ่านเองเป็นส่วนใหญ่ในเวลาที่ว่างจากงานในหอผู้ป่วย เราจะสนใจพยาธิวิทยามากเพราะมีการสอนในห้องชันสูตรศพตอนบ่ายโมง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
เรื่องโรคฮอดจ์กินนั้น การวินิจฉัยโรคจากการดูด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยเห็นเซลล์หลายรูปและเซลล์รีด-สเติร์นเบอร์ก (Reed-Sternberg) ยังพอจะจำได้ และจำได้ด้วยว่ารีด มาจากชื่อกุมารแพทย์สตรี คนแรกๆ จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์เก่าแก่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง และเป็นโรงเรียนแพทย์พันธมิตรกับกายส์ โดยทุกปีจะมีการแลกเปลี่ยนอาจารย์ทางคลินิกกัน
6. ฮอดจ์กินเป็นแพทย์ที่ “ดวง” ไม่ดี ทั้งหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัว เพราะหญิงที่เขารักและอยากจะแต่งงานด้วยก็ไม่สมหวังเพราะเป็นญาติกัน ซึ่งผิดประเพณีของพวก The Quakers แต่ผลงานอันเป็นอมตะของเขาก็เป็นแรงกระตุ้นให้แพทย์รุ่นหลังโดยเฉพาะอายุรแพทย์ ถือเป็นแบบอย่างได้จนปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
1. Thompson Hancock PE. Thomas Hodgkins. The FitzPatrick Lecture. J Roy Coll Physons Lond 1968; 2: 404-421.
2. http://www.whonamedit.com/doctor.cfm/1495.html
3. http://en.wikipedia.org/wiki/Reed-Sternberg_cell
4. http://en.wikipedia.org/wiki/Dorothy_Reed_Mendenhall
[ back ]